xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 90% รร.ไทยสอนดนตรีจีนผิดวิธีครูจีนแนะเทคนิคเรียน “กู่เจิง” สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์หลี่ หยาง
หนังสือพิมพ์ราบสัปดาห์ - ครูดนตรีจีนแนะเทคนิคเรียนกู่เจิงให้สำเร็จ เริ่มต้นจากการหาข้อมูลโรงเรียนที่จะศึกษา และ ครูผู้สอน จากนั้นต้องให้ความสำคัญกับเบสิคและเทคนิคเล่นกู่เจิง แบ่งเวลาฝึกซ้อม ระบุพบโรงเรียนสอนดนตรีจีนในไทยกว่า 90% สอนผิดวิธี บางแห่งไม่รู้จริง ชี้เรียนผิด-แก้ยากกว่าเริ่มต้น

ไม่เพียงแต่ด้านการค้าการลงทุน ภาษาและวัฒนธรรมจีน ที่เป็นส่วนเชื่อมระหว่างไทย-จีนให้แนบสัมพันธ์กันมากขึ้น กระทั่งดนตรีจีนคนไทยหลายคนได้หลงเสน่ห์ดนตรีจีน ทุกวันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจไปเรียนดนตรีจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กู่เจิง” ได้กลายเป็นเครื่องดนตรีในใจของใครหลายคน อย่างไรก็ดี พบว่าการเรียนดนตรีจีนให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย!

พบ 90% รร.ไทยสอนกู่เจิงผิด

อาจารย์หลี่ หยาง นักดนตรีกู่เจิงที่มีชื่อเสียงของไทย และเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นพระอาจารย์สอนกู่เจิงถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งได้เข้ามาสอนกู่เจิงในไทยกว่า 18 ปี และปัจจุบันเป็นครูสอนกู่เจิงอยู่ที่ OKLS กล่าวว่ากู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีจีนที่มีประวัติยาวนานถึง 2,500 ปี ที่ผ่านมามีวิธีการเล่นที่ได้รับการปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเล่น จนปัจจุบันถือว่ามีวิธีการเล่นที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ดีพบว่าการเรียนดนตรีจีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยใจรักในเครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างมากและต้องเริ่มจากการศึกษา “กู่เจิง” ให้ละเอียดเสียก่อน

“จากประสบการณ์พบว่าโรงเรียนสอนดนตรีจีนในไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งการสอนด้วยตนเอง และเป็นสถาบันสอนภาษาและเพิ่มหลักสูตรดนตรีจีนขึ้นมา พบว่า 90% เป็นการเรียนการสอนที่ผิดวิธี จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาฝีมือสู่ความก้าวหน้าได้”

ดังนั้นผู้ที่อยากเรียน กู่เจิง เริ่มแรกจะต้องศึกษาว่า คนจีนเรียนกู่เจิงแบบไหน และอาจารย์หรือโรงเรียนที่เราจะไปเรียนมีการสอนกู่เจิงแบบใด ต้องแน่ใจก่อนว่าอาจารย์ผู้สอนสามารถดูแลการสอนที่ถูกวิธีให้กับผู้เรียนได้ คือดูว่าสถาบันใดมีคุณภาพ ครูเรียนจบจากที่ไหนหรือศึกษากับอาจารย์ท่านใดมา เพราะบางครั้งพบว่าครูหลายคนยังไม่รู้เทคนิคในการเล่นกู่เจิงที่ถูกต้อง เพียงแต่ดีดได้เฉพาะเพลง แล้วมาสอนกู่เจิง ซึ่งไม่ถูกต้อง หรือครูบางคนแม้จะเล่นเป็น แต่ถ่ายทอดการสอนไม่เป็น จึงต้องหาข้อมูลให้มาก

“เท่าที่เห็นมา โรงเรียนหลายโรงเรียนตอนนี้มีการสอนกู่เจิงผิดๆกันมาก คือไม่ได้สอนตามขั้นตอน แต่นำเพลงที่ได้รับความนิยมมาแล้วให้นักเรียนดีดไปตามเส้น ซึ่งผิดวิธี ถ้าฝึกปฏิบัติผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นจะแก้ยาก”

