xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา : แบงก์ 20 หยวนปลอมสะพัดในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนบัตรมูลค่า 20 หยวนปลอมที่ถูกจับได้ที่มณฑลอันฮุย ประเทศจีน รวมมูลค่ากว่า 5 แสนหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยได้กว่า 2.5 ล้านบาท
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ระยะนี้ข่าวคราวธนบัตรมูลค่า 1,000 บาทปลอม สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทยไม่น้อย และส่งผลให้มีพ่อค้า-แม่ขายจำนวนหนึ่งหวาดหวั่นที่จะรับธนบัตร 1,000 บาทจากลูกค้า ส่วนผู้ใช้ก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงใช้จ่ายธนบัตรมูลค่าต่ำกว่าแทนเช่น 500 บาท หรือ 100 บาท เพราะคิดว่า การปลอมแปลงธนบัตรแบบ 500 บาท หรือ 100 บาทอาจจะไม่คุ้ม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีการตรวจพบการปลอมแปลงธนบัตรฉบับมูลค่า 500, 100, 50 และ 20 บาท เช่นกัน โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2551 มีการตรวจพบธนบัตรชนิดราคา 100 บาท จำนวน 2,989 ฉบับ ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท 2,553 ฉบับ ชนิดราคา 500 บาท มีจำนวน 1,495 ฉบับ และชนิดราคา 20 บาท จำนวน 700 ฉบับ

สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในแต่ละปีมีธนบัตรปลอมแพร่สะพัดคิดเป็นมูลค่านับพันล้านหยวน ยกตัวอย่างเช่น สถิติในปี 2547 ทั่วประเทศจีนมีการพบธนบัตรปลอมทั้งสิ้นมูลค่าประมาณ 1,160 ล้านหยวน หรือ ถ้าหากคิดเป็นเงินไทยก็ราว 6,000 ล้านบาท (เปรียบเทียบกับประเทศไทยในปี 2550 พบธนบัตรปลอมมูลค่าเพียง 6.8 ล้านบาท)

ด้วยความแพร่หลายของอุตสาหกรรมการปลอมแปลงธนบัตรในประเทศจีน ทำให้ตั้งแต่ปี 2537 รัฐบาลจีนโดยสำนักนายกรัฐมนตรีต้องตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อดำเนินการต่อต้านแก๊งทำธนบัตรปลอม โดยมีบุคคลในระดับรัฐมนตรีหรือผู้ว่าการธนาคารกลางดำรงตำแหน่งประธาน และมีการประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของธนบัตรบ่อยครั้งขึ้น ทั้งยังกำหนดให้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ของทุกปีเป็นเดือนของการต่อต้านธนบัตรปลอมอีกด้วย

ความแพร่หลายของธนบัตรปลอมในประเทศจีนส่งผลให้ประชาชนชาวจีนทั่วไปค่อนข้างระมัดระวังเป็นอย่างมากในการรับธนบัตรมูลค่า 100 หยวน และ 50 หยวน ส่งผลให้บรรดามิจฉาชีพผู้ธนบัตรปลอมในจีนหันไปผลิตธนบัตรมูลค่า 20 หยวนเพิ่มขึ้นแทน (ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นเงินบาทแล้วก็มีมูลค่าประมาณ 100 บาท) ซึ่งการผลิตก็ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะ ธนบัตรมูลค่า 20 หยวน มักจะไม่ค่อยเป็นที่จับตาของท้องตลาดเท่าใดนัก โดยธนบัตร 20 หยวน ที่ผลิตนั้นมีคุณสมบัติคล้ายธนบัตรจริงมาก เนื่องจากมีลายน้ำ หมึกพิมพ์นูน แถบโลหะ แถบโลหะ เช่นเดียวกับธนบัตรจริง เพียงมีความแตกต่างเรื่องเนื้อกระดาษ และรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

ทั้งนี้เป็นที่น่าจับตาว่า มีโอกาสหรือไม่ที่แก๊งมิจฉาชีพในประเทศไทยจะจ้าง หรือ นำเข้าเทคโนโลยีการผลิตธนบัตรปลอมจากจีนมาเพื่อใช้กระทำผิดและสั่นคลอนระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพราะ ต้นทุนในการผลิตธนบัตรปลอมนั้นอาจจะต่ำลงๆ จนสามารถปลอมแปลงได้แม้กระทั่งธนบัตรมูลค่าเพียง 100 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น