ภาพแรงงานต่างถิ่นกว่า 200 ล้านคนขนสัมภาระรุงรังกลับภูมิลำเนาเพื่อร่วมฉลอง หรือรวมญาติในเทศกาลสำคัญกับครอบครัวตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีน
ทว่าแรงงานหลายคนต่างบอกว่าปีใหม่จีนปีนี้ อาจต้องนั่งทบทวนหางานที่ใหม่ทำ ซึ่งแต่ละปีก็จะเป็นแบบนี้อยู่เสมอ บางคนใช้เงินที่หามาทั้งปีเพื่อแลกกับตั๋วรถไฟกลับบ้านที่อยู่แสนไกล ปีใหม่ล่วงแล้วก็ต้องเตรียมตัวออกหางานทำอีกครั้ง
สำหรับปีนี้ แรงงานต่างพากันกลับบ้านเกิดล่วงหน้าก่อนเทศกาล ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนไม่หวังว่าจะได้กลับอีกหลังช่วงปีใหม่
สื่อจีนรายงานว่า เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ ทำให้โรงงานปิดตัวและปลดพนักงานออกเป็นว่าเล่น คนงานจากต่างจังหวัดนับล้านคนจึงต้องเก็บกระเป๋าเร็วกว่ากำหนด
สถานการณ์เช่นนี้เริ่มทำให้ใครต่อใครต่างก็รู้สึกหดหู่ ไม่ต่างจากแรงงานไช่ ฉิน วัย 35 ปี มาจากหมู่บ้านจนๆ แห่งหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจวทางภาคตะวันตกของประเทศ เธอเล่าว่า 7 ปีก่อน ตามสามีมาทำงานโรงงานตามเขตชายฝั่ง ช่วงตราจีนของแต่ละปีถือได้ว่าเป็นช่วงที่คนในครอบครัวมีความสุขที่สุดห่วงเวลาหนึ่งเงินทองที่เก็บออมได้ก็นำไปสร้างบ้านหลังใหม่
ทว่ามาปีนี้ เมื่อพวกเขากลับบ้านใจหนึ่งก็รู้สึกสุข อีกใจหนึ่งก็นึกกังวล เพราะโรงงานของเล่นที่เธอและสามีทำงานอยู่ต้องปิดกิจการในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เมื่อไม่มีงานพวกเขาจึงต้องกลับบ้านเร็วกว่าปกติ พร้อมทั้งบอกว่าปีก่อนๆ กลับบ้านทีก็จะมีเสื้อผ้าตัวใหม่ หรือไม่ก็ของอื่นๆ ติดไม้ติดมือทุกครั้ง แต่มาปีนี้กลับว่างเปล่า
“ไม่รู้ว่าหลังปีใหม่จะเป็นยังไง แต่คิดก็ปวดหัวจะแย่” ไช่ ฉิน บอก
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนต่างวิตกกังวลกับเสถียรภาพทางสังคมของจีน เนื่องจากจำนวนประชากรในคนชนบทยังคงมากกว่าคนเขตเมือง และสถิติของทางการจีนระบุ นับตั้งแต่ปี 1990 คนชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว 6 เท่า โดยตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อปีของคนชนบทอยู่ที่ 1,596 หยวน มากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนชนบททั่วประเทศ 39 % ซึ่งมากกว่าสถิติในปี 1990 ที่ 20 %
“2-3 ปีมานี้ ไม่ว่าการอพยพไปหางานต่างถิ่นทำจะลำบากแค่ไหน พวกเขาก็ยังมีกินมีใช้ แต่ตอนนี้มันมีความเป็นไปได้ว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ” โดโรธี โซลินเกอร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไอร์วีน ผู้ศึกษาค้นคว้าการเคลื่อนไหวในประเทศของแรงงานจีน
และนี้จึงเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากที่ครองการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมั่นคงมานานถึง 30 ปี กระทั่งวันนี้ต้องเข็นหลากหลายมาตรการเพื่อรับมือกับแรงงานที่ตกงานจำนวนมาก
มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ของจีน ถือได้ว่าเป็นแหล่งส่งออกขนาดใหญ่ของประเทศ ก็ปรากฏเหตุการณ์โรงงานนับพันแห่งต้องปิดตัวลง
ด้านหวัง ชุนกวงนักวิชารแห่งบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งชาตจีนประเมินว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากเชื่อว่าชาวจีนมีนิสัยอดทนอดกลั้นสูง
ณ สถานีรถไฟกรุงปักกิ่ง เมื่อวันพุธ(21 ม.ค.) กลุ่มแรงงานอพยพที่เตรียมตัวกลับบ้านหลายคนบอกว่ายังมองโลกในแง่ดี ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าหลังปีใหม่จะงานทำยากกว่าเดิมก็ตาม
“ฉันมั่นใจว่าต้องหางานทำได้แน่” ไจ๋ หย่วนฮุ่ย แรงงานจากมณฑลเหอหนัน ที่เข้ามารับจ้างทำงานทั่วไปในเมืองหลวง 3 ปีแล้ว ซึ่งแต่ละเดือนมีรายได้ราว 1,000 หยวน
เรียบเรียงจากเอเชียน วอลสตรีท เจอร์นัล ฉบับวันที่ 23 มกราคม 2552