xs
xsm
sm
md
lg

ลำนำ 30 ปี จากคูปองอาหารสู่คูปองหลักทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นของสะสมชิ้นเยี่ยม
ชาวจีนยุคใหม่สามารถจับจ่ายซื้อของได้อย่างง่ายได้ขอเพียงแค่มีสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” เท่านั้น แต่ใครบ้างจะรู้ว่าสังคมจีนเมื่อ 30-40 ปีก่อนนั้นถึงแม้จะมีเงินมากมายก็ไม่สามารถซื้อหาอาหารมาประทังชีวิตได้ เพราะในช่วงเวลานั้นเขาเรียกว่าเป็น “ยุคทองแห่งคูปอง”

หลังจากประธานเหมา เจ๋อตง ผู้นำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์นำพาสมัครพรรคพวกขับไล่รัฐบาลก๊กมินตั๋งให้พ้นจากแผ่นดินใหญ่ถอยหนีไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไต้หวันได้สำเร็จในปี ค.ศ.1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้การปกครองของเหมา เจ๋อตง ได้มีการเคลื่อนย้ายประชาชนไปอยู่ตามคอมมูนต่างๆ โดยแต่ละคอมมูนจะมีระบบในการจัดการพึ่งพาตนเอง มีระบบการเกษตร อุตสาหกรรม โรงเรียน โรงพยาบาลของตัวเอง เป็นต้น

แต่กลับกลายเป็นว่าการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตที่ได้ตกต่ำอย่างหนักและไร้คุณภาพ ชาวจีนประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก จึงนำมาสู่แนวคิดที่ต้องการควบคุมจัดสรรอาหารอย่างเป็นมหภาค และเป็นระบบแบบแผนเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นในปี 1953 คณะรัฐมนตรีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จึงได้ประกาศ “มติว่าด้วยระบบซื้อขายอาหาร”, “คำสั่งว่าด้วยการจัดหาและการซื้อขายอาหาร” แล้วระบบซื้อขายอาหารด้วยคูปองก็เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจีนเริ่มผุดคูปองที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลาย 10 ประเภท อาทิ คูปองซื้ออาหาร คูปองซื้อผ้า คูปองซื้อเนื้อ มันเคยเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวจีนที่ขาดไม่ได้ ถ้าไม่มีคูปองเหล่านี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถซื้อหาสิ่งของใดๆ ได้
คูปองซื้ออาหารในเมืองชิงเต่า มีคูปองซื้อข้าวโดยเฉพาะด้วย
จนเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มพัฒนาขึ้นระบบคูปองก็เริ่มลดบทบาทลง แต่แล้วเมื่อในประเทศจีนประสบความวุ่นวายยืดเยื้อยาวนานเป็น 10 ปี สิ่งของที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันก็กลับขาดแคลน ทำให้หลังช่วง “ปฏิวัติวัฒนธรรม” (ค.ศ.1966-1976) คูปองชนิดต่างๆ จึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

คุณลุงจู กวงหรง เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมชะตากรรมในยุคนั้น เขาเล่าว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1979 เขาซึ่งขณะนั้นอายุได้ 27 ปีเดินทางกลับมาที่ปักกิ่งหลังจากไปเข้าร่วมกองกำลังทหารในมณฑลเฮยหลงเจียงเป็นเวลาถึง 10 ปี หลังจากกลับมาแล้วเป็นครั้งแรกที่เขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการหางานทำ

หลังจากนอนว่างงานอยู่ที่บ้านนานถึง 2 เดือน ในที่สุดก็มีคนแนะนำงานให้เขาทำถึง 3 งาน ซึ่งเดิมทีจู กวงหรงคิดจะไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถอย่างที่เคยทำเมื่อครั้งอยู่ในกองทัพ แต่คนที่บ้านและเพื่อนกลับสนับสนุนให้เขาไปทำงานที่ร้านขายข้าว

“ตอนนั้นทำงานในร้านขายข้าวเป็นงานที่ดีที่สุด เพราะบ้านไหนบ้างที่ไม่กินข้าว” ในที่สุดจู กวงหรงก็ตัดสินใจมาทำงานที่ร้านขายข้าวซึ่งอยู่ใกล้กับเขตเหอผิงหลี่ 4 ชื่อว่าร้านข้าวถนนกลางเหอผิงหลี่ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “ร้านอาหารเขต 4” โดยร้านนี้เป็นร้านข้าวที่ใหญ่ที่สุดในย่านเหอผิงหลี่ รับผิดชอบจัดหาเสบียงอาหารให้แก่ชาวบ้านกว่า 3,000 ชีวิต

ภายในร้านนี้เป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาด 100 กว่าตารางเมตร ด้านซ้ายเป็นตู้วางสินค้าจำพวกข้าวและเส้นหมี่ บนตู้จะมีถาดตาชั่งวางอยู่ ข้างล่างวางกรวยสำหรับตักข้าวใส่ ส่วนทางขวาของร้านก็จะมีตู้เม็ดถั่วลิสง และธัญพืชอื่นๆ ใกล้กับประตูหลังร้านก็มีถังน้ำมันวางอยู่ และมีที่ดูดน้ำมันวางอยู่ในถังด้วย

ในยุคสมัยนั้นถือได้ว่าร้านขายข้าวเป็นสถานที่ที่คึกคักราวกับโรงภาพยนตร์ในสมัยนี้ก็ไม่ปาน เพราะว่าเป็นเหมือนหลอดเลือดแห่งชีวิตของชาวเมือง ดังนั้นร้านขายข้าวจึงกลายเป็นศูนย์ชุมนุมของชาวบ้านในย่านนั้นๆ ไปโดยปริยาย

จูจำได้ว่า ในตอนนั้นทุกปลายสัปดาห์หรือปลายเดือน ชาวบ้านก็จะแห่กันมารอต่อแถวยาวเหยียดอยู่หน้าร้านขายข้าวเขต 4 แห่งนี้ ถ้าครอบครัวไหนมีเด็กเล็ก พ่อแม่ก็จะอุ้มเด็กๆ มารอต่อแถวฆ่าเวลาด้วย แล้วพอมาถึงคิวของตัวเอง คนที่รอต่อคิวก็จะยกถุงใส่ข้าวขึ้นมารับ แล้วก็จะตรวจสอบความแม่นยำของตาชั่งอย่างละเอียดเพราะเกรงว่าจะได้ของขาดไป หลังจากซื้อเสร็จก็จะรีบมัดปากถุงแล้วจากไป สาเหตุที่ผู้คนต้องละเอียดรอบคอบกับเรื่องอาหารเหล่านี้นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเกรงกลัวความหิวโหยและนิสัยความประหยัดมัธยัสถ์ที่สืบทอดกันมา อีกด้านก็เนื่องมาจากนโยบายจัดจำหน่ายสิ่งของให้แก่ประชาชนในปริมาณจำกัด ดังนั้นในยุคที่ตลาดธัญญาหารยังไม่เปิดเสรี ทุกคนจึงต้องพึ่งพาคูปองเพื่อแลกซื้ออาหารในปริมาณที่ถูกกำหนดไว้

บ้าคูปอง
คูปองซื้ออาหารในมณฑลซันตง
จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษที่ 80 จู กวงหรงก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการร้าน เงินเดือนของจู กวงหรงในแต่ละเดือนนั้นได้ประมาณ 52 หยวน แต่เงิน 52 หยวนนี้เขากลับไม่สามารถนำไปซื้อสินค้าได้ตามใจชอบ เพราะว่าสินค้าทุกอย่างล้วนแล้วแต่ถูก “พันธนาการ” ด้วยคูปอง

ช่วงนี้เป็นช่วงที่คูปองกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยคูปองสิ่งของต่างๆ ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ คูปองสำหรับ “กิน, ใส่, ใช้” คูปองประเภทอาหารนั้นนอกจากจะเป็นคูปองพวกข้าว ธัญญพืช น้ำมันแล้ว ก็ยังรวมไปถึงคูปองเนื้อหมู แกะ วัว ไก่ ปลา เป็ด น้ำตาล ไข่ ผัก เป็นต้น

ส่วนคูปองพวกเสื้อผ้าและของใช้นั้นก็ยิ่งละลานตากว่า มีพร้อมทุกอย่างตั้งแต่คูปองเสื้อเชิ้ต เสื้อกล้าม รองเท้าผ้า ไปจนถึงผ้าเช็ดหน้า สบู่ กระดาษชำระ ผงซักฟอก ไม้ขีดไฟ เป็นต้น แม้แต่สินค้าที่ค่อนข้างราคาแพงอย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน นาฬิกาก็มีแต่ค่อนข้างหาได้ยาก

คูปองมากหน้าหลายตามีให้เห็นทุกที่ สินค้าประเภทไหนก็ต้องใช้คูปองประเภทนั้นซื้อขาย เพื่อควบคุมจัดการกับคูปองสินค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากมายนี้ สำนักงานการพาณิชย์ประจำท้องถิ่นจึงได้จัดตั้งสำนักงานควบคุมคูปองขึ้นเพื่อรับผิดชอบในการออกคูปองโดยเฉพาะ

ในความทรงจำของจู กวงหรง ช่วงนั้นหากเขาคิดจะทานปลาหรือลูกกวาด ต้องรอจนถึงเทศกาลตรุษจีนจึงจะได้ทาน แถมยังต้องต่อคิวยาวเหยียด เพราะทุกคนต่างมีคูปอง ถึงแม้ว่าพอสิ่งที่ซื้อหามาได้จะเป็นปลาหางยาวที่เย็นชืดและลูกกวาดหมดอายุ แต่ก็ไม่มีใครบ่นว่า แต่กลับเก็บรักษาไว้ราวกับเป็นของมีค่าและเตรียมไว้ต้อนรับแขกที่จะมาอวยพรปีใหม่กัน

