ปี 2008 นี้ชาวจีนเขาเชื่อว่าเป็นปีแห่งโชคดี เพราะเลข 8 ถือเป็นเลขมงคลตามความเชื่อของจีน และยังเป็นปีที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกด้วย โดยถือฤกษ์ดีเปิดการแข่งขันในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 08 ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่หนุ่มสาวหลายคู่ตกลงปลงใจจะลั่นระฆังวิวาห์ในปีนี้ บางคนก็ถือฤกษ์วันเดียวกับวันเปิดโอลิมปิกเลยก็มี
แม้ว่าเชื่อเรื่องโชคลางอยู่บ้าง แต่แนวคิดการจัดงานแต่งงานของหนุ่มสาวสมัยใหม่ส่วนใหญ่กลับต้องการจัดงานอย่างเรียบง่าย เน้นความโรแมนติก หรือบางคู่แค่จูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตเท่านั้น ตรงข้ามกับความต้องการของบิดามารดา ที่ต้องการให้งานแต่งของลูกชายลูกสาวจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ไม่เพียงเพื่อประกาศว่าลูกๆ ของพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ และกำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัวของตนเองแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวด้วย
นอกจากนี้ในวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของบ่าวสาว พ่อแม่ต่างก็ต้องการหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุด ความเป็นสิริมงคลต่างๆ ให้แก่ลูกๆ ด้วยการพิถีพิถันในทุกรายละเอียดและประเพณีการจัดพิธีแต่งงานตามที่ได้รับสืบทอดจากรุ่นปู่ย่ามา แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ “ถือ” มากมายเท่าสมัยโบราณก็ตาม
โดยในวันวิวาห์นั้นเจ้าบ่าวจะต้องเดินทางไปรับเจ้าสาวที่บ้านของฝ่ายหญิงช่วงสายๆ ส่วนงานเลี้ยงฉลองสมรสจะเริ่มในตอนค่ำ เมื่อมาถึงญาติมิตรของฝ่ายหญิงจะตั้งด่าน "กั้นประตูเงินประตูทอง" และไม่ยอมเปิดทางให้จนกว่าจะได้อั่งเปาจากฝ่ายเจ้าบ่าว
หลังฝ่าด่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในบ้านฝ่ายหญิงแล้ว คู่บ่าวสาวทั้งสองจะทำพิธียกน้ำชา หรือ ขั่งเต้ ให้แก่พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง โดยเจ้าสาวจะแสดงความขอบคุณที่พ่อแม่เลี้ยงดูให้เติบใหญ่จนถึงวันออกเรือน ส่วนเจ้าบ่าวก็ให้คำมั่นว่าจะดูแลลูกสาวของพวกท่านเป็นอย่างดีที่สุด เมื่อดื่มน้ำชาแล้วญาติผู้ใหญ่จะให้พรบ่าวสาวทั้งคู่ พร้อมทั้งให้อั่งเปาตบท้ายเพื่อเป็นสิริมงคล
จากนั้นบ่าวสาวก็จะทานขนมลูกบัว (莲子 อ่านว่า เหลียนจื่อ) ผสมพุทราแดง (红枣 อ่านว่า หงจ๋าว) เพราะเสียงอ่านในภาษาจีนของทั้งสองคำนั้น พ้องเสียงกับคำว่า “มีลูกชายในเร็ววัน” (ส่วนครอบครัวจีนในประเทศไทยนั้นนิยมทานขนมอี๋ คล้ายบัวลอยต้มน้ำตาล ย้อมสีชมพู เพื่อความเป็นสิริมงคล และใส่ไข่ในขนมด้วย หากทานไม่หมดบางครอบครัวถือเคล็ดตีไข่ให้แตก จะได้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง)
