xs
xsm
sm
md
lg

Skype เหยื่อล่าสุดระบบเซ็นเซอร์จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องหมายการค้าของ Skype
แฉ Skype โปรแกรมเช็ทยอดฮิตถูกสอดแนมในจีน ตรวจจับคำอ่อนไหวทางการเมือง และเก็บข้อมูลผู้ใช้
         
          Skype เป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รวมทั้งสนทนา ส่งไฟล์ และประชุมผ่านระบบวิดีโอได้ โดยมีการใช้งานคล้ายกับโปรแกรม Msn Messenger และ Yahoo Messenger ที่เราคุ้นเคยกันดี
         
          ล่าสุดกลุ่มนักวิจัย Citizen Lab จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ออกมาเปิดเผยว่า การใช้บริการ Skype ในจีนมีการตรวจจับและเซ็นเซอร์ข้อความที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น “ทิเบต” “พรรคคอมมิวนิสต์” “เอกราชไต้หวัน” และ “ฝ่าหลุนกง” เป็นต้น
         
          กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ยังอ้างว่าผู้ให้บริการ Skype ในจีนยังเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการในระบบซึ่งไม่มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวมากพอ ซึ่งนี่ถือเป็นการสอดแนมทางการเมือง และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
         
          ทั้งนี้ บริษัทอีเบย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Skype ได้ออกมายอมรับเมื่อวันศุกร์(3 ต.ค.)ว่า TOM online ผู้ร่วมทุนชาวจีนได้มีการตรวจจับและเก็บข้อมูลผู้ใช้งานจริง โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัทแม่ของ Skype ทราบ นอกจากนี้ทาง Skype ยังขอโทษและสัญญาว่าจะปรับปรุงระบบความปลอดภัยของระบบให้ดีขึ้น
         
          ข้างฝ่าย TOM online ผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนก็ออกมาโต้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงระบบกลั่นกรองคำและเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตของจีน ซึ่งระบบเช่นนี้ก็ใช้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกรายในจีน และก็มีใช้ทั่วไปในหลายประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ระบุไว้ในข้อตกลงร่วมกันในปี 2006 แล้ว
         
          ผู้คิดค้น Skype คือสองโปรแกรมเมอร์ชาวเอสโทเนีย ปัจจุบัน Skype มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลักเซมเบิร์ก และมีสำนักงานย่อยอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทุกวันนี้ Skype มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 13,230,315 คนทั่วโลก
         
       สำหรับในจีน Skype ทำธุรกิจร่วมกับ TOM online ยักษ์์ใหญ่ด้านอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งของจีน
         
          ทั้งนี้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ทั้ง AOL, Google, Microsoft, Yahoo ต่างก็เคยถูกกล่าวว่าร่วมมือกับรัฐบาลจีนเพื่อสอดแนมและเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่าง ซึ่งท้ายสุดผู้ประกอบการต่างๆ ก็ออกมายอมรับว่าจำเป็นต้องทำตามกฎหมายจีนเพื่อให้สามารถทำธุรกิจในแดนมังกร ที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลกได้
         
          นายนิคลาส เซ็นสตอม ผู้บริการของ Skype ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “บางครั้งผมก็ไม่ชอบกฎหมายควบคุมธุรกิจของเยอรมนี อังกฤษ หรือสหรัฐฯ แต่เมื่อต้องทำธุรกิจก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านั้น สิ่งที่ผมทำได้คือพยายามเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งกรณีในจีนก็เป็นเช่นเดียวกัน”
         
          บัญชีคำต้องห้าม
          กลุ่่มรณรงค์เสรีภาพสื่อหลายองค์กรได้รวบรวมคำต้องห้ามสำหรับแวดวงอินเตอร์เน็ตจีน ซึ่งคำเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย, การเรียกร้องเอกราชของเขตปกครองตัวเองชาชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง และเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต, เหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน, ไต้หวัน, ชื่อนักเคลื่ิ่อนไหวที่รัฐบาลเพ่งเล็ง, ลัทธินอกรีต รวมทั้งชื่อสิ่งพิมพ์ที่ต่อต้านรัฐบาลจีน ตัวอย่างคำต้องห้าม เช่น
         
          ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, เผด็จการ, ต่อต้านคอมมิวนิสต์, เทียนอันเหมิน, เอกราชชินเจียง, เอกราชทิเบต, 4 มิถุนายน (วันเกิดเหตุนองเลือดที่เทียนอันเหมิน), ทะไล ลามะ, สถานีวิทยุ Voice of America, หลี่ หงจื่อ (ผู้นำลัทธิฝ่าหลุนกง)
         
           นอกจากนี้นักวิจัยบางกลุ่มยังอ้างว่ามีการบล็อกคำพื้นฐานอื่นๆด้วย เช่น เหมา เจ๋อตง, เจียง เจ๋อหมิน, เติ้ง เสี่ยวผิง, โรคซาร์ส, แผ่นดินไหว, พรรรคก๊กมินตั๋ง, นมผง, โอลิมปิก, รวมทั้งคำว่า Skype ก็ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในคำต้องห้าม
         
          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนหลายคนกลับแย้งว่า คำเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถสืบค้นได้ตามปกติจากอินเตอร์เน็ตในจีน แต่ทางฝ่ายนักวิจัยก็อ้างว่าการสืบค้นจากต่างสถานที่ และต่างเว็ปไซต์ก็อาจให้ผลที่แตกต่างกันได้
         
