xs
xsm
sm
md
lg

เกิดเป็นแรงงานอพยพ จึงไม่ได้ล้มบนฝูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานโรงงานของเล่นแห่งหนึ่งที่เมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้งกำลังตรวจสอบสินค้า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปั่นป่วน โรงงานหลายแห่งทางตอนใต้ของจีนต่างปิดตัวเพราะทนแบกรับต้นทุนสูงไม่ไหว เป็นเหตุให้คนงานอย่างน้อยกว่า 2.7 ล้านคนต้องตกงาน - เอเอฟพี
เอเอฟพี – แรงงานอพยพชาวจีนหลายร้อยชีวิตเคยพาซื่อคิดว่าวิกฤตการเงินโลกเป็นปรากฏการณ์ ที่พวกเศรษฐีกับผู้มีอำนาจเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เจ๊ง ทว่าวันนี้หลับส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายล้านชีวิตทั่วประเทศจีน

กระทั่งเมื่อได้เห็นข่าวทางโทรทัศน์ว่า “สมาร์ต ยูเนียน” บริษัทนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้ผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่รายหนึ่งบนแดนมังกร มีอันล้มละลายเสียแล้ว เพราะทนแรงกดดันจากต้นทุนการผลิต ที่พุ่งสูงไม่ไหว แถมความต้องการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ และประเทศอื่นหดลง

เติ้ง หงซีแรงงานชาย วัย 35 ปีผู้นี้จึงหายซื่อเป็นปลิดทิ้ง

ไม่นึกไม่ฝันว่าชีวิตแรงงานอพยพจน ๆ อย่างเขาก็เจ๊งได้เหมือนกัน

“ผมอึ้งไปเลยล่ะ บริษัทนี้เป็นบริษัทใหญ่ จดทะเบียนในตลาดหุ้น แล้วไหงเป็นไปได้?” เขาบอกกับนักข่าวเอเอฟพี

โดยไม่รอช้า เติ้งกับภรรยา ซึ่งทำงานในโรงงานเดียวกัน รีบไปที่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตงกว่าน ศูนย์กลางการส่งออกสำคัญแห่งหนึ่งของจีน

ที่หน้าโรงงาน คนงานกำลังรวมตัว ประท้วงเรียกร้องเงินเดือน ที่ทางบริษัทยังไม่ได้จ่ายให้

“ตรงนั้นเอง ผมถึงเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับผมและภรรยา… เราสองคนตกงาน และนายจ้างกำลังหลบหน้า ผมโคตรโมโหเลย”

“ทำไม่ถึงต้องเป็นเรา? เราไม่ได้เป็นายแบงก์ หรือนักลงทุนสักหน่อย”

โลกให้ความสนใจกับการล้มครืนของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศ ทว่า“ไม่มีใครหน้าไหนเอาใจใส่กับชะตากรรม ที่พวกเราได้รับ” ชายในชุดเสื้อยืดสีขาวกับกางเกงยีนส์เก่ามอซอตัดพ้อ

เติ้งเริ่มต้นชีวิตแรงงานอพยพ โดยจากบ้านในมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มาหางานทำเมื่ออายุ 18 ปี สองสามีภรรยามีรายได้รวมกันตกเดือนละประมาณ 3,500 หยวน (512 ดอลลาร์สหรัฐฯ) พวกเขาจะส่งเงินเดือนครึ่งหนึ่งกลับไปให้พ่อแม่ ซึ่งแก่เฒ่า และลูกชายอายุ 12 ปี

สำหรับเงินส่วนที่เหลือ หมดไปกับค่าอาหารและค่าเช่าที่พัก ทั้งสองจึงไม่มีเงินเหลือสำหรับเก็บออม และมีเงินกลับไปเยี่ยมบ้านได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น

