เอเจนซี่ - นโยบายต่อประเทศจีนของนาย บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุด เป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายต่างประเทศที่พรรคเดโมแครตยึดถือมา คือ ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และการปกป้องธุรกิจของชาวอเมริกันทั้งในและต่างประเทศ
หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า นโยบายการค้ากับจีน จะเป็นส่วนสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เพราะจีนถือเป็นคู่ค้าหลักของสหรัฐ และยังเป็นประเทศที่ซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย โอบามาเพิ่งออกมาวิจารณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนใช้การควบคุมค่าเงินมาทำให้สหรัฐเสียเปรียบทางการค้า นอกจากนี้ โอบามายังเคยกล่าวในระหว่างหาเสียงในช่วงที่มีข่าวของเล่นจากจีนปนเปื้อนสารตะกั่วว่า เขาจะคุมเข้มความปลอดภัยของสินค้านำเข้าจากจีน ดังนั้น รัฐบาลใหม่ของสหรัฐภายใต้การนำของโอบามาจะกดดันจีนทั้งในเรื่องค่าเงิน และอาจเพิ่มมาตรการกีดกันการค้า ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้าและสิทธิผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐที่มีต่อจีนลง
โอบามายังให้สัญญากับสมาคมสิ่งทอแห่งชาติสหรัฐ ว่า เขาจะจัดการอย่างจริงจังกับกรณีสิ่งทอจากจีนที่อาศัยค่าเงินมาสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ นางซูซาน ชวาบ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ก็บอกเช่นกันว่า จีนให้เงินสนับสนุนกับผู้ผลิตสิ่งทอ ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และถ้าจีนไม่ยกเลิกการให้เงินสนับสนุน สหรัฐก็จะยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก
โอบามาพูดชัดว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อจีน ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน โดยเขาบอกว่าจีนจะต้องลดการพึ่งพาการส่งออกลง หันไปเพิ่มความต้องการในประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้โอบามาย้ำว่า เขาจะใช้เครื่องมือทางการทูตทุกอย่างเพื่อให้จีนเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้
โดยสรุปแล้ว นโยบายการค้าของพรรคเดโมแครตไม่เป็นผลดีมากนักเมื่อเทียบกับของพรรครีพับลิกัน ที่สนับสนุนการค้าเสรี ยิ่งเมื่อสหรัฐประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยแล้วก็จะยิ่งใช้นโยบายการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น
สำหรับนโยบายความมั่นคง และการต่างประเทศ ต้องจับตา รองประธานาธิบดีคนใหม่ คือ โจเซฟ ไบเดน ผู้ซึ่งเคยครองตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา 3 สมัยซ้อน ทั้งนี้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีนมี 3 เรื่องสำคัญ คือ สิทธิมนุษยชน ดุุลอำนาจในเอเชีย และไต้หวัน
ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โอบามากล่าวว่าเขามองเห็นทั้งโอกาสและปัญหาท้าทายจากการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน เขาบอกว่าเขาจะไม่วาดภาพจีนให้กลายเป็นปีศาจร้าย แต่ก็จะกดดันให้ปักกิ่งต้องยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานนานาชาติ และยุติการสนับสนุนรัฐบาลที่กดขี่ในอิหร่าน,พม่า,ซูดาน และซิมบับเว ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลใหม่ของสหรัฐจะหยิบยกเรื่องทิเบต พม่า รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนเองมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า
รัฐบาลจีนจะถูกกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะโอบามา ก็เคยออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง ถ้าปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
เรื่องดุลอำนาจในเอเชีย โอบามาให้สัญญาที่จะธำรงรักษากำลังทหารสหรัฐฯอันเข้มแข็งเอาไว้ และกระชับเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย รวมทั้งจะดำเนินการเพื่อสร้างกรอบโครงที่จะไปไกลกว่าแค่การมีข้อตกลงทวิภาคี แต่จะเป็นการต่อยอดจากเวทีอย่างเช่นการเจรจา 6 ฝ่ายว่าด้วยปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่จีนถือเป็นพี่ใหญ่ของเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น เขายังจะมุ่งให้มีการจัดทำแผนแม่บทระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันต่อสู้กับภัยคุกคามข้ามชาติ
สหรัฐฯ ยังจะเพิ่มความสนใจในแอฟริกามากขึ้น ไม่ใช่เพราะเป็นบ้านเดิมของโอบามา เเต่เพราะจีนเริ่มขยายอิทธิพลในแอฟริกามากขึ้น
รัฐบาลใหม่ของสหรัฐจะยังจำกัดและถ่วงดุลอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนเหมือนเช่นเดิม เพียงแต่อาจจะลงความขึงขัง ดุดัน ถึงขนาดมองว่า “จีนเป็นภัยคุกคาม”ลง และอาจแสวงหาความร่วมมือกับจีนเพิ่มมากขึ้น
เรื่องไต้หวัน ถึงแม้โอบามา รับรองนโยบายจีนเดียว แต่สหรัฐฯมีข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่ระบุให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตนเอง หรือในกรณีที่จีนมีความเคลื่อนไหวที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม หรือละเมิดหลักการที่ว่าทุกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอนาคตของไต้หวัน จะต้องแก้ไขกันอย่างสันติวิธี
ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ก็มีประเด็นร้อน เมื่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอให้สภาคองเกรสพิจารณาอนุมัติ ขายอาวุธมูลค่า 6500 ล้านเหรียญสหรัฐให้ไต้หวัน ทำให้จีนต้องตอบโต้ด้วยการยกเลิกความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐ
สหรัฐจะยัคคงกองเรือในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคไว้ และยังจะสนับสนุนไต้หวันเต็มที่ ด้วยเหตุผลด้านยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิค