xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทจีนสบช่องวิกฤตเศรษฐกิจ กว้านซื้อกิจการในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานในโรงงานของบริษัท GSP North America ที่เมือง สปาทานเบิร์ก มลรัฐเซาท์ แคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน ทั้งนี้ชาวเซาท์ แคโรไลน่า กว่า 21% ทำงานในบริษัทต่างชาติ (ภาพ-วอชิงตัน โพสต์)
เอเจนซี่ – จากสำนักงานที่เมืองเวินโจวศูนย์กลางการผลิตชายฝั่งตะวันออก ประเทศจีน โจว เจียรู่ เศรษฐีชาวจีน ดูแลกิจการโรงงานขัดสีรถยนต์ที่มีคนงานกว่า 100 คน ที่เขาเพิ่งซื้อกิจการมา ณ อีกฝากฝั่งหนึ่งของโลก

บริษัทแห่งใหม่ของคุณโจว ตั้งอยู่ที่เมือง สปาทานเบิร์ก มลรัฐเซาท์ แคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเขาซื้อกิจการมาจาก นายริชาร์ด เลิฟลี่ วิศวกรอุตสาหกรรมวัย 56 ปี ผู้ซึ่งบอกว่า บริษัทของเขาอยู่ในภาวะย่ำแย่เนื่องจากเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศ

การที่นักธุรกิจชาวจีนอย่าง โจว เจียรู่ ซื้อหุ้น 85% ในบริษัทดังกล่าว ที่ขณะนี้ใช้ชื่อว่า GSP North America เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาห์สหรัฐฯที่อ่อนค่า และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอ ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็น “แหล่งช็อปปิ้ง”ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้้ามาซื้อกิจการต่างๆในสหรัฐฯ

ทอมสัน ไฟแนนเชี่ยล รายงานว่า ในปี 2007 การเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯของนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าสูงถึง 407,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 93% จากปีก่อนหน้า โดยนักลงุทุนรายใหญ่ ได้แก่ นักลงทุนจากแคนาดา,อังกฤษ,เยอรมนี,ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ซึ่งกำลังมาแรง

การลงทุนของต่างชาติในสหรัฐฯ ขณะนี้ถูกขับเคลื่อนโดย บรรดากองทุนความมั่งคั่งที่ได้รับการหนุนหลังโดยรัฐบาลต่างชาติ กองทุนเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันทั่วโลก ซึ่งสูงถึง165 ล้านล้านเหรียญฯสหรัฐ แต่กลับมีการเติบโตที่รวดเร็ว

กองทุนความมั่งคั่งเหล่านี้ ซึ่งมีอย่างน้อยสิบสองกองทุนเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2000 แต่บัดนี้มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนายสตีเฟ่น เจน นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนเลย์ ประมาณการณ์ว่า มูลค่าการลงทุนของกองทุนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นไปจนถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2015

ข้างฝ่ายบริษัทสหรัฐฯหลายแห่งก็ยินดีที่จะให้กองทุนความมั่งคั่งมาลงทุน เนื่องจากกองทุนเหล่านี้มีเงินมาก มีวิสัยทัศน์การลงทุนในระยะยาว และไม่ค่อยแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัทที่เข้าไปลงทุน

“กองทุนความมั่งคั่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว และมักจะเข้าถือหุ้นจำนวนน้อยในบริษัทต่างๆโดยไม่ต้องการที่จะเข้าควบคุมหรือมีอิทธิพลต่อบริษัท” เดวิด เอ็ม มาร์ชิด หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลของคาร์ไลน์กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทกองทุนเอกชน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่เงินทุนสามารถไหลเวียนได้อย่างเสรีมากขึ้น ทำให้สมาชิกของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เริ่มเตือนถึงการเข้าซื้อกิจการของบริษัทที่มีความสำคัญของยุทธศาสตร์ เช่น บริษัทน้ำมันและท่าเรือ โดยกองทุนที่หนุนหลังโดยรัฐบาลต่างชาติ ยิ่งในช่วงเวลานี้ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอลงมาก ก็ยิ่งทำให้เสียงเตือนดังยิ่งขึ้น

