ตลาดรถยนต์จีนสวนกระแสตลาดโลก รถเล็กติดเทคโนโลยีประหยัดพลังงานขายไม่ออก เหตุรถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมราคาแพงเกิน ส่วนผู้บริโภคก็เน้นคันใหญ่ หรูหรา อวดบารมีมากกว่ารักษาสิ่งแวดล้อม
ที่งาน ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ มหกรรมแสดงรถยนต์ครั้งใหญ่ของจีน แม้บรรดาค่ายผู้ผลิตรถชื่อดัง ต่างขนรถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน อาทิ รถยนต์ไฮบริด มาอวดโฉมเฉิดฉาย ทว่าเมื่อเทียบกับยอดขายแล้ว รถประหยัดพลังงานอาจไม่เฉิดฉายในตลาดจีนอย่างที่คิด และด้วยยอดขายที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ภาพหลายอย่างปรากฏขึ้น และดำรงอยู่อย่างน่าฉงน
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีการออกมาตรการต่างๆเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของบรรดาผู้ประกอบการ ที่เน้นผลกำไรแต่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมหนักหลายแห่งที่สร้างมลภาวะ
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เป็นต้นเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกอย่างหนึ่งคือ พฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในสังคมจีน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่แก้ได้ลำบากยิ่ง
เมื่อปี 2007 ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลในตลาดแดนมังกรทำสถิติเพิ่มขึ้น 21% เป็นจำนวนมากกว่า 5.2 ล้านคัน ทว่ายอดขายรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นรถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกลับไม่กระเตื้องเท่าใดนัก ในทางตรงข้ามยอดขายรถยนต์พริอุส ซึ่งเป็นรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้ากลับลดลงถึง 81% เมื่อเทียบกับยอดขายปี 2006 พริอุสทำยอดขายปี 2007 ได้เพียง 414 คัน
ทางด้านฮอนด้า ค่ายรถแดนปลาดิบชื่อดังอีกรายก็ไม่น้อยหน้า ตั้งแต่เปิดตัวซิวิค ไฮบริดในตลาดจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 ฮอนด้าทำยอดขายซิวิค ไฮบริดได้เพียง 150 คันเท่านั้น
ฮิโตชิ โยโกยาม่า โฆษกโตโยต้าประเทศจีนแสดงทัศนะว่า สาเหตุที่ไฮบริดขายไม่ออกเพราะ “สำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคชาวจีนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ”
อย่างไรก็ตาม ทัศนะของโฆษกโตโยต้าอาจไม่ถูกเสมอไป เนื่องจากราคาของโตโยต้า พริอุส และ ซีวิค ไฮบริด ที่ขายอยู่ในตลาดจีนมีราคาสูงถึง 40,000 และ 38,000 เหรียญสหรัฐฯตามลำดับ ซึ่งนับว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับราคาขายในตลาดอเมริกัน ซึ่งถูกกว่าครึ่งหนึ่ง โดยพริอุสในสหรัฐฯสนนราคาอยู่ที่ 21,000 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น
นักวิเคราะห์ชี้ว่า สาเหตุที่รถยนต์ไฮบริดในตลาดจีนแพงหูฉี่ เพราะรัฐบาลจีนไม่ยอมลดภาษีนำเข้า นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตสูงเมื่อเทียบกับยอดขายต่ำ ทำให้การกำหนดราคาสินค้าต้องพลอยสูงตาม เมื่อเทียบกับรถในระดับราคาเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนหันไปซื้อรถยนต์คันใหญ่ ที่หรูหรา แต่ราคาใกล้เคียงกับไฮบริด ซึ่งเป็นรถขนาดเล็ก หน้าตาธรรมดา ไม่มีมนต์ขลัง สะท้อนบารมีเจ้าของ
ทั้งนี้เบื้องหลังการที่รัฐไม่ยอมลดภาษีส่งเสริมการใช้ไฮบริดขณะนี้นั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลจีนกำลังสนับสนุนให้ผู้ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจรัฐพัฒนารถยนต์ไฮบริดอยู่ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการข้างต้นเพื่อปกป้องตลาด
ซีเอสเอ็ม เวิลด์ไวด์ บริษัทที่ปรึกษาด้านรถยนต์พยากรณ์ว่า ภายในปี 2010 รถยนต์ไฮบริดจะออกมาอวดโฉมในตลาดจีนกว่า 30 แบบ เฉพาะปีนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในจีนต่างวางแผน นำรถไฮบริดที่ตนพัฒนาออกสู่ตลาด เชอรี่ ออโต้โมบิล ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนเองก็วางแผน นำรถยนต์ไฮบริด ซีดาน เครื่องยนต์ 1.3 ลิตรออกสู่ตลาดในปีนี้ ขณะที่ เจเนอร์รัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ซึ่งมีการร่วมทุนกับวิสาหกิจจีน ก็วางแผนนำ บูอิก ลาครอส อีโค-ไฮบริดออกสู่ตลาดเช่นกัน ส่วนฉางอัน ออโต้โมบิลส์ ยักษ์ผลิตรถยนต์จากฉงชิ่ง ก็วางแผนนำรถ ไฮบริด แฮทช์แบค เจี๋ยซวินออกสู่ตลาด