คณะผู้บริหารท้องถิ่นของเมืองตงกว่านสัญญิงสัญญาว่าจะจ่ายเงินเดือนช่วง 3 เดือนสุดท้ายให้แก่คนงานทุกคน ซึ่งตามรายงานระบุว่า เป็นจำนวนเงินสูงถึง 24 ล้านหยวน แต่เติ้งแย้งว่า บริษัทยังเป็นหนี้เงินโบนัสและเงินประกัน ซึ่งต้องจ่ายให้คนงานอยู่ดี

“เราไปเรียกร้องอะไรไม่ได้หรอกครับ เพราะบริษัทไม่ได้ให้สำเนาการทำสัญญาว่าจ้าง ที่เราลงชื่อเอาไว้” เติ่งพูดอย่างน่าสงสาร

เติ้งยังเล่าให้ฟังถึงความใจดำของบริษัทสมาร์ต ยูเนียนอีกว่า มักใช้ให้ทำงาน ที่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เช่น สั่งให้เย็บขาของตุ๊กตาหมีจำนวน 1,000 ตัวให้เสร็จภายในเวลา 12 ชั่วโมง

“คนคุมงานจะแผดเสียงดังลั่นใส่ เวลาเราส่งงานไม่ทันสี่ทุ่ม พยายามทำให้เรารู้สึกแย่ให้ได้ เพราะ“การไร้ประสิทธิภาพ”ของเรา ทำให้สายการผลิตทั้งหมดพลอยล่าช้าไปด้วย และทำให้เพื่อนร่วมงานต้องมีงานเพิ่มขึ้น”

“แต่พวกเราก็ไม่เคยโต้ตอบ เพราะเราเองก็อยากให้มีออร์เดอร์เข้ามามาก ๆ ดีกว่าไม่มีเสียเลย”

งานของเติ้งเหมือนดนตรีเสียงเดียว ทำซ้ำซากจำเจเหมือนเดิมและอย่างไม่มีวันจบสิ้น นอกจากนั้น การจะหวังให้ได้ขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเรียนหนังสือแค่ชั้นประถม

ทว่าสภาพเงื่อนไขการทำงานที่เป็นอยู่ก็ยังนับว่าดีโข หากเปรียบเทียบกับแต่ก่อนในสมัยที่เขายังทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในเมืองเซิ่นเจิ้น และกว่างโจว

“ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เรามาที่นี่ เพียงเพราะเงินเท่านั้น จึงไม่ควรคาดหวังอะไรอื่นอีก”

“ถ้าผมยังอยู่ที่เสฉวน ก็คงจะเป็นชาวนาจน ๆ และสุดท้ายก็ตายกันทั้งครอบครัว”

หลังจากที่บริษัทสมาร์ต ยูเนียนประกาศล้มละลายได้ไม่นาน บริษัทหลายรายในละแวกใกล้เคียงก็พากันออกมาตั้งโต๊ะรับสมัครคนงาน และติดป้ายประกาศที่ด้านนอกโรงงานของสมาร์ต ยูเนียน โดยเสนอตำแหน่งงาน ที่น่าดึงดูดใจสำหรับแรงงานอพยพ เช่นบริกรในโรงแรม,ช่างเสริมสวย,ช่างเทคนิก และพ่อครัว

เติ้งกับภรรยาคอยแวะเวียนมาที่โต๊ะรับสมัครทุกวัน แต่ด้วยท่าทีเดียวกับพวกเพื่อนคนงานอีกหลายคน นั่นคือต้องรอบคอบระมัดระวัง

“คุณไม่รู้หรอกว่าจะมีอีกกี่โรงงานต้องเลิกกิจการ ผมจะคอยตรวจสอบเรื่องนี้ ก่อนลงชื่อในสัญญาจ้างงานใหม่” เติ้งกล่าว

“ถึงเราจะจนตรอกเรื่องเงิน แต่เราก็ไม่อยากถูกหลอกลวงซ้ำร่ำไป” เติ้งบอกเป็นประโยคสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น