ยามที่เจ้าสาวจะออกจากบ้านไปเข้าพิธีแต่งงานกับเจ้าบ่าวนั้น ยังถือเคล็ดให้พี่ชาย ลูกพี่ลูกน้องชาย ลุง หรือญาติฝ่ายหญิงที่เป็นชาย ยกเว้นบิดา แบกเจ้าสาวขึ้นหลังออกจากบ้าน เชื่อว่าปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ฝ่ายหญิงที่แต่งออกไปเป็นสมาชิกของครอบครัวอื่นนับแต่นี้ จะไม่นำพาโชคดีและความมั่งคั่งออกจากบ้านพ่อแม่ไป
ในระหว่างพิธีแต่งงานคู่บ่าวสาวจะทำการกราบไหว้ฟ้าดิน โดยปัจจุบันนั้นพิธีการนี้จะไปจัดในงานเลี้ยงฉลองสมรส เมื่อเสร็จสิ้นก็ถือว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะถือแก้วไวน์ หรือจอกเหล้าขาว และยืนหันหน้าเข้าหากัน จากนั้นคล้องแขนและดื่มไวน์ ซึ่งเป็นการแสดงว่าการสมรสครั้งนี้ได้พันธนาการสองดวงใจไว้อย่างแนบแน่น
พิธีการต่างๆ ดำเนินไปจนกระทั่งมาถึงขั้นตอนหนึ่งที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด นั่นคือคู่บ่าวสาวจะต้องเดินไปดื่มขอบคุณแขกที่มาร่วมงานทุกๆ คน ซึ่งแต่ละโต๊ะก็จะมีแขกนั่งอยู่ประมาณ 10 คน ทำเอาบางทีบ่าวสาวอาจเมาไปเลยก็มี นอกจากดื่มขอบคุณแล้ว เจ้าสาวมีธรรมเนียมต้องจุดบุหรี่ให้แก่แขกชายทุกคนที่มาร่วมงาน เพราะคำว่า “จุด” ซึ่งในภาษาจีนอ่านว่า หยาง นั้นมีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “โชคดี” โดยแขกจะทำอย่างไรก็ได้ให้เจ้าสาวจุดบุหรี่ได้ยากที่สุด เพื่อให้เจ้าสาวพยายาม ส่วนแขกก็จะพร่ำกล่าวคำว่า “หยาง” ซ้ำๆ กัน
เสร็จจากงานเลี้ยงฉลอง ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงไปแล้ว แต่บ่าวสาวยังพักผ่อนไม่ได้ เพราะยังเหลืออีก 1 ด่านที่ต้องรับมือ นั่นคือ ประเพณีญาติมิตรของบ่าวสาวบุกห้องหอ เพื่อหยอกเย้าคู่บ่าวสาว
สำหรับแขกเหรื่อแล้วนี่ถือเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานที่สุด เพราะพวกเขาจะขนเกมต่างๆ มาให้คู่บ่าวสาวเล่น แต่สำหรับบ่าวสาวแล้ว คงรู้สึกยุ่งยากมิใช่น้อย
ความเชื่อประเพณีป่วนห้องหอนั้น บ้างเล่าว่ามีที่มาจากความเชื่อโบราณที่ว่า ในห้องหอมักมีภูตผีปีศาจคอยก่อกวน ดังนั้นเพื่อปัดเป่าพลังหยางของปีศาจและเพิ่มพลังหยินให้เข้มแข็ง ชาวบ้านจึงมีคำพูดว่า “คนไปป่วน ผีก็ป่วน”
บ้างเล่าว่า เป็นเพราะสมัยก่อนคู่บ่าวสาวมักแต่งงานกันทั้งๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกันดี หรืออาจถึงขั้นไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดังนั้น ในคืนเข้าห้องหอพวกเขาอาจรู้สึกเก้ๆ กังๆ ได้
ดังนั้น ญาติมิตรจึงได้เข้ามาสร้างความครึกครื้น เพื่อละลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างทั้งสอง แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้มีขึ้นหยอกล้อและอวยพรคู่บ่าวสาวเสียมากกว่า