xs
xsm
sm
md
lg

มังกรพลีป่าฝน เร่งผลิตสวนยาง หวังฟันกำไรอุตฯยางรถยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนยางแห่งหนึ่งไห่หนัน (ไหหลำ) ทั้งนี้การบุกรุกที่ป่าเพื่อทำสวนยางกำลังเป็นปัญหาหนักอกประการหนึ่งของจีน - ไอเอชที
รอยเตอร์ – พื้นที่ป่าฝนเขียวชอุ่มในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ถูกรุกไล่หนัก เพื่อทำสวนยางพารา นักวิทยาศาสตร์หวั่น การรุกล้ำพื้นที่ป่าอย่างไม่นึกถึงอนาคต เพียงเพื่อสนองความหิวกระหายของอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ จะทำให้ระบบนิเวศหยุนหนันพัง

บนแผนที่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหลิว เหวินเจีย ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา จะเห็นได้ว่า ตรงปลายสุดด้านทิศใต้ของมณฑลหยุนหนัน(ยูนาน) กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีแดง อันหมายถึงพื้นที่ปลูกสวนยางพารา ซึ่งได้รุกล้ำพื้นที่ป่าในที่ราบต่ำของเขตสิบสองปันนาจนเกือบมิดแล้ว และขณะนี้เริ่มคืบคลานเข้าสู่เขตที่ราบสูง

หลิวและนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ วิตกว่า การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจะทำลายระบบนิเวศของสิบสองปันนา ทั้งที่มณฑลหยุนหนันจัดเป็นแหล่งอาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจีน

เมื่อสามสิบปีก่อน สิบสองปันนาซึ่งซุกตัวอยู่ระหว่างพรมแดนจีนกับลาวและพม่า เคยมีพื้นที่ป่าถึงราวร้อยละ 70 แต่ภายในปี 2003 ได้ลดน้อยลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 50

“ราคายางที่พุ่งสูงอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ทำให้ต้นไม้อะไรที่ตัดได้ก็ถูกตัดจนหมด เพื่อเอาพื้นที่มาปลูกต้นยางพารา” หลิวกล่าว เขาเป็นศาสตราจารย์ประจำสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนแห่ง สิบสองปันนา ซึ่งดำเนินการโดยบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์จีน

ปัจจุบัน ป่าฝนถูกทำลายจนเหลือเพียงกระหย่อมหนึ่งในเขตป่าสงวนของสิบสองปันนา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ตัวเลขของทางการระบุว่า สวนยางพาราในมณฑลหยุนหนันมีเนื้อที่ทั้งหมด 825,000 เอเคอร์ (2,062,500 ไร่) หรือราวร้อยละ 43 ของเนื้อที่ปลูกยางพาราทั้งหมดในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้

เมื่อปีที่แล้ว จีนบริโภคยางพาราจำนวน 2.35 ล้านตัน ราวร้อยละ70 นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเชีย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ ก็กำลังประสบปัญหาตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปลูกยางพาราเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จีนนำเข้ายางพาราเพิ่มเกือบ 2 เท่า ขณะเดียวกันจีนยังกลายเป็นชาติผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางรถยนต์อันดับหนึ่งในโลก โดยบริษัทผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น กู้ดเยียร์, คอนติเนนตัล, มิชลิน และบริดส์โตน พากันมาเปิดโรงงาน หรือขยายการผลิตในจีน

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมยางพาราของจีนคาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มผลผลิตยางพาราอีกร้อยละ 30 เป็น 780,000 ตันภายในปี 2010

ทว่าพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยางพาราในจีนกลับมีจำกัดจำเขี่ย เนื่องจากพืชประเภทนี้ต้องปลูกในสภาพอากาศเขตร้อน หรือใกล้เขตร้อน และสภาพภูมิอากาศเช่นนี้พบได้เพียงบางพื้นที่ในภาคใต้ของจีนเท่านั้น