“การลงทุนจากต่างชาติช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและสร้างงาน เเต่เนื่องจากการลงทุนโดยกองทุนความมั่งคั้งในบริษัทสหรัฐฯ มีมากขึ้น และรัฐบาลต่างชาติก็มีบทบาทในกองทุนเหล่านี้อยู่มาก ดังนั้นเราจึงต้องระวังให้มาก” วุฒิสมาชิกชาร์ล ชูเมอร์ จากรัฐนิวยอร์ก สังกัดพรรคเดโมแครต กล่าว

เจมส์ เว็บ วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์จิเนีย พรรคเดโมแครต ให้ความเห็นว่า การลงทุนของรัฐบาลต่างชาตินั้นย่อมมีเป้าประสงค์กว้างขวางมากกว่าการลงทุนทางธุรกิจทั่วไป
“เมื่อรัฐบาลต่างชาติจะทุ่มเงินไปหากำไรในอีกประเทศหนึ่ง พวกเขาย่อมคิดถึงแรงจูงใจทางด้านนโยบายต่างประเทศด้วย เช่น ต้องการ ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ หรือ ซื้อหุ้นในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์” เจมส์ เว็บ กล่าว

และยิ่งเมื่อกองทุนเหล่านี้ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และยุทธศาสตร์การลงทุนด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้ความกังวลเพิ่มมากขึ้น

“กองทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยโปร่งใสและดูเหมือนจะไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อใครเลย แม้แต่ประชาชนของพวกเขาเอง” เอ็ดวิน เอ็ม ทรูแมน นักวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จากสถาบันปีเตอร์สัน กล่าว โดยเขายังบอกด้วยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำลังร่วมหารือกับกองทุนเพื่อความมั่งคั่งหลายรายเพื่อพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า ความกังวลต่อการลงทุนของต่างชาติ จะพุ่งเป้าไปที่ ประเทศจีน เพราะเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมที่เป็นของเอกชนกับรัฐวิสาหกิจนั้นเลือนรางมากตัวอย่างเช่น ความพยายามของ China National Offshore Oil Corp ที่จะซื้อหุ้นของบริษัทยูโนแคลที่มีฐานในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2005 ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะแรงต่อต้านทางการเมือง

ทอมสัน ไฟเเนนเชียล ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้เงินลงทุนจากจีนในสหรัฐฯจะยังจำกัดอยู่ โดยในปี 2007 มีเงินลงทุนจากจีน 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ทำให้หวนระลึกถึงกระแสกว้านซื้อธุรกิจสหรัฐฯโดยบริษัทจากญี่ปุ่นและเยอรมนีี ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ 80 ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในมลรัฐเซาท์ แคโรไลน่า แรงงานเกือบ 21% ทำงานกับบริษัทต่างชาติ ถือว่ามีสัดส่วนที่สูงที่สุดในทุกมลรัฐ ยกเว้นฮาวาย โดยข้อมูลเดือนธันวาคม ปี 2007 พบว่ามลรัฐเซาท์ แคโรไลน่ามีอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งมลรัฐสูงถึง 6.6% และในบางเมืองของมลรัฐมีอัตราว่างงานสูงถึง 10-15% โดยมลรัฐเซาท์ แคโรไลน่าเคยต้องต่อสู้กับการเอาท์ซอร์สงานไปยังต่างประเทศ แต่ไม่กี่ปีมานี้ เรื่องราวกลับตาลปัตร กลายเป็นว่าบริษัทจีนหลายแห่งได้มาลงทุนในมลรัฐเซาท์ แคโรไลน่า

