“ว่าว” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ชาวจีนคิดค้นขึ้น พบครั้งแรกเมื่อ 2000 กว่าปีก่อนในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว (770-476 ปีก่อนประวัติศาสตร์) บ้างว่าปราชญ์คนสำคัญของจีนนาม “ม่อจื่อ” เป็นผู้คิดค้นขึ้นโดยใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะประดิษฐ์ว่าวไม้ขึ้น บ้างก็ว่าผู้คิดค้นว่าวที่แท้จริงคือช่างไม้ชื่อดังนาม “หลู่ ปัน” เขาได้เหลาไม้ไผ่ให้กลายเป็นนกไม้ลอยลม
ต่อมาในยุค 5 ราชวงศ์ “หลี่ เย่” ได้นำกระดาษมาประดิษฐ์เป็นว่าวจึงได้ขนานนามว่า “จื่อยวน” (纸鸢 - เหยี่ยวกระดาษ) กระทั่งต่อมามีผู้คิดนำสายดนตรีไปติดไว้ที่ปลายด้านบนของว่าว เมื่อเวลาว่าวลอยล้อลมจะบังเกิดเสียงคล้ายกับเสียงกู่เจิง (古筝) นับแต่นั้นมาชาวจีนจึงได้เรียกว่าวว่า “เฟิงเจิง” (风筝-แปลตรงตัวว่า พิณลม)
ในยุคแรกๆ ที่มีการคิดประดิษฐ์ว่าวขึ้นนั้นไม่ได้เพื่อเล่นสนุกสนานอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นไปเพื่อการส่งข่าวและภารกิจทางการทหาร ดังในบันทึกประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวง) สวรรคต ราชวงศ์ฉิน (221-202 ปีก่อนประวัติศาสตร์) ล่มสลายลง เซี่ยงอี่ว์ เจ้ารัฐฉู่ (ฌ้อป้าอ๋อง) และหลิวปัง เจ้ารัฐฮั่น ต่างก็สั่งสมกองกำลังทหารอันแข็งแกร่งเพื่อทำสงครามแย่งชิงอำนาจการปกครองเหนือดินแดน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “สงครามฉู่ฮั่น” (206-202 ปีก่อนประวัติศาสตร์)
จาง เลี่ยง แม่ทัพของหลิวปัง ได้บัญชาให้ทหารขึ้นไปกับว่าวยักษ์เพื่อสอดแนมความเคลื่อนไหวของทหารฉู่ และให้เด็กขึ้นไปพร้อมกับว่าวตัวใหญ่แล้วผิวขลุ่ยบรรเลงเพลงของรัฐฉู่ เมื่อทหารของฌ้อป้าอ๋องได้ยินเสียง ก็เริ่มรู้สึกคิดถึงบ้าน ขวัญและกำลังใจของทหารถูกทำลาย กองทัพแตกพ่าย ในที่สุดเซี่ยงอี่ว์ก็ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองสงบสุข วัฒนธรรมและเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง บรรยากาศความรื่นเริงบันเทิงใจแผ่ซ่านไปทั่ว ในที่สุดการเล่นว่าวก็กลายมาเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ส่วนรูปแบบของว่าวนั้นก็มีมากมายหลากหลาย เช่นว่าวนกนางแอ่น ปลา แมลงปอ มังกร หรือแม้กระทั่งค้างคาว เพราะในภาษาจีนค้างคาวอ่านว่า “เปียนฝู” (蝙蝠) ซึ่งเสียงคล้ายกับคำว่า “เปี้ยนฝู” (遍福-มีความสุขถ้วนหน้ากัน) หรือ “เปี้ยนฟู่” (遍富-ร่ำรวยถ้วนหน้ากัน) จึงนิยมนำมาทำเป็นว่าวเพราะเชื่อว่าจะนำความสุขความมั่งคั่งมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของเป็นต้น นอกจากว่าวรูปสัตว์แล้วก็ยังมีว่าวรูปคน เทพเจ้า ดอกไม้ ตัวอักษรจีนและอื่นๆ อีกมากมาย
แหล่งผลิตว่าวที่มีชื่อเสียงของจีนได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เมืองเหวยฝางในมณฑลซันตง เมืองหนันทงในมณฑลเจียงซู และเมืองหยางเจียงในมณฑลกว่างตง โดยว่าวของแต่ละแห่งก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างเช่นเมืองปักกิ่งนั้นนิยมเล่นว่าวนกนางแอ่น
ส่วนว่าวของเมืองเหวยฟาง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งว่าวโลก” ก็เป็นที่เลื่องลือถึงความงดงาม วัสดุชั้นเยี่ยม ความงามของภาพวาด และการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสรเสรี โดยก่อนหน้านี้ว่าวมังกรของเหวยฟาง ซึ่งยาวถึง 300 เมตร ไปคว้ารางวัลชนะเลิศจากงานเทศกาลว่าวนานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่อิตาลี และปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ว่าวเหวยฟาง และเช่นกันที่เหวยฟางก็มีการจัดงานเทศกาลว่าวโลกขึ้นทุกปี กลายเป็นแหล่งชุมนุมผู้พิสมัยว่าวจากทั่วประเทศจีนและต่างประเทศ
การเล่นว่าวนับเป็นการเล่นกีฬาที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นหลายประเทศทั่วโลกจึงนิยมเล่นว่าวเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งไทยเราก็มีว่าวมากมาย เช่น ว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา ว่าวอีลุ้ม เป็นต้น นอกจากเป็นกีฬาเล่นเพื่อสุขภาพแล้ว ก็ยังนิยมนำว่าวที่วาดด้วยลวดลายวิจิตรบรรจงมาแขวนผนังเป็นของตกแต่งบ้านอีกด้วย ปัจจุบันว่าวจีนได้จำหน่ายไปไกลถึงญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกาด้วย