หนานฟังตูซื่อเป้า - งานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออกแห่งกว่างโจว หรือ Canton fair ครั้งที่ 104 ได้เปิดฉากขึ้นแล้ววานนี้ โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าชมในวันแรก 5199 ราย และมีบริษัทจีนออกร้าน 22,341 ร้าน ถือว่าลดลงอย่างน่าใจหายจากปีก่อน
ทั้งนี้งานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออกแห่งกว่างโจวครั้งที่แล้ว มีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้น 73,439 คน โดยผู้เข้าชมงานมาจากทุกภูมิภาคของโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ปีนี้ผู้เข้าชมส่วนใหญ่ คือ นักธุรกิจจากฮ่องกง ส่วนนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงอย่างชัดเจน
ผู้ออกร้านรายหนึ่ง กล่าวว่า ก่อนที่งาน Canton fair จะเปิดขึ้น เธอได้ติดต่อกับลูกค้าทางสหรัฐและยุโรป ปรากฏว่า ลูกค้าประมาณ 30% บอกว่า ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงาน เตรียมเลิกกิจการแล้ว
“ผ่านไปครึ่งวันเพิ่งได้แลกนามบัตรกับลูกค้าไปแค่สิบราย งานครั้งนี้ถือว่ามีผู้เข้าชมงานน้อยที่สุดเท่าที่เคยออกงานมา” เจ้าของผลิตภัณฑ์ INTELL ให้ความเห็น
บริษัทอเมริกันหายเรียบ
ในส่วนของบริษัทธุรกิจที่ร่วมออกร้านในงาน Canton fair ปีนี้ มาจาก 45 ประเทศทั่วโลก แต่บริษัทจากสหรัฐอเมริกาได้ลดจำนวนลงอย่างชัดเจน โดยเหลือเพียง 4 บริษัทที่ร่วมออกบูททั้งสิ้น 10 บูท ลดลงจากปีที่แล้วที่มีบริษัทอเมริกัน 10 บริษัท ร่วมออกบูท 27 บูท ทั้งนี้บริษัทที่ร่วมออกร้านส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจีน ไต้หวัน เกาหลี และอินเดีย
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับศูนย์การส่งออกแห่งชาติจีน ถึงเรื่องที่ผู้เข้าชมงานน้อยมาก แต่ทางผู้จัดงานตอบว่างานเพิ่งเริ่มมีขึ้น ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะมีผู้เข้าชมงานน้อยมากจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามตัวแทนบริษัทที่ออกร้านหลายราย วิเคราะห์ถึงสาเหตุความซบเซาของงานว่า เกิดจากสามปัจจัย คือ หนึ่ง ภาวะวิกฤตการเงินโลก ซึ่งทำให้ค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาห์ลดลง สอง งานเพิ่งเริ่มขึ้น ผู้เข้าชมงานบางส่วนอาจกำลังทำบัตรเข้างานอยู่ สาม งาน Canton fair เปลี่ยนจากจัดงานปีละ 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง ทำให้ผู้เข้าชมงานกระจายไป
เจ้าภาพทุ่มงบ ลูกค้ายังมั่นใจเมดอินไชน่า ยอดขายพอไปไหว
ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซา แต่ทางกลุ่มบริษัทส่งเสริมการส่งออกแห่งกว่างโจว เจ้าภาพงานนี้ย้ำว่าได้ทุ่มเงินกว่า 76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดงานครั้งนี้ และมั่นใจว่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เข้าชมงานได้เช่นเดิม
บริษัท ซั่งไห่อู่จินคว้างฉ่านฟาจั่น จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่จากเซี่ยงไฮ้ บอกว่า ตลอดวันนี้แทบไม่พบลูกค้าจากยุโรปเลย แต่ลูกค้าจากเอเชียยังคงมาชมงานมากเหมือนเดิม โดยทางบริษัทประเมินว่า ยอดสั่งสินค้าคงไม่ลดลงมาก เพียงแต่ยอดสั่งสินค้าจากทางยุโรปอาจลดลง
ส่วนผู้เข้าชมงานจากบราซิลรายหนึ่ง บอกว่ายังมั่นใจสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ โดยวิกฤตการเงินขณะนี้ยังจำกัดอยู่ในสหรัฐ เศรษฐกิจบราซิลยังคงแข็งแกร่ง ดังนั้นยอดสั่งสินค้าคงไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วมากนัก
งัดสารพัดกลยุทธ์ ต้านวิกฤต
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา บริษัทต่างๆ ใช้กลยุทธ์หลากหลายเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ และดึงดูดลูกค้า
“วิธีที่ดีที่สุดที่จะจูงใจลูกค้า คือ รัฐบาลควรจะคืนภาษีให้มากขึ้น เพราะจะทำให้ต้นทุนการซื้อสินค้าถูกลง จะแข่งขันได้มากขึ้น” ผู้จัดการแผนกขายทวีปอเมริกาของบริษัท TCL ให้ความเห็น
ทางด้าน ไฮเออร์ ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าจีนกลับใช้อีกกลยุทธ์หนึ่ง “เรากำลังเพิ่มการลงทุน รอจนถึงเศรษฐกิจฟื้นตัว สินค้าของเราก็จะบุกตลาดได้ทันที” ฉาง จิงปิง ผู้แทนจากไฮเอออร์กล่าว
อย่างไรก็ตามกลยุทธ์นี้อาจใช้ได้เฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้ได้รับผลกระทบไม่มาก ทุ่มทุนต่อได้ ดังนั้นจึงสามารถแปรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ส่วนข้อเสนอที่ให้บริษัทจีน รุกตลาดใหม่ๆนั้นผู้แทนจากไฮเออร์ ให้ความเห็นว่า “เปิดตลาดใหม่เป็นเรื่องที่ดีแน่ เพราะตลาดหลักในอเมริกาและยุโรปจะซบเซาไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็การบุกเบิกตลาดก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ในชั่วข้ามคืน ผมกลัวว่าก่อนจะถึงเวลานั้น บริษัทจำนวนมากอาจตายเสียก่อน”
นอกจากนี้ยังมีหลายฝ่ายเสนอว่า ให้เปลี่ยนตลาดจากการส่งออก มาเป็นการขายในประเทศแทน แต่ผู้ผลิตบางรายกลับแย้งว่า
“ เปลี่ยนจากส่งออกมาขายในประเทศ เป็นเรื่องยาก เพราะชาวจีนยังไม่มีรายได้มากพอ เช่น ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะจำกัดอยู่แค่โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นยังขายไม่ไม่ดีนัก ดังนั้นการส่งออกยังต้องเป็นช่องทางหลักต่อไป” เจิง เว่ยเทา รองผู้อำนวยการบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่างโจวเกาเฟย กล่าว