          เว็ปไซต์ต้องห้าม
          ในอดีต โดยเฉพาะช่วงก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 เว็ปไซต์จำนวนมากไม่สามารถเข้าใช้งานได้ในประเทศจีน ตัวอย่างเว็ปไซต์ชื่อดัง ได้แก่ Voice of America, BBC News, Yahoo! Hong Kong และ Wikipedia โดยเว็ปไซต์ที่ถูกบล็อกส่วนใหญ่จะเป็นเว็ปข่าวจากตะวันตก ไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งเว็ปไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฝ่าหลุนกง ทิเบต ทะไล ลามะ เหตุเรียกร้องทางการเมือง รวมทั้งการวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน
         
         อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ลดความเข้มงวด และปลดล็อกเว็ปไซต์จำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะเว็ปจากไต้หวันและฮ่องกงส่วนใหญ่จะสามารถใช้งานในแผ่นดินใหญ่ได้เเล้ว
         
          เสริชเอนจิ้น หาไม่เจอ
          วิธีการควบคุมอินเตอร์เน็ตอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้การค้นหาผ่านเสริชเอนจิ้นค้นไม่เจอ เสริชเอนจิ้นทั้งของนอกและของจีน เช่น yahoo, Google, Baidu ต่างติดตั้งระบบคัดกรองคำทั้งสิ้น โดยหากมีการค้นหาคำที่ไม่เหมาะสมอาจมีข้อความเตือน เช่น “ตามกฎหมายแล้ว ผลการค้นหาบางอย่างอาจไม่ปรากฏ”
         
          กฎเหล็กคุมเข้ม
          อินเตอร์เน็ตในจีน ถูกควบคุมโดยกฎหมายและระเบียบมากกว่าหกสิบฉบับ ตั้งแต่การขอจดทะเบียนชื่อเว็ปไซต์ ขออนุญาตประกอบกิจการอินเตอร์เน็ต การเปิดและควบคุมอินเตอร์เน็ตบาร์ รวมทั้งการเผยแพร่โฆษณาข้อความผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย
         
          กฎหมายควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตฉบับสำคัญ เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2000 ซึ่งรัฐสภาจีนได้ออกกฎหมายที่ 202 ระบุห้ามเว็ปไซต์ที่ตั้งในประเทศจีนลงข่าวที่มาจากสื่อต่างชาติก่อนได้รับอนุญาต โดยสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเผยแพร่ข่าวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนเว็ปไซต์อื่นๆให้อ้างอิงข่าวจากสื่อที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น นอกจากนี้เจ้าของเว็ปไซต์ยังต้องเก็บข้อมูลย้อนหลัง 60 วันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลาอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ตต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ลบหลู่เกียรติภูมิของชาติ สร้างความปั่นป่วนทางสังคม และฝ่าฝืนนโยบายรัฐ
         
          รัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาควบคุมข้อความในอินเทอร์เน็ตเนื่องจากมีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการประท้วงและเรียกร้องเรื่องต่างๆ ทั้งการรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อม ต่อต้านคอร์รับชั่น ต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งนี้มีตำรวจอินเตอร์เน็ตในจีนมากกว่า 30,000 คน ที่คอยกลั่นกรองข้อความในเว็ปไซต์ดังๆ ของจีน เช่น Sohu, Sina เป็นต้น
         
          โครงการโล่ทองคำ - กำแพงเมืองจีนในโลกออนไลน์
          โครงการโล่ทองคำ 金盾工程 ดำเนินการโดย กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ ตั้งแต่ปี 1998 โดยจัดสร้างระบบคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์สำหรับตำรวจ ภายใต้งบประมาณกว่า 6,400 ล้านหยวน ซึ่งเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้จะตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลอินเตอร์เน็ตแบบอัตโนมัติ ซึ่งเว็ปไซต์ที่ถูกบล็อกมักจะแสดงผลว่าเป็นความขัดข้องทางเทคนิค เพื่อที่จะให้การเซ็นเซอร์ไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป
         
          โครงการโล่ทองคำนี้ ถูกเรียกว่าเป็นกำแพงเมืองจีนของอินเตอร์เน็ต หรือ Great Firewall of China

          เสรีภาพอันแสนสั้น
          ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลจีนได้เปิดเสรีอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ตามคำมั่นที่ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล อย่างไรก็ตามนักข่าวต่างชาติกว่า 20,000 คน ที่เข้ามาทำข่าวในศูนย์สื่อมวลชนได้ร้องเรียนผ่านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนว่า ยังมีบางเว็ปไซต์ที่ยังเข้าใช้งานไม่ได้ ซึ่งต่อมาทางการจีนก็ได้ยกเลิกบล็อกเว็ปไซต์จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังคงการบล็อกเว็ปไซต์อีกจำนวนหนึ่งด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เช่น เว็ปของกลุ่มฝ่าหลุนกง
บัตรเติมเงิน Skype ในจีน
โฆษณาSkypeในจีน
หน้าตาโปรแกรม Skype
วิกิพีเดียเคยเข้าไม่ได้ที่จีน
BBC news ก็เคยเข้าไม่ได้
baidu สุดยอดเสริชอินจิ้นจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น