xs
xsm
sm
md
lg

“หมอนกระเบื้อง” พาฝัน / อู่วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอนรูปเด็กอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม
“หมอน” เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตแต่ละวันของมนุษย์ และมีกันทุกครัวเรือนก็ว่าได้ โดยจากการคาดการณ์ของศาสตราจารย์เจสัน จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของอังกฤษระบุว่า ในช่วงชีวิตของคนเราจะต้องใช้เวลาอยู่บนหมอนรวมๆ กันแล้วเท่ากับ 23 ปีเป็นอย่างต่ำ ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยต้องนอนแบบอยู่กับเตียงแล้วล่ะก็ยิ่งใช้เวลานานกว่านั้นอีก ในเมื่อคนเราต้องอยู่กับหมอนนานกว่า 20 ปี ดังนั้นรูปร่างของหมอน ขนาด ความแข็งอ่อน และท่าการนอนก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อร่างกายของคนเราด้วย

ในประวัติศาสตร์ของจีนก็มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องหมอนไว้เช่นกัน โดยชาวจีนเริ่มแรกใช้หินเป็นหมอนหนุน ต่อมาก็ค่อยพัฒนาโดยการใช้วัสดุอื่นๆ มาทำแทน เช่น ไม้ หยก ทองแดง ไม้ไผ่ และกระเบื้อง ซึ่งในจำนวนนี้หมอนที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในสมัยก่อนก็คือ หมอนกระเบื้อง

หมอนกระเบื้องกำเนิดขึ้นในยุคที่ศิลปะการทำกระเบื้องกำลังเฟื่องฟู พบครั้งแรกในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) แต่เริ่มผลิตกันอย่างแพร่หลายก็ราวๆ สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) และถูกผลิตและเป็นที่นิยมสุดๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง จิน และหยวน (ศตวรรษที่ 10-14) โดยถือว่าหมอนกระเบื้องที่ผลิตจากฉือโจว เมืองหันตัน มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของประเทศจีนนั้นเป็นหมอนที่ประณีตและมีคุณภาพเยี่ยมที่สุด

โดยรูปร่างของหมอนกระเบื้องนั้นก็นิยมทำเป็นรูปร่างหลากหลากและงดงาม มีทั้งที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม เป็นรูปสัตว์ รูปร่างคน และรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่ลวดลายก็มีมากมาย เช่น สัตว์ ต้นไม้ รูปคน ภูเขา และสายน้ำ โดยรูปร่างและลวดลายของหมอนกระเบื้องนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นกระจกสะท้อนวัฒนธรรมประเพณี สภาพสังคมในเวลานั้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ส่วนเทคนิกในการตกแต่งหมอนกระเบื้องนั้นก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับยุคสมัยและสถานที่ผลิต ดังเช่นช่วงก่อนราชวงศ์ถังและ 5 ราชวงศ์ (ศตวรรษที่ 7-10) หมอนกระเบื้องส่วนใหญ่มีลักษณะส่วนใหญ่งอโค้งๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งและจิน (ศตวรรษที่ 10-13) มีการวาดลวดลายและเทคนิกการตกแต่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้หมอนมีความสวยงามยิ่งขึ้น

กระทั่งล่วงเลยมาจนถึงราชวงศ์หมิงและชิง (ค.ศ.1368-1911) ก็ปรากฎวัสดุทำหมอนที่ดีกว่า ดังนั้นหมอนกระเบื้องจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง

นอกจากหมอนกระเบื้องแล้วยังมีหมอนประเภทอื่นๆ อีกอาทิ ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) มีนักประวัติศาสตร์ชื่อดังนาม “ซือหม่า กวง” เขาได้ใช้ขอนไม้กลมๆ มารองหนุนเป็นหมอน ครั้นกำลังนอนหลับสนิทอยู่นั้น พอขยับเพียงนิดหัวก็ลื่นตกลงมา เขาตกใจตื่นในทันทีและเกิดความมุมานะขึ้นมาอ่านหนังสือต่อ ซือหม่า กวงจึงได้ตั้งชื่อหมอนนี้ว่า “หมอนสะดุ้ง” นอกจากนี้ในวัฒนธรรมประเพณีจีน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงหรือบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ในยามนอนคนโบราณยังมักใส่สมุนไพรไว้ในหมอนด้วย เรียกว่า “หมอนยา”
หมอนนกเป็ดน้ำของราชวงศ์ถัง
หมอนรูปสิงห์ 2 ตัวกับดอกไม้ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองยูนนาน
หมอนกระเบื้องรูปดอกบัวสีดำ เป็นผลงานของฉือโจว ในยุคราชวงศ์ซ่ง เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ส่านซี
กำลังโหลดความคิดเห็น