xs
xsm
sm
md
lg

คนแดนมังกรอึ้ง หลังตีตั๋วดู“กังฟู แพนด้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องกังฟู แพนด้า -ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
วอชิงตันโพสต์ - “กังฟู แพนด้า” ภาพยนตร์แอนนิเมชั่นแอ๊คชั่นเผ่าพันธุ์จีน แต่ฮอลลิวู้ดให้กำเนิด กระทบ“ปม”ในสังคมแดนมังกรอย่างจัง จนเกิดคำถามในหมู่ผู้คนแดนมังกรว่า เหตุใดคนจีนจึงไม่ปิ๊งไอเดียสร้างหนังเรื่องนี้ก่อนคนอเมริกัน?

“กังฟู แพนด้า” ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม จนถึงขณะนี้ กวาดเงินจากโรงภาพยนตร์ทั่วโลกไปแล้วถึง 350 ล้านดอลลาร์จากฝีมือผู้เขียนบทและผู้กำกับวงการฮอลลิวู้ด ซึ่งดำเนินเรื่อง โดยอาศัยฉากเหตุการณ์ในจีนสมัยโบราณ ชูวัฒนธรรม,เทพนิยาย และสถาปัตยกรรมของจีนให้โดดเด่น ผ่านตัวละครสำคัญคือหมีแพนด้าจอมขี้เกียจ นามว่า อาโป

อาโปช่วยพ่อขายบะหมี่ในร้าน แต่ในที่สุดก็ทำความฝันของตัวเอง ที่อยากเป็นจอมยุทธ์กังฟูได้สำเร็จ ภาพยนตร์ยังใช้นักพากษ์เป็นดาราฮอลลิวู้ดชื่อดัง อย่างแองเจลิน่า โจลี่ และ แจ็ค แบล็ค ซึ่งให้เสียงพากษ์

ขณะที่เข้าฉายในจีนก็ทำลายสถิติรายได้ที่นั่น โดยทำเงินถึง 19.29 ล้านดอลลาร์ระหว่างหนังลงโรงวันแรกเมื่อวันที่ 21มิถุนายน-6 กรกฎาคม

หลังจากได้ชม “กังฟู แพนด้า” ชาวจีนมากมายพากันให้ความเห็นต่อคำถามที่ว่า ทำไมจึงกลายเป็นฝรั่งไป ที่นำเรื่องราวเกี่ยวกับจีน มาสร้างได้อย่างบรรเจิดขนาดนี้?
การแสดงทรรศนะ ที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นว่า จีนสามารถมองสำรวจตัวเองได้อย่างที่ชาวโลกเค้ามองมาหรือไม่? และเป็นการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเหมาะเจาะกับช่วงเวลา ที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งใกล้จะเปิดฉาก

ชาวจีนหลายคนตำหนิว่า ชาวจีนขาดจินตนาการ เพราะรัฐบาลเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างเข้มงวด และหวาดกลัวจนเกินไปเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของประเทศที่จะปรากฏต่อสายตาชาวโลก

“ เนื้อเรื่องมันธรรมด๊า ธรรมดาสำหรับเรา มีอยู่ในเรื่องอมตะทุกเรื่อง” หวง หรุ่ยเหลียน ผู้บริหารการตลาดด้านกีฬา ซึ่งยอมเข้าแถวยาวเหยียด ซื้อตั๋ว พยายามอธิบายว่าเหตุใดผู้สร้างหนังจีน จึงไม่เห็นว่าแนวเรื่องของกังฟู แพนด้ามีความแปลกพิสดารพอจะมาทำเป็นหนังตีตลาด

แต่เธอนั้นบอกว่า ดูหนังเรื่องนี้สนุกดี

“คนจีนกำลังละทิ้งวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ที่บรรพบุรุษเรามอบให้ นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สนใจสิ่งที่เรามี” หวัง หัวหมินผู้จัดการด้านการเงิน วัย 26 ปี ชี้

นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า ระบบการศึกษาในจีนมุ่งเรื่องอุดมการณ์ แทนที่จะกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักคิดสร้างสรรค์ เขาบอกว่า ไม่เสียใจที่คนอเมริกันสร้างเรื่อง“กังฟู แพนด้า” เป็นคนแรก

“ ทำไมเราถึงไม่ควรยอมให้ชาวต่างชาติมาสร้างหนังทำนองนี้ล่ะ? อีกไม่ช้าไม่นาน ชาวจีนก็จะตระหนักว่าสิ่งดีที่สุด ที่เรามีในตอนนี้ คือสิ่งที่เราเคยมี”