จากรายงานประจำปี 2006 ของนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์จีนและนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเปอร์โตริโกระบุว่า ระหว่างปี 1976-2003 ป่าฝนในภาคใต้ของจีนถูกทำลายราวร้อยละ67 เพื่อนำมาปลูกยางพารา

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การปลูกสวนยางโดยภาคเอกชนและภาครัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียป่าฝนเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม หยุนหนัน เนเชอรัล รับเบอร์ อินดัสเทรียล (Yunnan Natural Rubber Industrial) วิสาหกิจผู้ปลูกยางพารารายใหญ่ที่สุดของมณฑลหยุนหนันปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าสวนยางของบริษัทขยายเข้าไปเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้างแล้ว หรือในพื้นที่ป่าปลูกใหม่เท่านั้น

ปัจจุบัน หยุนหนัน รับเบอร์ ยังขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและพม่าอีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตยางได้ใน 6-7 ปีข้างหน้า โดยผลผลิตยางพาราซึ่งให้ราคางามดึงดูดใจเกษตรกรท้องถิ่นให้เลิกปลูกฝิ่น และหันมาปลูกยางแทน

ในสิบสองปันนา จะมองเห็นแนวต้นยางสูงชะลูดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ต้นกล้ายางปลูกอยู่ติด ๆ กับต้นกล้วยในไร่นา หรือแม้กระทั่งรอบ ๆ บ้านของชาวนา แทนที่ต้นไผ่ ซึ่งครั้งหนึ่งบ่งชี้ถึงลักษณะเฉพาะของภูมิทัศน์ท้องถิ่นที่นี่ นอกจากนี้นักวิจัยยังระบุว่า เกษตรกรท้องถิ่นเริ่มรุกล้ำปลูกต้นยางในเขตป่าสงวนทีละเล็กละน้อย

แม้อุตสาหกรรมยางพาราจะสร้างรายได้อย่างงดงาม ทว่าความสูญเสียต่อระบบนิเวศกลับมหาศาลเกินกว่าตีค่าเป็นตัวเงิน เนื่องจากการลดจำนวนของพื้นที่ป่าฝน เป็นอุปสรรคต่อการแพร่พันธุ์ช้าง ตลอดจนสัตว์และพืชพันธุ์อื่น จนเป็นอันตราย อาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของช้างเอเชีย, เสือ, นกยูงและลิงที่อาศัยในแถบป่าฝนเดิม ที่ถูกเปลี่ยนสภาพ

“การเปลี่ยนพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนไปเป็นสวนยางพารายังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์นกนานาชนิดยังลดลงอีกด้วย” รายงานวิจัยประจำปี 2006 ระบุ

กระทั่งหยุนหนัน รับเบอร์เองก็ยอมรับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
“สวนยางพาราเป็นป่าที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงเป็นความจริงที่ว่าไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากนักที่นี่” อิ่น ซือหมิง หัวหน้าฝ่ายผลิตของหยุนหนัน รับเบอร์กล่าว

ในส่วนของหยุนหนัน รับเบอร์เองนั้น ได้นำมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น ปล่อยให้วัชพืชขึ้นรกในพื้นที่ว่างระหว่างแนวต้นยาง นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยวิธีทำให้ต้นยางโตเร็ว ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิต โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ปลูก ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว ต้นยางพร้อมให้กรีดน้ำยางได้หลังมีอายุได้ 7 ปีไปแล้ว

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะรักษาป่าฝนในมณฑลหยุนหนันไว้ ทว่าตราบใดที่ราคายางยังคงพุ่งสูง และรัฐบาลไม่เข้าแทรกแซง ตราบนั้น การรุกล้ำป่าเพื่อขยายสวนยางพาราก็ยังคงเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ราคายางพาราพุ่งสูงเกือบ 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่แล้ว และขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 20,000 หยวน หรือราว 2,800 ดอลลาร์ต่อตัน “ผลผลิตจากธรรมชาติจะแพงขึ้น ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องต้องสงสัย” หลิวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น