半 (bàn) อ่านว่า ปั้น แปลว่า ครึ่ง
途 (tú) อ่านว่า ถู แปลว่า หนทาง
而 (ér) อ่านว่า เอ๋อร์ เป็นคำเชื่อม
废 (fèi) อ่านว่า เฟ่ย แปลว่า ล้มเลิก
ในสมัยฮั่นตะวันออก ที่มณฑลเหอหนานปรากฏสตรีนางหนึ่งที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดลึกล้ำ ผู้คนทั่วไปไม่ทราบว่านางชื่อแซ่ใด เพียงทราบว่านางเป็นภรรยาของชายผู้มีนามว่า "เยว่หยางจื่อ"
วันหนึ่ง ขณะที่เยว่หยางจื่อเดินอยู่บนถนน บังเอิญพบทองคำตกอยู่ จึงรีบเก็บกลับมามอบให้ภรรยาที่บ้าน ทว่าผู้ภรรยาเมื่อทราบเรื่องก็กล่าวกับเขาว่า “ข้าเคยได้ยินมาว่าผู้ยิ่งใหญ่เปี่ยมอุดมการณ์ไม่ดื่มน้ำจากน้ำพุเต้า(ดูคำอธิบายที่หมายเหตุด้านล่าง) เนื่องจากชื่อนั้นทำให้ผู้คนชิงชังรังเกียจ และยอมอดตายดีกว่ารับเศษอาหารที่ผู้อื่นชักชวนให้ทาน ยิ่งไปกว่านั้นจะไม่เก็บของที่ผู้อื่นทำตกหล่นสูญหายอย่างเด็ดขาดเพราะเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม” เมื่อเยว่หยางจื่อได้ฟังคำตักเตือนของภรรยาก็รู้สึกละอายใจยิ่งนัก จึงนำทองที่เก็บมาได้ไปโยนทิ้งเข้าป่า แล้วจึงตัดสินใจออกเดินทางไปเสาะหาอาจารย์เพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
หนึ่งปีผ่านไป เยว่หยางจื่อเดินทางกลับบ้าน ภรรยาจึงคุกเข่า(ตามธรรมเนียมจีน) และเอ่ยถามว่าเหตุใดจึงกลับมา ผู้สามีจึงตอบว่า “จากบ้านไปนานย่อมเกิดความคิดถึง มิได้มีเหตุผลอื่นใด” ผู้ภรรยาได้ฟัง จึงลุกขึ้นฉวยมีดด้ามหนึ่งเดินไปยังกี่ทอผ้า พลางกล่าวว่า “กี่ตัวนี้เมื่อใช้ทอผ้า จำต้องทอจากเส้นไหมทีละเส้น ทีละเส้น กว่าจะได้สัก 1 ชุ่น(ราว 1 นิ้ว) จากนั้นแต่ละชุ่น แต่ละชุ่นมารวมกัน จึงจะได้สัก 1 จ้าง(ราว 10 ฟุต) จนกระทั่งสุดท้ายค่อยกลายมาเป็นผ้าหนึ่งผืน ดังนั้นหากวันนี้ข้าตัดเส้นไหมเพียงเส้นเดียวนี้ ย่อมทำให้สิ่งที่ลงมือทำไปก่อนหน้านี้ทั้งหมดเสียเปล่า”
ภรรยากล่าวต่อไปว่า “การศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อท่านเก็บเกี่ยววิชาความรู้ ในทุกๆ วันก็ย่อมได้รับวิชาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มพูนขึ้น ซึ่งความรู้เหล่านั้นจะเป็นส่วนเติมเต็มให้ท่านเป็นวิญญูชนที่สมบูรณ์แบบ หากท่านล้มเลิกกลางคันย่อมไม่ต่างอันใดกับการตัดเส้นไหมที่ยังทอผ้าไม่สำเร็จ”
เมื่อเยว่หยางจื่อได้ฟังคำเตือนสติของผู้เป็นภรรยาก็รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอันมาก จึงรีบเดินทางกลับไปเพื่อร่ำเรียนวิชาความรู้ต่อให้สำเร็จ โดยไม่ได้กลับบ้านเป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน
ปัจจุบัน ปั้นถูเอ๋อร์เฟ่ย หรือ เมื่อไปถึงครึ่งทางก็หยุดไม่ยอมก้าวต่อไป ล้มเลิกกลางคัน ใช้เปรียบเทียบกับการทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ไม่พยายามให้ถึงที่สุด
(หมายเหตุ "น้ำพุเต้า" คือน้ำพุแห่งหนึ่งที่มีชื่อในภาษาจีนเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า “เต้า(盗)” ซึ่งแปลว่าลักขโมย)