นอกจากนั้น ผู้ชมแดนมังกรยังชมเชยฮอลลิวู้ด ที่นำองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของจีนมาใส่ในหนังได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ฉากศิลปะการต่อสู้ การบรรยายถึงความคาดหวังของครอบครัว และความเชื่อของคนโบราณเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้า

แม้ว่าอารมณ์ขันที่สอดแทรกในเรื่องจะเป็นอารมณ์ขันแบบคนอเมริกัน แต่บทบรรยาย ที่แปลเป็นภาษาจีนก็ทำได้อย่างถูกต้องและแหลมคม เนื่องจากผู้สร้างได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีนอย่างใกล้ชิด

ผู้ชมบางคนมองว่า ที่จีนไม่สร้างภาพยนตร์แบบเดียวกันนี้ก่อน ก็เพราะไม่มีทุนรอน (“กังฟู แพนด้า” ทุ่มทุนสร้างกว่า 130 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้สร้างภาพยนตร์จีนใช้ทุนสร้างไม่ถึง 1 ล้าน 5 แสนดอลลาร์) แถมยังขาดความชำนาญด้านเทคโนโลยีแอนนิเมชั่นอีก

แม้แต่คณะที่ปรึกษาของรัฐสภาจีนยังเปิดการอภิปรายประเด็นที่ว่าเหตุใดจีนจึงไม่เป็นคนแรก ที่สร้างหนัง ซึ่งใช้แก่นเรื่องของคนจีน และกวาดรายได้มหาศาล
ความน่ารักของแพนด้าในภาพยนตร์
“ตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นสมบัติของชาติจีน และองค์ประกอบทั้งหมดก็เป็นของจีน แต่ทำไมเราถึงไม่สร้างภาพยนตร์เช่นนี้บ้างเล่า?” อู๋ เจียงประธานบริษัทโอเปร่าปักกิ่งแห่งชาติตั้งกระทู้ถามในการประชุมคณะกรรมการประจำของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเมืองในรัฐสภา โดยในตอนท้าย ยังได้ขอให้รัฐบาลผ่อนคลายการควบคุม เพื่อเปิดตลาดวัฒนธรรมของจีนให้กว้างขึ้น

“ผมอดพิศวงไม่ได้ว่าเมื่อใดจีนจึงจะสามารถผลิตภาพยนตร์ได้ถึงระดับนี้” ลู่ ชวน ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับเจ้าของรางวัล เขียนลงในบทความในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีของทางการจีน

เขามีชื่อเสียงจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Mountain Patrol”ในปี 2547 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามอนุรักษ์กวางทิเบต

ชวนเล่าว่า เขาเคยได้รับเชิญให้สร้างภาพยนตร์แอนนิเมชั่นสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ในที่สุดต้องถอนตัว เพราะรัฐบาลเข้ามาจุ้นจ้านมากเกินไป โดยเข้ามาสั่งและกำหนดทิศทางว่าภาพยนตร์ควรออกมาในรูปไหน ทำให้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของเขากระเจิดกระเจิง

ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อีกรายแนะในบทความในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีเช่นกันว่า จีนควรสนใจต่อจิตวิทยาของต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งอุปนิสัยของชาวตะวันตกในการดูโทรทัศน์ เพื่อมีความเข้าใจดีขึ้น และเจาะตลาดหลักในตะวันตกได้

ด้านผู้ชม“กังฟู แพนด้า” ยังชี้ว่า ภาพยนตร์จีนมักมุ่งให้ความรู้ แต่ขาดรายละเอียดที่ให้ความบันเทิง นอกจากนั้น ผู้สร้างชาวจีนคงไม่กล้าสร้างบุคลิกหมีแพนด้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีน ให้เกียจคร้าน และอ้วนตุ๊ต๊ะอย่าง อาโป เป็นแน่แท้

“ถ้าคุณขอให้ชาวจีนสร้างหนังเรื่องนี้ล่ะก้อ หมีแพนด้าต้องน่ารัก แต่มีนัยที่สมบูรณ์แบบ” ซุน ลี่จวินศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์แอนนิเมชั่นของสถาบันภาพยนตร์ปักกิ่งอธิบาย

“ลงท้าย หมีแพนด้าตัวนี้ก็จะมีความเพียบพร้อมเสียจนกระทั่งไม่มีความน่ารักอีกต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น