โจเซฟ หลิว ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายขาย, บริการ และการตลาดของจีเอ็ม ประเทศจีน ระบุว่า “จีเอ็มเลือกบูอิก ลาครอส ซึ่งเป็นรถยนต์หรูขนาดใหญ่มาทำตลาด เนื่องจากผู้บริโภคระดับบนมีแนวโน้ม ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากนี้พวกเขายังสามารถจ่ายราคาค่างวดรถไฮบริด ที่แพงกว่ารถยนต์ทั่วไปได้”
บรรดาผู้บริหารค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ต่างวิจารณ์ไปทางเดียวกันว่า จีนจะมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฮบริด และความท้าทายของผู้ผลิตอยู่ที่ว่า พวกเขาจะสามารถบีบราคาไฮบริด ให้ถูกลงจนผู้มีรายได้ระดับกลางสามารถจ่ายไหวได้หรือไม่
“จีนต้องลงมือสนับสนุนการใช้รถพลังสะอาดให้เร็วที่สุด ที่ผ่านมารัฐบาลจีนก้าวมาไกลแล้วในเรื่องการปรับลดมลภาวะ ทว่าก็ยังเหลือทางเดินอีกยาวไกล การส่งเสริมรถยนต์พลังงานสะอาดอย่าง ไฮบริด ต้องรีบทำ ก่อนที่ระดับมลภาวะ และอัตราการบริโภคน้ำมันจะเลยเถิดเกินการควบคุม” ไมเคิล วอลซ์ ที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับรถยนต์ในประเทศจีนกล่าว
ทั้งนี้บรรดาค่ายรถยนต์ข้ามชาติต่างพยายามล็อบบี้รัฐบาลจีนให้ส่งเสริมเทคโนโลยีเครื่องยนต์พลังงานสะอาด ที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนมากแล้วมักเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศแม่ของบริษัทนั้นๆ ทว่าเทคโนโลยที่แต่ละบริษัทเสนอมาต้องเผชิญกับอุปสรรคจากฝ่ายจีน
เทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ใช้แก้ปัญหาน้ำมันแพงในระยะสั้น ก็ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีเท่าไร โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าบริโภคแพง การนำอาหารมาทำเป็นเชื้อเพลิงยิ่งทำให้ปัญหาทรุดหนักเข้าไปอีก ส่วนเทคโนโลยีดีเซลสะอาดของยุโรป ทางจีนก็มีปัญหา เนื่องจากโรงกลั่นจีนไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะกลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำ การยกเครื่องพัฒนาโรงกลั่นต้องเสียค่าใช้จ่ายนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้า และไฮบริดก็มีข้อเสีย เนื่องจากต้องชาร์จไฟฟ้าเข้าตัวเครื่อง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน มีการใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมาก หากคิดจะช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น การใช้รถยนต์ไฮบริดก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพียงย้ายแหล่งปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ไปเป็นที่โรงงานไฟฟ้าแทน
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์จีนได้มุ่งสู่แนวทางการพัฒนารถยนต์ไฮบริด ซึ่งยังมีอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องต้นทุนราคา ทำอย่างไรผู้มีรายได้ระดับกลาง จะสามารถครอบครองรถไฮบริดได้
อู๋ จื้อซิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน คลังสมองสำคัญในเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ชาวจีนยินดีที่จะซื้อรถยนต์ไฮบริด หากสนนราคาสูงกว่ารถยนต์ปกติไม่เกิน 20% อย่างไรก็ตามทัศนะดังกล่าว เป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ผลิตมาก เนื่องจากราคารถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งครองตลาดจีนกว่า 67% ในปี 2007 มีราคาเฉลี่ยแสนถูกอยู่ที่ราว 4,500 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น
การลดต้นทุนผลิตอย่างฮวบฮาบ พร้อมกับการขยายตลาดผู้บริโภค จึงเป็นภารกิจมหาโหดที่ผู้ผลิตต้องเผชิญ
เมื่อเดือนที่แล้วโตโยต้าใช้แผนการตลาดชั้นเซียน ด้วยการบริจาครถยนต์ไฮบริด 50 คันให้กับรัฐบาลจีน หวังอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาให้ฟรีๆ พร้อมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี เจาะเข้าไปขายรถตามหน่วยงานรัฐ ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้ประกาศลดราคาพริอุสลง 8% หรือราว 3,000 เหรียญสหรัฐฯ
แม้หลายฝ่ายจะวิจารณ์ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวอาจไม่ได้ผลมากนัก ทว่าทางโตโยต้าโต้ตอบ โดยยอมรับว่า “ในระยะสั้นอาจไม่ได้ผลทันตา แต่เมื่อรถยนต์ไฮบริดเป็นสินค้าติดตลาดจีนเมื่อไร รับรองว่ายอดขายพุ่งพรวด ตอนนี้เราเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ช่วงชิงการทำรถยนต์ไฮบริดให้เป็นที่รู้จักของตลาดเท่านั้น”
แปลและเรียบเรียงจาก
Ellen Zhu and Norihiko Shirouzu, “In China, hybrids prove to be a tough sell,” Asian Wall Street Journal, 21 April 2008, 28.