xs
xsm
sm
md
lg

องค์การอนามัยโลกเปิดช่องทางติดต่อโดยตรงกับไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ที่สนามบินเจียงไคเช็กของไต้หวัน ทำงานโดยมีหน้ากากปิดปาก เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2003 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคซาร์สระบาด โดยในไต้หวันมีผู้เสียชีวิต 37 ราย (ภาพ-รอยเตอร์)
รอยเตอร์ – องค์การอนามัยโลก เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ กับไต้หวัน เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ดีขึ้น

องค์การอนามัยโลก ได้ส่งจดหมายถึงไต้หวัน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา มีใจความว่า จะอนุญาตให้ไต้หวัน ติดต่อกับองค์การอนามัยโลกได้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด เช่น ซาร์ส และไข้หวัดนก ซึ่งการเปิดช่องทางการติดต่อโดยตรงระหว่างไต้หวัน กับองค์การอนามัยโลกนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกจะติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ เท่านั้น โดยถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน

ทั้งนี้ตามระเบียบขององค์การอนามัยโลก สมาชิกจะต้องมีฐานะเป็นรัฐเท่านั้น จึงทำให้ไต้หวันไม่มีสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากฝ่ายจีนอ้างสิทธิ์ว่า ไต้หวันมีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของจีน

ไต้หวันพยายามยื่นขอสิทธิ์เข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกครั้งแรกในปี 2005 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน แต่สมาชิกประเทศที่เป็นพันธมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่ 170 ประเทศคัดค้าน โดยมีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่ให้การรับรองไต้หวัน

ทั้งนี้ นักวิชาการ มองว่า นโยบายสานสัมพันธ์กับจีนของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ที่ขึ้นเป็นผู้นำไต้หวันเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยให้ไต้หวันสามารถเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับองค์การอนามัยโลกได้สำเร็จ

“การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน มีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้ข้อเสนอครั้งนี้ผ่านการรับรอง” เฮนรี่ เฉิิน โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน กล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันยังบอกว่า การมีช่องทางติดต่อโดยตรงกับองค์การอนามัยโลก จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เช่น โรคซาร์ส ที่ระบาดในปี 2003 จนคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ เคยระบุว่า ห้ามใช้ชื่อ “ไต้หวัน” หรือ “สาธารณรัฐจีน” ในองค์กรใดๆ ที่ทั้งสองดินแดนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ไต้หวันจะเรียกตัวเองอย่างไร เวลาที่ติดต่อกับองค์การอนามัยโลก แต่ก็คาดว่าอาจใช้คำว่า “จีนไทเป” เช่นเดียวกับที่ไต้หวันใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

เรมอนด์ อู๋ ที่ปรึกษาด้านการเมืองในไต้หวัน กล่าวว่า ขั้นต่อไป ไทเปจะต้องแต่งตั้งบุคคล ที่จะติดต่อและรับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกโดยตรง และต่อไปไต้หวัน อาจขอสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ในองค์การอนามัยโลกได้ ในการประชุมประจำปีขององค์การฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น