และเนื่องจากปักกิ่งเป็นเมืองที่มีธุรกิจการท่องเที่ยวคึกคัก ทำให้บางครั้งที่ศูนย์การค้าซีตันก็สามารถซื้อ “ขนมชั้นเลิศ” ได้ด้วย โดยชาวบ้านเก่าแก่ที่อยู่ในย่านเหอผิงหลี่เล่าว่า ขนมที่เรียกว่า “ชั้นเลิศ” ในสมัยนั้น ก็คือผลไม้เชื่อมกับวอลนัททอดกรอบ แถมราคา 5 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม ซึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ทำงานได้เงินเดือนๆ ละ 40-50 หยวนแล้ว ถือว่าเป็นราคาที่แพงมาก ดังนั้นจึงถูกเรียกว่าเป็น “ขนมชั้นเลิศ”

แต่หลังจากได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดเสรีประเทศจีนไปได้ระยะหนึ่ง ก็เข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบวางแผนมาเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาด คูปองดังกล่าวก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิตของชาวจีน กระทั่งเมื่อปี 1993 จีนก็ได้ยกเลิกระบบการใช้คูปองเหล่านี้ไปเสีย คูปองที่เห็นในปัจจุบันก็กลายเป็นของสะสมในเชิงศิลปะ-ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยหนึ่ง

สู่ยุคคูปองหลักทรัพย์
คูปองซื้ออาหารที่ใช้กันทั่วประเทศ
ด้านหลี่ ซู่หลิน เจ้าหน้าที่รัฐปลดเกษียณของทางการเมืองสือเจียจวง ย้อนนึกไปถึงเรื่องราวเมื่อ 30 ปีก่อน เขาเล่าว่า ในช่วงแรกของการปฏิรูปเปิดประเทศไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ต้องพึ่งพาคูปอง ครอบครัวของเขามีทั้งคูปองซื้ออาหาร ซื้อเนื้อ ซื้อผ้า ซื้อน้ำมัน ซื้อถ่าน

โดยหลี่เล่าว่า ในตอนนั้นเงื่อนไขการรับคูปองนั้นจะขึ้นอยู่กับสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก เช่น ออกคูปองซื้อข้าวตามอายุ: อายุไม่เกิน 6 ขวบ เฉลี่ยเดือนละ 7 กิโลกรัม อายุ 6-10 ปีเดือนละ 9 กิโลกรัม วัยผู้ใหญ่เดือนละ 17.5 กิโลกรัม ส่วนคูปองซื้อเนื้อ น้ำมัน เต้าหู้นั้น แต่ละคนจะได้อย่างละครึ่งชั่งต่อเดือน (1 ชั่ง = ครึ่งกิโลกรัม) ถ้าโชคดีก็จะมีคูปองไข่ไก่ คูปองเกลือ คูปองไม้ขีด คูปองสบู่ เป็นต้น

“ปัจจุบันคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่รู้จักคูปองอาหาร คูปองเสื้อผ้ากันแล้ว แต่ในสมัยนั้นคูปองพวกนี้ถือเป็นหัวใจในการดำรงชีวิตของทุกครัวเรือน ถ้าไม่มีคูปองพวกนี้แล้วล่ะก็ ถึงมีเงินก็ซื้อของไม่ได้”

หลังจากนั้นยังมีคูปองโทรทัศน์โผล่ขึ้นมาด้วย โดยในปี 1982 เขาต้องอาศัย “เส้น” ของญาติที่ทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติ ถึงได้คูปองโทรทัศน์มาใบหนึ่ง

หลี่ ซู่หลินเล่าว่า คูปองเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากเศรษฐกิจแบบวางแผนและการขาดแคลนวัตถุปัจจัยสำหรับดำรงชีวิต แต่หลังจากประเทศจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดเสรี เศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว “คูปองเก่า” ก็ค่อยๆ ลดบทบาทลงกลายเป็นเพียงของที่ระลึกไป

คูปองเก่าไปคูปองใหม่ก็มา หลี่เล่าว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่เดิน “ตามกระแส” นำเอาเงินเก็บส่วนหนึ่งออกมาซื้อหุ้นและกองทุนทอง ซึ่งเขากล่าวว่า “คูปองซื้อข้าวของจีนในอดีตเป็นคูปองเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน แต่คูปองหลักทรัพย์ในปัจจุบันใช้เพื่อการลงทุน และแนวความคิดของสองสิ่งนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

โดยในปี 2007 ที่ผ่านมากระแสตลาดหุ้นจีนคึกคักเป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้กระโดดเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 300,000 ราย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้เคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 6,124.04 จุด และพองตัวในช่วงสูงสุดถึง 130% จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยเซินเจิ้นเมื่อปีที่แล้วก็ชี้ว่า แม้กระทั่งนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 4 ก็ยังเฮกันเข้าไปเสี่ยงโชคในตลาดหุ้นร่วม 80%



กำลังโหลดความคิดเห็น