ไฮเออร์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนมีโรงงานผลิตตู้เย็นในมลรัฐนี้ นอกจากนี้ยังมีโรงงานเคมี, บริษัทการพิมพ์ และบริษัทก่อสร้างจากจีนอีกหลายแห่ง ซึ่งจ้างงานในเซาท์ แคโรไลน่ารวมกันหลายพันคน เนื่องจากที่นี่มีราคาที่ดินที่ถูก ถูกกว่าบางเมืองในประเทศจีนด้วยซ้ำ และค่าไฟฟ้าที่นี่ก็ถูกกว่าในจีนราวๆ 1/3 ถึง1/4 นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทได้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญอีกด้วย

โจว เจียรู่ เศรษฐีชาวจีน อายุ 54 ปี ซึ่งซื้อกิจการโรงงานขัดสีรถยนต์ ที่เมืองสปาทานเบิร์ก มลรัฐเซาท์แคโรไลน่า บอกว่า การเมืองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจซื้อกิจการในสหรัฐฯ

“เราดูตัวอย่างจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ถูกทางสหรัฐฯใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดรถราคาถูกจากญี่ปุ่น แต่ ฮอนด้า ไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีกระบวนการผลิตในประเทศสหรัฐฯ” คุณโจว กล่าว

โจว เจียรู่ เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการของบริษัท กวานเซิน ออโต้พาร์ท ในเมืองเวินโจว ที่ตั้งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ 260 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ เวินโจว เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการทำธุรกิจ โดยเมื่อผู้แทนการค้าจากสหรัฐฯ เดินทางมาจีนเพื่อหาผู้ร่วมทุน เวินโจว ก็คือหนึ่งในที่หมายสำคัญ

โจว เจียรู่ เริ่มลงทุนในสหรัฐฯ โดยการซื้อบริษัทพาวเวอร์ไลน์ ในปี 2005 หลังจากรัฐบาลจีนยกเลิกการผูกติดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินดอลลาห์สหรัฐฯ และหลังจากเงินดอลลาห์สหรัฐฯอ่อนลงอย่างต่อเนื่องในปี 2007 เขาก็ซื้อกิจการเพิ่มเติม และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น GSP North America อยู่ภายใต้บริษัทแม่ที่ประเทศจีน และหลังจากนั้นจ่ายเงิน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เขาก็ได้ถือหุ้น 85% ของโรงงานที่มลรัฐเซาท์แคโรไลน่า

คุณโจว บอกว่า ในช่วงแรกคนงานของโรงงานหวั่นใจที่จะทำงานกับบริษัทจีน เขาบอกว่าตอนที่ไปเยี่ยมโรงงานนั้น คนงานชาวอเมริกัน บอกว่า “ตอนนี้เราต้องทำงานให้กับคนจีน เราเสียหน้ามาก”

ดิกค์ อดัมส์ วัย 57 ปี ผู้ซึ่งโจว ได้จ้างให้รับผิดชอบด้านการขายและการตลาดของ GSP North America บอกว่า ทางบริษัทได้พยายามพิสูจน์ให้กับทั้งพนักงาน, ชุมชน รวมทั้งรัฐบาลมลรัฐ เซาท์แคโรไลน่า เห็นว่า เราเป็น “บริษัทจีนที่ดี”

เดิมที โจว คิดว่าจะให้โรงงานทำการผลิตตามแบบจีน คือ 24 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็นกะกลางวันและกะดึก แต่คนงานจำนวนมากไม่พอใจที่จะทำงานตอนดึก ดังนั้นตอนนี้โรงงานจึงทำงานเฉพาะเวลาืทำงานปกติตอนกลางวันเท่านั้น

“คุณอาจเคยพบเจอกับคนจีนที่มาที่นี่ มากอบโกยโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนเลย แล้วก็จากไป แต่ GSP ไม่ได้ทำเช่นนั้น เรามาพร้อมกับเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ลงทุนในสิ่งก่อสร้าง, จ้างคนงาน และระบบจัดสินสินค้า” ดิกค์ อดัมส์ ผู้รับผิดชอบด้านการขายและการตลาดของ GSP North America กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น