ซีน่าเน็ต - 10 ก.ย. จะตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day) ครั้งที่ 6 ทางอาสาสมัครป้องกันการฆ่าตัวตายของปักกิ่งได้เปิดเผยว่า อัตราผู้ที่จะฆ่าตัวตายนั้นมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนในสังคมจึงควรเอาใจใส่กัน และสร้างภูมิคุ้มกันในจิตใจของตนเองมากขึ้น
จากสถิติของสมาคมสุขภาพอนามัยทางจิตของจีนได้เปิดเผยว่า การฆ่าตัวตายได้กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 5 ในประเทศจีน โดยรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด,มะเร็ง,โรคระบบทางเดินหายใจและอุบัติเหตุ
โดยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 15-34 ปี การฆ่าตัวตายได้กลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง ซึ่งนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ทุกๆ 2 นาที จะมีชาวจีนฆ่าตัวตาย 1 คน และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 250,000 คน และอีกจำนวนมากที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จแล้วกลายเป็นผู้พิการในระดับที่แตกต่างกันไป
และเมื่อเทียบกับนานาชาติแล้ว การฆ่าตัวตายของจีนยังมีลักษณะพิเศษโดยอัตราการฆ่าตัวตายของคนในชนบทมากกว่าคนในเมืองถึง 3 เท่า ผู้ชราในชนบทมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ชราในเมืองถึง 5 เท่า โดยทั่วประเทศมีคนในชนบทฆ่าตัวตายมากถึง 90% อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 25% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะมีอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า
5 ปี เพิ่ม 5 เท่า
“เราได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือทุกวัน หลายครั้งมักจะถูกปลุกให้ตื่นมากลางดึก” จู วั่นหลี่ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำสำนักงานช่วยชีวิตระบุ
จูได้ระบุว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2003 เป็นต้นมา หลังจากมีการเปิดสายฮอตไลน์ช่วยชีวิตขึ้น ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในเมืองมีอัตราแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมาก ในปีนี้เฉพาะในเมืองมีผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือมากกว่า 2,500 คน และ 60% ของคนที่โทรเข้ามาปรึกษานั้นมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า”
“ครอบครัว-ชีวิตรัก” สาเหตุหลักปัญหาฆ่าตัวตาย
คุณจูได้แนะนำว่า เมื่อวิเคราะห์จากผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาครอบครัว และความรักเป็นตัวผลักดันหลักให้เกิดการฆ่าตัวตาย โดยคิดเป็นเกือบ 30% ซึ่งในยุคสมัยที่ทัศนคติเรื่องความรักเปิดกว้างขึ้นนี้ ทำให้ปัญหาการนอกใจนำมาซึ่งการฆ่าตัวตายเป็นอย่างมาก
สิ่งที่แตกต่างไปจากในอดีตก็คือ สังคมที่มีการแข่งขันสูงกำลังท้าทายความสามารถที่จะยอมรับกับปัญหาของคน ดังนั้นปัญหาแรงกดดันในชีวิตการงาน ได้ขึ้นมาเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็นเกือบ 20%
ไม่เพียงเท่านั้น จูยังชี้ว่าเมื่อมาแยกแยะผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาและขอความช่วยเหลือแล้ว ผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นผู้ที่มีไอคิวสูง ทว่าเนื่องจากหลายคนเรียกร้องความสมบูรณ์แบบ จึงไม่สามารถสงบจิตใจ หรือยอมรับความสะเทือนใจได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องพบเจอกับปัญหาการเข้าสังคม การทำงาน และเศรษฐกิจ
อย่างเช่นบางคนที่ชอบคิดว่าตนเองลำบากกว่าผู้อื่น มักจะเป็นผู้ที่เห็นแต่ด้านที่โดดเด่นของผู้อื่น โดยไม่ได้ไปทำความเข้าใจว่าก่อนที่ผู้อื่นได้เคยผ่านความพยายามอย่างยากลำบากมาอย่างไร ในขณะเดียวกัน มีผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายไม่น้อยที่มีลักษณะเป็นคนเก็บกด ขาดความรัก ความเอาใจใส่จากคนใกล้ชิดและสังคม
ดังนั้นคนเหล่านี้จึงควรที่จะพยายามปรับสมดุลจิตใจของตน มองปัญหาด้วยสติและเหตุผล รู้จักถนอมรักษาชีวิตที่มีค่า นอกจากนั้นต่อผู้ที่มีสภาพจิตใจหรือนิสัยเช่นนี้ คนที่เป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงานควรที่จะให้อภัย และเอาใจใส่ที่จะนำพาให้พวกเขาออกมาจากเงามืดในชีวิต
ที่สำคัญคือนอกจากรอความเอาใจใส่จากภายนอกแล้ว ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เราควรจะรู้จักที่จะรู้จักปรับตัว สร้างสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และเห็นถึงคุณค่าชีวิตของตน