xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของบล็อกเกอร์จีน ต่อสู้เพื่อความโปร่งใสของข้อมูลข่าวสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โจว ซู่กวง บล็อกเกอร์เลือดมังกร (ขวา) ยืนกับครอบครัวของ หลี่ ซู่เฟิน เด็กหญิงที่เสียชีวิต
เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – บล็อกเกอร์เลือดมังกรประสบชัยชนะอีกครา เมื่อการสืบสาวข้อมูลความไม่เป็นธรรมในสังคมชนิดกัดไม่ปล่อยของบล็อกเกอร์นามว่า โซล่า (Zola) และการผนึกกำลังของผองเพื่อนบล็อกเกอร์ในโลกไซเบอร์ ก่อพลังสั่นสะเทือนรุนแรงถึงขั้นเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนกระเด็นจากตำแหน่ง และมวลชนสะดุ้งตื่นขึ้นมาถามหาความโปร่งใสในการให้ข้อมูลของรัฐ

การงัดข้อครั้งล่าสุดของพวกเขาต่อวัฒนธรรมโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนเกิดขึ้นที่อำเภอเวิ่งอัน, มณฑลกุ้ยโจว

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (4 ก.ค.) ได้มีการประกาศสั่งปลดสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์,เจ้าหน้าที่คณะผู้บริหารท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวม 4 คน โทษฐาน“ผิดวินัยร้ายแรง” เนื่องจากปกปิดคดีฆาตกรรมรายหนึ่ง

ปัญหาอุบัติขึ้น เมื่อตำรวจสรุปสำนวนสอบสวนว่า นักเรียนมัธยมหลี่ ซู่เฟิน จมน้ำตาย ทำให้ชาวบ้านพากันโกรธแค้น เพราะเชื่อว่านักเรียนหญิงเคราะห์ร้ายถูกข่มขืนแล้วฆ่า อาจมาจากน้ำมือของเด็กวัยรุ่นด้วยกัน หรือจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ชาวบ้านราว 3,000 คนจึงเดินขบวนประท้วง แต่ท่านซื่อ จงหยวน หัวหน้าสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกลับบอกปัดไปว่า “เป็นการปลุกปั่นด้วยเจตนาบางอย่างของคนเพียงไม่กี่คน”

พออีก2วันต่อมา มีคำสั่งปลดดังกล่าว ท่านซื่อก็เปลี่ยนสีทันที โดยกล่าวว่า เพราะการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นอย่างลวก ๆ ของเจ้าหน้าที่จึงทำให้เกิดเหตุประท้วงวุ่นวายขึ้น

ท่านซื่อเปลี่ยนจุดยืนอย่างว่องไว เพราะแรงกดดันของสื่อมวลชนและเหล่าบล็อกเกอร์ อย่าง“โซล่า” หรือนามจริงว่า นายโจว ซู่กวง ผู้ทำตัวเป็นสำนักข่าว ที่มีแบบฉบับเฉพาะ และไม่ยอมให้ประเด็นนี้ตกไปง่าย ๆ
ชาวบ้านนับหมื่นชุมนุมหน้าสถานีตำรวจเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ระเบิดแค้นตำรวจหมกเม็ดสางคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิง แถมซ้อมลุงที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้หลานสาว ตายคาสถานีตำรวจ
เขาบินมากุ้ยโจวเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ประท้วงในวันที่ 30 มิถุนายนจากการสนับสนุนของเพื่อน ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งรวบรวมเงินค่าเครื่องบินให้ ในอินเตอร์เน็ต โซล่า ตีแผ่รายงานข่าวที่ทางการไม่เคยแจ้งประชาชน พร้อมคำสัมภาษณ์ชาวบ้านในเมือง ,ภาพบันทึกเหตุการณ์ และหนังสือคำร้องของครอบครัวผู้ตาย

โจวเล่าว่า ในช่วง 34 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม มีผู้เข้ามายังบล็อกของเขาถึง 52,000 คน

เมื่อเว็บไซต์ใหญ่ ๆ เริ่มลบรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป บล็อกเกอร์หลายรายก็จัดแจงใส่เรื่องกลับเข้าไปใหม่ ไม่ให้ขาดกระแส และมีการกระจายข่าวไปในวงกว้างจากผู้เข้าอินเตอร์เน็ต โดยจีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถึง 223 ล้านคน จำนวนเกือบเท่าสหรัฐฯ จากข้อมูลของทางการ

สาธารณชนเริ่มถามหาความโปร่งใส และคำตอบจากรัฐบาล

การกดดันของเหล่าบล็อกเกอร์ทำให้รัฐบาลจีนตระหนักว่าการควบคุมข้อมูลข่าวสารวิธีเดิม ๆ ใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว ดังนั้น ประชาชนจึงได้เห็นเจ้าหน้าที่เขตเวิ่งอันรีบออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับการประท้วง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปไม่ถึง 2 วัน ส่วนสำนักข่าวซินหัวก็รายงานข่าวนี้เกือบจะในทันทีที่เกิดเรื่อง แตกต่างจากในอดีต ที่รอให้ผ่านไปหลายวันเสียก่อน จึงจะรายงานข่าวประเภทนี้ โดยคราวเกิดเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 2548 ในเมืองตงโจวจากข้อพิพาทที่ดิน ซินหัวปิดปากเงียบอยู่หลายวัน และเรียกผู้ชุมนุมประท้วงว่า พวกสร้างปัญหา

ในบทบรรณาธิการของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่เมื่อวันพฤหัสฯ (3 ก.ค.) ระบุว่า เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่เวิ่งอันแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีความโปร่งใสด้านข้อมูลให้มากกว่านี้

“ความโปร่งใสด้านข้อมูลไม่ควรจำกัดแค่เฉพาะการประกาศเอกสารหรือรายงานข่าวบางชิ้นของรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องให้ประชาชนทันข่าวสารด้วยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ตลอดเวลา”

และสำหรับโจวแล้ว การรายงานข้อมูล“สด”จากเหตุการณ์ ถือเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มีปากเสียง หลังจากปัญหาของพวกเขาถูก“มองข้าม”ในวัฒนธรรมสื่อมวลชน ที่ปฏิบัติกับข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะการโฆษณาชวนเชื่อ

ตอนกลางวัน หนุ่มร่างผอม วัย 28 ปีผู้นี้ มีอาชีพขายผักที่บ้านในเขตหนิงเซี่ยง ,มณฑลเหอหนัน พอตกกลางคืน โจว ก็จะกลายเป็น “โซล่า” ท่องไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในโลกไซเบอร์พร้อมเรื่องราวร้อน ๆ ที่เขาเข้าไปสืบสวนด้วยตัวเอง โจวเริ่มมีชื่อเสียง เมื่อเขาออกมาเถียงแทนชาวบ้าน ที่ไม่ยอมยกที่ดินให้สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปีที่แล้ว และเมื่อเดือนพฤษภาคม เขาตรงดิ่งไปยังเขตประสบแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน รวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้อาคารโรงเรียนมากมายพังถล่ม

การทำงานของโจวถูกสกัดขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขาเคยถูกตำรวจควบคุมตัว ถูกลบข้อมูลหลักฐานในเครื่องคอมพิวเตอร์

แต่โจว นักศึกษาวิทยาลัย ซึ่งออกเรียนกลางคัน และไม่เคยฝึกฝนวิชาชีพผู้สื่อข่าว ไม่นึกระย่อ และคำขวัญประจำบล็อกของเขาก็คือ “คุณไม่มีวันรู้ว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง จนกว่าคุณจะพยายามทำสิ่งนั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น