xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหว : ภัยที่เฉียดใกล้มรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนชลประทานตู้เจียงเยี่ยนยามราตรี
สถานที่ท่องเที่ยวในตู้เจียงเยี่ยน
ผู้จัดการออนไลน์ - เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอำเภอเวิ่นชวน มณฑลเสฉวน ของประเทศจีนที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหมื่นในครั้งนี้ ได้สร้างภัยคุกคามเฉียดไปยังมรดกโลกอย่าง อุทยานธรรมชาติว่อหลง ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยงแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากอำเภอเวิ่นชวน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้น นอกจากนั้นในบริเวณใกล้เคียงยังมีเมืองตูเจียงเยี่ยน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเขตภัยพิบัตินั้นก็มีสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ โดยในขณะนี้ในเมืองตูเจียงเยี่ยนมีผู้ที่เสียชีวิตจากตึก และโรงเรียนถล่มไปแล้วนับพันราย

ตูเจียงเยี่ยนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนบริเวณตะวันตกของที่ราบเฉิงตู เป็นที่ตั้งของเขื่อนตูเจียงเยี่ยนซึ่งเป็นโครงการชลประทานโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บนลำน้ำป๋อเทียว สาขาลำน้ำหมินเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาหลักของฉางเจียง (แยงซีเกียง) สร้างขึ้นในช่วงราว 250 ก่อนคริสตกาล ตลอดเวลากว่า 2,200 ปี โครงการชลประทานแห่งนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานแห่งนี้เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัย ชลประทาน ขนส่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมพื้นเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง

เขื่อนตูเจียงเยี่ยนไม่เพียงแต่เป็นเขื่อนโบราณที่สำคัญของจีน แต่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอีกด้วย ซึ่งนอกจากเขื่อนแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งอาทิอารามฝูหลง วัดเอ้อหวัง ด่านอี้ว์เหล่ย สวนสาธารณะหลีตุย โดยนับตั้งแต่ปีค.ศ.1982 เป็นต้นมา เขื่อนตูเจียงเยี่ยนได้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่คณะรัฐมนตรีจีนจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ กระทั่งในปีค.ศ. 2000 ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลที่เป็นสถานที่มีการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติอย่างลงตัว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2007 สำนักงานท่องเที่ยวแห่งชาติจีนได้ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A

ในขณะที่อำเภอเวิ่นชวน อำเภอที่มีประชากร 111,800 คน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวนั้นก็เป็นที่ตั้งของอุทยานธรรมชาติว่อหลง ที่ห่างจากเมืองเฉิงตู 130 กิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรรมชาติตั้งแต่ปีค.ศ. 1963 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 200,000 เฮคตาร์ ในเขตอุทยานแห่งชาตินี้มีผู้คนอยู่ทั้งสิ้น 5,343 คน โดยในกลุ่มนี้เป็นเกษตรกร 4,550 คน

จนกระทั่งในปีค.ศ. 1980 อุทยานแห่งนี้ก็ได้เข้าร่วมกับโครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and Biosphere) อีกทั้งร่วมมือกับกองทุนชีวิตสัตว์ป่าโลก (WWF) ในการจัดสร้างศูนย์วิจัยและคุ้มครองแพนด้ายักษ์ในจีนขึ้นที่นี่ อุทยานธรรมชาติว่อหลงจึงได้ชื่อว่าเป็นเสมือน “บ้านของแพนด้า” “คลังสายพันธุ์สัตว์อันล้ำค่า” “สวนแห่งพันธุ์พืชและสัตว์” โดยในเขตอุทยานมีแพนด้าทั้งสิ้นกว่า 150 ตัวหรือคิดเป็นราว 10% ของแพนด้าทั่วโลก อีกทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากอีกกว่า 56 ชนิด
แพนด้ายักษ์ในอุทยานแห่งชาติว่อหลง
กำลังโหลดความคิดเห็น