เอเอฟพี – ผลการวิจัยชี้ รำไท้เก็ก ช่วยคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดอ้วน มหัศจรรย์แค่ 12 สัปดาห์รอบเอวลดลงเกือบ 3 เซนติเมตร
นักวิจัยในออสเตรเลีย และไต้หวันระบุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่รำมวยไท้เก็กสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง เป็นเวลานานกว่า 3 เดือนนั้น มีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารำไท้เก็ก
ทั้งนี้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ โดยอินซูลินมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคเบาหวานราว 250 ล้านคนทั่วโลก โรคดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอด, ไตวาย, ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคหัวใจได้
ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน “the British Journal of Sports Medicine” โดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ นำโดยเวนดี้ บราวน์ ระบุว่า การออกกำลังกายอย่างไม่หักโหมวิธีอื่น ๆ ก็ช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้เช่นกัน แต่“การรำไท้เก็กทำได้ง่ายกว่าการออกกำลังกาย ที่อยู่บนพื้นฐานของกายบริหาร นอกจากนั้น ยังไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง หรือซับซ้อนแต่อย่างใด”
การเกิดโรคเบาหวานเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอ้วน และรูปแบบชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่มักนั่งมากกว่าเดินเหิน ทว่าการออกกำลังกายอย่างหักโหมและหัวใจเต้นแรงก็ไม่ใช่วิธีการที่ดี
มวยไท้เก็กเป็นศาสตร์เก่าแก่ของจีนมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 เป็นอย่างน้อย โดยเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะป้องกันตัวกับการทำสมาธิ
การทดลองในไต้หวันของคณะนักวิจัยนำโดยคึนเดอร์ หยาง กำหนดให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 30 คน และผู้มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 30 คนในวัยเดียวกัน ออกกำลังกายด้วยการรำมวยไท้เก็กเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้น มีการประเมินผลกระทบต่อการทำงานของทีเซลส์ (T cells) ซึ่ง เป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยผลิตสารเคมี ซึ่งมีฤทธิ์ต้านทาน รวมทั้งอินเตอร์ลูคิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการตอบโต้กับผู้รุกราน
ผลการทดลองปรากฎว่า กลุ่มที่รำไท้เก็กระดับน้ำตาลส่วนเกินในเซลส์เม็ดเลือดแดง ลดลงอย่างมาก ขณะที่ระดับของอินเตอร์ลูคิน-12 ซึ่งส่งเสริมการตอบโต้ของภูมิคุ้มกัน เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นอกจากนั้น การทำงานของทีเซลส์ อันเป็นสัญญาณบ่งบอกของสุขภาพที่ดี ก็เพิ่มสูงด้วยเช่นกัน
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า มวยไท้เก็กยังอาจกระตุ้นให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญกลูโคสในเลือด ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของร่างกาย
ส่วนการทดลองที่ออสเตรเลียนั้น ปรากฎว่า การฝึกไท้เก็กและชี่กง ซึ่งเน้นเทคนิคการหายใจ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ได้กระตุ้นให้เกิดการปรับระดับกลูโคสในเลือด และ“กลุ่มอาการของการเผาผลาญอาหาร” (metabolic syndrome) ในผู้เข้ารับการทดลองวัยกลางคน และวัยสูงกว่านั้นจำนวน 11 คน
“กลุ่มอาการของการเผาผลาญอาหาร” ประกอบด้วยอาการความดันโลหิตสูง, กลูโคสในเลือด, ความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และเบาหวาน
ผู้เข้าร่วมการทดลอง 13 คน ออกกำลังกายนาน 1 ชั่วโมง 50 นาที เป็นเวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนั้น ยังออกกำลังกายที่บ้านอีกด้วย เมื่อครบ 12 สัปดาห์ คนเหล่านี้มีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 3 กิโลกรัม และรอบเอวลดลงเฉลี่ยเกือบ 3 เซนติเมตร
นอกจากนั้น ความดันโลหิตสูงยังลดลงอย่างมาก ซึ่งมากกว่าการใช้วิธีลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนเองนอนหลับดีขึ้น มีกำลังวังชามากขึ้น นอกจากนั้นยังรู้สึกเจ็บปวด และกระหายอยากรับประทานอาหารน้อยลงอีกด้วยในระหว่างเข้าร่วมโครงการ