เบสิค-เทคนิคปัจจัยก้าวสู่มืออาชีพ

สำหรับการเรียนกู่เจิงที่ถูกต้องนั้น ต้องเริ่มเรียนจากประวัติของดนตรี ส่วนประกอบของกู่เจิง ต่อจากนั้นจะเป็นการเรียนเบสิคพื้นฐาน และเทคนิคการเล่นกู่เจิง ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องเริ่มจากการวางมือให้ถูกต้อง วางมือเหมือนถือรูปถ่ายไว้ในมือ ข้อกระดูกเล็กต้องไม่ขัดขืน

เทคนิคการเล่นกู่เจิงจะเริ่มจากการเล่นแบบ Octave คือไล่นิ้วจากโน้ตตัวโดไปตัวโด ตัวเรไปตัวเร โดยใช้นิ้วกลางกับนิ้วโป้งในการดีดร่วมกัน จากนั้นจะมีการเรียนเพลงที่ใช้เทคนิคนี้โดยเฉพาะ เช่น เพลงช้าง

เมื่อเล่นได้แล้วจะเริ่มเรียนเทคนิคที่สอง โดยจะใช้นิ้วกลางกับนิ้วโป้งเช่นเดิม แต่แยกนิ้วกัน โดยใช้นิ้วกลางดีดก่อนค่อยใช้นิ้วโป้ง และเริ่มมีการไล่สเกล จากนั้นจะเรียนเพลงง่ายๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ประกอบการสอน

ตามด้วยเทคนิคต่อมาที่จะใช้นิ้วชี้คู่กับนิ้วโป้ง ให้นิ้วชี้เล่นก่อนนิ้วโป้งเล่นทีหลัง ซึ่งเมื่อไล่นิ้วถูกจะสามารถเล่นเฉพาะส่วนได้ และมือไม่เกร็ง และต่อด้วยการเล่นเพลงที่ใช้เทคนิคดังกล่าวตามจังหวะที่ถูกต้อง จากนั้นก็ต้องเรียนเทคนิคขั้นสูงขึ้นๆ ต่อไป ซึ่งเมื่อเรียนรู้เทคนิคประมาณ 4-5 เทคนิคแล้วจะสามารถเล่นเพลงที่ได้รับความนิยมได้ เช่นเพลงประกอบหนังต่างๆ แต่จะเป็นการเล่นในชั้นต้น คือยังไม่สามารถเล่นเสียงที่ซับซ้อนได้ จำเป็นต้องเรียนเทคนิคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากเรียนแบบเพลงต่อเพลงมา แต่ไม่ได้เรียนเทคนิค ก็จะสามารถเล่นเพลงนั้นๆ ได้ แต่ไม่สามารถเล่นเพลงให้ซับซ้อน และไม่สามารถไปเล่นเพลงอื่นๆ ได้ จะเล่นได้เฉพาะเพลงที่เรียนมาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การเรียนดนตรีที่ถูกต้อง

อีกทั้งจำนวนผู้เรียนในห้องก็มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน อาจารย์หลี่หยางกล่าวว่า เนื่องจากการเรียนกู่เจิง เป็นการเรียนแบบฝึกปฏิบัติ ฉะนั้นควรเลือกเรียนในคอร์สที่มีคนเรียนไม่เกิน 5 คน หรือถ้าเรียนคนต่อคนได้จะสามารถประสบความสำเร็จได้เร็วกว่า โดยตัวผู้เล่นเอง จะต้องจัดเวลาฝึกซ้อมด้วย โดยหากใครฝึกซ้อมได้วันละ 1 ชม.ก็จะสามารถเรียนได้เร็วกว่าคนที่ฝึกซ้อมวันละครึ่งชั่วโมง

อย่างไรก็ดี อยากเชิญชวนคนไทยให้มาหัดเล่นกู่เจิงกันมากๆ เพราะกู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีจีนที่ไพเราะมาก ฟังแล้วทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สามารถเลียนเสียงธรรมชาติได้ เช่น น้ำตก เสียงนกร้อง เสียงลมพัด ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทำให้รู้สึกสงบ และผ่อนคลายความตึงเครียดของชีวิตคนเมือง อีกทั้งยังช่วยทำให้ใจเย็น และมีสมาธิในการเรียนและการทำงานอีกด้วย

*************************

เส้นทางเด็กไทยในเมืองจีน
สู่ครูสอน“กู่ฉิน”ดนตรีจีนชั้นสูง

เปิดเส้นทางเด็กไทยไต่เต้าสู่ความเป็นนักดนตรีกู่ฉิน เครื่องดนตรีจีนชั้นสูงที่เปรียบเสียงได้กับเสียงพิณแห่งสวรรค์ ความตั้งใจของเขาทำให้คว้าทุนจากรัฐบาลกลางจีน และได้รับเลือกเป็นศิษย์ของอาจารย์จีนชื่อดังถึง 2 คน ชี้อนาคตเตรียมเป็นครูสอน “กู่ฉิน” ในไทย

