挂 (guà) อ่านว่า กว้า แปลว่า แขวน
羊 (yáng) อ่านว่า หยาง แปลว่า แพะ
头 (tóu) อ่านว่า โถว แปลว่า หัว
卖 (mài) อ่านว่า ไม่ แปลว่า ขาย
狗 (gǒu) อ่านว่า โก่ว แปลว่า สุนัข
肉 (ròu) อ่านว่า โร่ว แปลว่า เนื้อ
อ๋องรัฐฉีนาม ฉีหลิงกง มีนิสัยแปลกประหลาดประการหนึ่ง คือชมชอบให้สตรีรอบกายสวมใส่เสื้อผ้าและเลียนแบบท่าทางของบุรุษเพศ ต่อมาความนิยมนี้จึงค่อยๆ แพร่ออกจากพระราชวังของอ๋อง กระจายไปทั่วเมือง ส่งผลให้หญิงสาวทั้งเมืองต่างแต่งกายเช่นเดียวกับบุรุษไม่มีการแบ่งแยกหญิง-ชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สุดแสนจะผิดธรรมชาติ
เมื่อฉีหลิงกงพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็เริ่มรู้สึกได้ว่า ค่านิยมดังกล่าวเป็นเรื่องพิสดารเกินไป จึงได้รับสั่งให้ บรรดาขุนนางทั้งหลายดำเนินการห้ามสตรีเพศแต่งกายบุรุษอีกต่อไป โดยกำชับว่า "หากวันหน้าวันใดพบเห็นสตรีแต่งการเลียนแบบบุรุษที่ใดก็ตาม ให้ทำการฉีกเสื้อผ้าตัดสายรัดเอวของพวกเธอได้ทันที"
ทั้งนี้ฉีหลิงกงเข้าใจว่ามาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวของพระองค์จะสามารถแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ทว่าผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้ว่าจะมีสตรีที่แต่งกายเช่นบุรุษเพศไม่น้อยที่ถูกลงโทษด้วยการฉีกเสื้อผ้าและตัดสายรัดเอวแบบบุรุษออกจากร่างกาย แต่ก็ยังมีสตรีที่แต่งกายแบบบุรุษเดินอยู่ทั่วเมือง
ครั้งหนึ่งฉีหลิงกงได้พบกับ ขุนนางนาม เอี้ยนอิง จึงตรัสถามเขาว่า "ข้าได้ออกคำสั่งห้ามมิให้หญิงแต่งกายแบบชาย ทั้งยังใช้มาตรการเด็ดขาดฉีกเสื้อผ้า ตัดสายรัดเอว แต่เหตุใดจึงไม่สามารถห้ามปรากฏการณ์นี้ได้?"
เอี้ยนอิงตอบว่า "ในเมื่อท่านอ๋องยังคงให้สตรีรอบกายที่อยู่ในวังแต่งกายเลียนแบบบุรุษ แต่กลับสั่งห้ามสตรีนอกวังแต่งกายเช่นนั้น อุปมาดั่งเช่นหน้าร้านแขวนหัวโคแต่ในร้านกลับขายเนื้อม้า เช่นนี้จะสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้เช่นไร หากท่านสั่งห้ามสตรีในวังแต่งกายเลียนแบบบุรุษด้วยเช่นนั้นสตรีนอกวังก็จะไม่กล้าฝ่าฝืนคำสั่งเป็นแน่"
คำพูดของเอี้ยนอิงดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็นสำนวนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเปลี่ยนเป็น "แขวนหัวแพะ ขายเนื้อสุนัข" ใช้เปรียบเปรยถึงการใช้ฉลากปลอมสินค้าเก๊หลอกลวงผู้บริโภค หรือ ใช้คำพูดบิดเบือนไม่ตรงกับความเป็นจริง