xs
xsm
sm
md
lg

โบตั๋น : ราชาแห่งมวลบุปผา / อู่วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดอกโบตั๋น (Peony) ในภาษาจีนเรียกว่า “หมู่ตัน” (牡丹) ส่วนภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “โบตัง” (Botan) เป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในวัฒนธรรมของจีน ทั้งรูปร่างสวยงาม สีสันสดใส และมีกลิ่นหอมรัญจวน ในประเทศจีนนั้นยังเรียกดอกโบตั๋นว่า “富贵花” หรือดอกไม้แห่งความมั่งคั่งร่ำรวยด้วย

ในปี ค.ศ. 1903 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ชิง ได้มีการประกาศให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่หลังจากระบบศักดินาล่มสลาย พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมาเรืองอำนาจ ก็ยังไม่มีการกำหนดดอกไม้ประจำชาติจีนอย่างเป็นทางการอีกเลย ไม่เหมือนกับไต้หวันที่กำหนดให้ดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำชาติ

แม้ว่ายังไม่มีการกำหนดให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่เมื่อต้นทศวรรษที่ 70 เมื่อครั้งอดีตนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เดินทางไปเยือนเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนัน ทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะเป็นศูนย์เพาะปลูกดอกโบตั๋น ได้แนะนำแขกต่างชาติว่าดอกโบตั๋นคือดอกไม้ประจำชาติของจีน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเป็นเพราะขาดแคลนเงินทุน จึงทำให้ดอกไม้ขาดการบำรุงไม่ทนทานแข็งแรงนัก

โจว เอินไหลยังกล่าวอีกว่า “ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่น่าอัศจรรย์และสง่างามมาก มันเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความมั่งมีศรีสุขของชาติจีน เราจะต้องปกป้องมันอย่างโดยเร่งด่วน” จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้ว ดอกโบตั๋นของเมืองลั่วหยางขยายพันธุ์และเจริญงอกงามดียิ่งจากไม่กี่สิบต้นกลายเป็นไม่ต่ำกว่าล้านต้น

ในประเทศจีนดอกโบตั๋นมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันๆ ปี เฉพาะที่ชาวจีนเริ่มนำมาเพาะปลูกก็นับย้อนไปได้กว่า 2,000 ปีมาแล้ว จากบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า ชาวจีนเริ่มปลูกดอกโบตั๋นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน (จิ๋น) ในรัฐเว่ยและรัฐจิ้น ยุคแรกๆ ชาวจีนรู้จักดอกโบตั๋นในฐานะยาสมุนไพร โดยมีการบันทึกสรรพคุณไว้ใน “ตำรายาสมุนไพรของเสินหนง (เทพกสิกร)” 《神农本草经》 ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ก่อนประวัติศาสตร์ 420-589 ปี) โบตั๋นก็เข้าสู่แวดวงแห่งศิลปะ เมื่อหยางจื่อหัวจิตรกรชื่อดังได้วาดรูปดอกโบตั๋นขึ้น

จนมาถึงสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ดอกโบตั๋นก็ได้รับความนิยมอย่างที่สุด อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งมวลบุปผชาติ” ดังนั้นจึงมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงที่โบตั๋นได้รับความนิยมอย่างสูง พอถึงหน้าที่ดอกไม้บานสะพรั่ง ประชาชนทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจนต่างกระตือรือร้นแห่แหนกันไปชมความงามของดอกโบตั๋นนานาพันธุ์ น่าเสียดายที่ถึงแม้ว่าดอกโบตั๋นจะเป็นที่นิยมมาก แต่มูลค่าของมันก็สูงยิ่งกระทั่งสามัญชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อมาครอบครองได้

ความนิยมชมชอบดอกไม้ชนิดนี้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น แม้แต่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) (ค.ศ.1809-1882) บิดาแห่งวิชาพันธุศาสตร์ ผู้ค้นพบการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ก็หลงเสน่ห์ดอกโบตั๋นเช่นกัน ตอนที่เขาอายุได้ 10 ขวบ พ่อให้เขานับดอกโบตั๋นที่ปลูกอยู่ในสวน โดยในปี 1819 เขานับได้ 160 ต้น และจำนวนต้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 363 ต้นในปี 1821 จากนั้นเขาก็ได้ศึกษาวิธีการปลูกดอกโบตั๋นในจีน ซึ่งต่อมากลายมาเป็นตัวอย่างหนึ่งในทฤษฎีวิวัฒนาการของเขาด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวจีนแล้ว ดอกโบตั๋นเป็นสัญลักษณ์ทางด้านจิตวิญญาณมากกว่าประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์ ในวัฒนธรรมจีนมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับดอกโบตั๋นมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน

เมื่อครั้งที่บูเช็กเทียน (ก่อนประวัติศาสตร์ 624-705 ปี) สถาปนาราชวงศ์โจวขึ้น และตั้งตนเป็นฮ่องเต้หญิงของจีน ได้บัญชาให้ดอกไม้ทั่วทั้งอุทยานเบ่งบานในวันหนึ่งที่หิมะโปรยปราย ในตอนนั้นดอกไม้ต่างๆ พากันเบ่งบาน มีเพียงแต่ดอกโบตั๋นเท่านั้นที่ขัดพระบัญชา ทำให้บูเช็กเทียนพิโรธมาก จึงได้สั่งเผาอุทยาน และถอนรากถอนโคนดอกโบตั๋น แล้วเอาไปทิ้งไว้บนเขาเป่ยหมาง ในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนัน เพื่อให้ดอกโบตั๋นสูญพันธุ์

แต่นึกไม่ถึงว่าดอกโบตั๋นกลับเติบโตขยายพันธุ์เป็นอย่างดี ต่อมาเมืองลั่วหยางจึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกโบตั๋นที่สำคัญ ถึงขนาดมีคนกล่าวว่าดอกโบตั๋นที่ดีที่สุดก็มาจากเมืองลั่วหยางนี่เอง นอกจากนี้ทุกๆ ปีที่เมืองแห่งนี้ยังมีการจัดงานเทศกาลชมดอกโบตั๋นอีกด้วย จนถึงปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 แล้ว

ปัจจุบันมีการปลูกดอกโบตั๋นใน 20 กว่าประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ เกาหลี ฮอลแลนด์ แคนาดา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น