นอกจาก “กู่เจิง” ที่เป็นเครื่องดนตรีจีนที่มีความไพเราะมากเปรียบดังเสียงพิณแห่งสวรรค์แล้ว ยังมีเครื่องดนตรีจีนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “กู่ฉิน” ที่มีความน่าสนใจเช่นกัน

ชัชชล ไทยเขียว นักศึกษามหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง กล่าวว่า หลังจากดูภาพยนตร์เรื่องฮีโร่ที่มีการเล่นเครื่องดนตรีกู่ฉิน ทำให้ประทับใจ และได้สร้างความสนใจในการเรียนดนตรีกู่ฉินของตนเองอย่างมาก จนได้สอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเรียนกู่ฉินอย่างจริงจัง แต่พบว่าในเมืองไทยยังไม่มีครูผู้สอนกู่ฉิน ทำให้เรียนต้องเรียนเครื่องดนตรีจีนที่เรียกว่าผีผาไป 3 เดือน

จากนั้นด้วยความที่อยากเรียนกู่ฉินอย่างถ่องแท้ จึงได้ยื่นของทุนรัฐบาลจีนเพื่อขอทุนเรียน โดยส่งผลงานเพลงกู่ฉินที่เล่นเองไปให้รัฐบาลจีน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเรียนให้ได้วุฒิภาษาก่อน ก่อนไปสอบเข้าที่วิทยาลัยดนตรีกลางแห่งประเทศจีน ปัจจุบันกำลังเรียนภาษาจีนอยู่และปีหน้าจะต่อเอกภาษาและวรรณกรรมจีนโบราณ

เขา อธิบายต่อว่า กู่ฉิน เป็นเครื่องดนตรีคล้ายกู่เจิง แต่กู่ฉินไม่ใช่ดนตรีเพื่อความบันเทิง แต่เป็นดนตรีที่เล่นตามวรรณกรรมจีน ซึ่งผู้เล่นต้องเข้าถึงเนื้อหาวรรณกรรมจีน กู่ฉินทุกเพลงจึงมีกวีกำกับ และโน้ตกู่ฉินจะเป็นโน้ตที่บอกวิธีการเล่น ซึ่งไม่เหมือนดนตรีชนิดอื่นที่โน้ตจะเป็นการไล่เสียงตามสเกล

เช่นตามรูป การเล่นตามโน้ตนี้คือนิ้วโป้งมือซ้ายกดที่สายสามจุดที่เจ็ดโดยนิ้วชี้มือขวาดีดออก ซึ่งโน้ตแต่ละตัวไม่มีจังหวะกำหนดตายตัว มีวิธีการเล่นแบบอิสระแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งหากใครได้สัมผัสดนตรีกู่ฉินอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า เครื่องดนตรีจีนชนิดนี้มีเสน่ห์มาก

แม้ว่าปัจจุบันชัชชล กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งก็ตาม แต่เขา ก็ได้รับความเมตตาจากศ.หลี่เสี่ยงถิง อาจารย์สอนกู่ฉินประจำวิทยาลัยดนตรีกลาง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีชนิดนี้และมีชื่อเสียงในจีนได้เมตตาสอนดนตรีกู่ฉินให้เดือนละครั้งไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกทั้งชัชชลยังได้รับเป็นศิษย์คนเดียวและคนแรกของอาจารย์หวังเผิง ช่างทำกู่ฉินชื่อดังของจีน เนื่องจากเห็นความตั้งใจของชัชชลด้วยความสนใจ “กู่ฉิน” อย่างจริงจังของเขา

ความมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มไทยอายุ 20 ปีคนนี้ ได้นำไปสู่เส้นทางที่เขาคาดหวังจะเป็นครูผู้ถ่ายทอด “กู่ฉิน” ดนตรีจีนชั้นสูงให้กับคนไทยในอนาคตอันใกล้นี้!
 ชัชชล ไทยเขียว นักศึกษามหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง
สีเขียว คือ นิ้วโป้งมือซ้าย สีแดงคือจุดที่เจ็ด สีชมพูคือสายสาม สีฟ้า คือนิ้วชี้มือขวาดีดออก
กำลังโหลดความคิดเห็น