เอเอฟพี – สถาบันวิจัยตลาดและที่ปรึกษา DDMA ของเซี่ยงไฮ้คาด ยอดขายช่วงตรุษจีน ซึ่งเคยเป็นเวลาทองของการจับจ่ายซื้อของ จะชะลอตัวอย่างหนักในปีนี้ เหตุผู้บริโภคพยายามเก็บเงินเพราะหวั่นวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งบางบริษัทยังลดเงินโบนัสด้วย
ตรุษจีนนับเป็นเทศกาลหนึ่งที่มียอดการค้าการบริโภคคึกคักที่สุดของปี ดังเช่นข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2551 ที่ระบุว่า ยอดค้าปลีกจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนในปีนั้นสะพัดถึง 255,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 219,300 ล้านหยวน
แต่มาปีนี้ทั่วโลกประสบภาวะวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ทำให้แซม มัลลิแกน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตลาดและที่ปรึกษา DDMA ของเซี่ยงไฮ้คาดการณ์สถานการณ์ช่วงตรุษจีนปีฉลูนี้ว่า “เราเชื่อว่ายอดขายในช่วงตรุษจีนปีนี้จะชะลอตัวอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคพยายามที่จะเก็บหอมรอมริบเพราะกังวลเรื่องเศรษฐกิจ”
“เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ฉุดยอดขายช่วงปีใหม่จีนให้ชะลอตัวก็คือ ปีนี้หลายบริษัทตัดสินใจลดโบนัสพนักงาน ซึ่งกระทบต่อการจับจ่ายของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด”
และคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างชัดเจนก็คือกลุ่มแรงงานอพยพจำนวน 130 ล้านคน แรงงานส่วนหนึ่งทำงานอยู่ที่โรงงานแถบชายฝั่งของประเทศ ซึ่งรับหน้าที่ผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก และโชคร้ายที่ต้องถูกลอยแพรับตรุษจีน เนื่องจากโรงงานหลายแห่งประสบปัญหาอย่างหนัก ออเดอร์จากต่างประเทศลดฮวบจนต้องลดพนักงานหรือถึงขั้นปิดกิจการ
แม้ว่าปีนี้วันตรุษจีนจะตรงกับวันที่ 26 มกราคม แต่ตั้งแต่ต้นเดือนมาชาวจีนเริ่มต้นเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนากันแล้ว ในจำนวนนี้คือแรงงานอพยพจำนวนมากที่จำเป็นต้องกลับถิ่นฐานอย่างไม่รู้อนาคต โดยทางการจีนประเมินว่าจะมีประชาชน 188 ล้านคนโดยสารรถไฟกลับบ้านช่วงตรุษจีนปีนี้ และหลายคนตีตั๋วไปอย่างเดียวเพราะถูกเลิกจ้าง
แม่บ้านแซ่หลิว ชาวมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่เดินทางเข้ามาทำงานที่ปักกิ่งเล่าว่า “ฉันถกปัญหาเรื่องเศรษฐกิจกับเพื่อนที่หอทุกคืน รวมทั้งข่าวเรื่องคนถูกเลิกจ้างจำนวนมาก”
ปีนี้หลิวเล่าว่าเธอได้ตุ๊กตาบาร์บี้ไปฝากลูกสาววัย 10 ปีเป็นของขวัญตรุษจีน แต่มันเป็นตุ๊กตามือสอง ซึ่งเธอก็รู้สึกเสียใจเหมือนกันเพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เธอไม่มีเงินซื้อของเล่นใหม่ให้ลูก
และเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเช่นเดียวกับหลิว ทางการจีนก็กำลังวางแผนเข็นชุดมาตรการช่วยเหลืองบรวม 9,000 ล้านหยวน (1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งทำให้ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว
โดยประชาชนราว 74 ล้านคนจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุด 150 หยวน (ราว 750 บาท) ต่อคน แต่อย่างไรก็ตามเงินจำนวนดังกล่าวก็เทียบเท่ากับรายได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น
อีกทั้งนอกจากกลุ่มแรงงานที่ประสบปัญหาแล้ว ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมีแรงคาดการณ์ว่าตรุษจีนปีนี้ กิจกรรมสำคัญอย่างการรวมตัวสมาชิกครอบครัวทานข้าวนอกบ้านนั้นจะลดลง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจจีนขยายตัวด้วยเลข 2 หลัก ประชาชนมีรายได้มากขึ้น โดยในสังคมจีนมีชนชั้นกลางราว 75 ล้านคนตามที่สภาที่ปรึกษาการเมืองระบุเมื่อปีที่แล้ว ทำให้กระแสรวมตัวทานข้าวนอกบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีนคึกคักกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะที่โรงแรมแชงกรี-ลา โรงแรมระดับ 5 ดาวในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน เสิร์ฟอาหารมื้อค่ำชุด 10 คนซึ่งแพงทุบสถิติของโรงแรมถึง 198,000 หยวน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่ากระแสนิยมทานอาหารนอกบ้านจะลดลง และทางโรงแรมระบุว่าราคาอาหารชุดสำหรับ 10 คนก็จะเหลือราคาชุดละ 3,988 หยวนเท่านั้น โดยผู้บริหารของโรงแรมกล่าวว่า “เราดูสถานการณ์เศรษฐกิจของปีนี้แล้ว จึงตัดสินใจยกเลิกเมนูนี้ไป”
จากการสำรวจของเว็บไซต็เตี้ยนผิง ด็อท คอม ซึ่งเป็นเว็บไซต์แนะนำร้านอาหารเปิดเผยว่า มีเพียงแค่ 6% ของกลุ่มตัวอย่าง 1,800 คนเท่านั้นที่ปีนี้วางแผนออกไปทานข้าวนอกบ้าน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่ต่ำกว่า 120 หยวน (ราว 600 บาท)
ถึงแม้ทุกอย่างจะดูซบเซาไม่คึกคักเหมือนปีก่อนๆ แต่ชาวจีนหลายคนก็ยังหวังว่าจะได้อั่งเปาเหมือนปีก่อนๆ ดังเช่น เฮเลน ซีว์ นักเรียนวัย 19 ปี ที่ยังมีความหวังกับเงินอั่งเป่า โดยเธอมองว่า “คนส่วนใหญ่ยอมใช้จ่ายสำหรับตัวเองน้อยลง แต่จะไม่ยอมใส่อั่งเปาให้น้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะพวกเขาไม่อยากเสียหน้า”