เอเจนซี - ห้าหน่วยงานรัฐบาล นำโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ถึงผลการกำหนดมาตรฐานระดับเมลามีนในผลิตภัณฑ์นมและอาหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุณหภูมิความหวาดกลัวเกี่ยวกับข่าวฉาวเรื่องนมผงเจือสารเมลามีน
ตามแถลงการณ์ระบุว่า มาตรฐานที่กำหนดขึ้นนั้นจะจำกัดสารเมลามีนในนมผงดัดแปลงสูตรสำหรับทารกให้มีได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมอื่นๆ รวมทั้งน้ำนม ต้องไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
โดยสารเมลามีนนั้น เป็นสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายประเภท อาทิ พลาสติก สี และปุ๋ย ผู้ที่รับสารนี้เข้าไปอาจล้มป่วยด้วยอาการนิ่วในไต ระบบปัสสาวะมีปัญหา นอกจากนี้สารเมลามีนยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีปริมาณไนโตรเจนสูง เมื่อผสมลงไปในนมจะทำให้นมดูเหมือนกับมีโปรตีนสูง จึงทำให้มีเกษตรกรมักง่ายบางรายใส่สารดังกล่าวลงไปในนม เป็นเหตุให้มีเด็กทารกป่วยเป็นโรคนิ่วในไตนับหมื่นคน และเสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย
และล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 ต.ค.) ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าขณะนี้ยังมีเด็กจีนถึง 10,666 นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหลังจากดื่มน้ำนมและนมผงปนสารพิษ ในจำนวนนี้มี 8 รายที่อาการยังน่าเป็นห่วง ส่วนตัวเลขเด็กทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคนมเหล่านี้นั้นทางการไม่ได้เปิดเผย แต่จากรายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่าน่าจะมีมากเฉียด 94,000 คน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจีนยังไม่เคยกำหนดมาตรฐานควบคุมระดับเมลามีนในอาหาร จนปล่อยให้ปริมาณเมลามีนในนมผงของบริษัทซันลู่ กรุ๊ปที่ตรวจพบเมื่อเร็วๆ นี้ พุ่งสูงถึง 2,563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว
ขณะที่หวัง เสียว์หนิง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ว่า มันเกือบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ปริมาณสารเมลามีนอยู่ในระดับ 0 เพราะส่วนใหญ่ก็มักมีสารเคมีจำนวนน้อยจากบรรจุภัณฑ์ออกมาปะปนในนมหรือผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ บ้าง แต่เขาก็เตือนว่า “การเจือสารปนเปื้อนลงไปโดยเจตนาเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด”
ด้านเฉิน จวิ้นซือ นักวิจัยจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีนกล่าวว่า มาตรฐานที่กำหนดขึ้นข้างต้นจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถประเมินได้ว่าสารเมลามีนที่ปนเปื้อนอยู่นั้นเป็นการจงใจผสมลงไปหรือไม่ “หากปริมาณมากกว่า 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เราก็เชื่อได้ว่าเป็นการจงใจใส่สารลงไป” โดยมาตรฐานใหม่ของจีนนั้นก็สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและ การเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วย