หลายคนรู้จักเครื่องหมาย “卍” สวัสติกะ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งลัทธินาซีของ “ฮิตเลอร์” อดีตผู้นำจอมเผด็จการเยอรมนี แต่แท้จริงแล้วเครื่องหมายสวัสติกะนี้มีอายุยาวนานกว่านั้นมาก สาวประวัติย้อนไปได้ยาวนานกว่า 3,000 ปี และอาจจะอายุมากกว่ายุคอียิปต์โบราณ (4,000-5,000 ปีก่อน) เสียด้วยซ้ำ
กว่าพันปีที่ผ่านมา เครื่องหมายสวัสติกะถูกนำไปใช้ในหลายวัฒนธรรมของโลก ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ทิเบต ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศแถบยุโรปตอนใต้ และในหลายศาสนาเช่น ศาสนาพุทธ ฮินดู และเชน
ช่วงยุคกลาง สวัสติกะ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปในแต่ละท้องที่ เช่นในจีนเรียกเครื่องหมายนี้ว่า “วั่นจื้อ” (万字), อังกฤษ เรียก “Fylfot”, เยอรมนี เรียก “Hakenkreuz”, กรีซ เรียก “Tetraskelion” หรือ “Gammadion” และอินเดีย เรียก “Swastika”
ความหมายแต่เก่าก่อน
คำว่า “Swastika” หรือ สวัสติกะ มาจากคำภาษาสันสกฤต ประกอบด้วยคำว่า “สุ” แปลว่า “ดี” กับ “อัสติ” แปลว่า “เป็น,อยู่” ส่วนคำว่า “กะ” เป็นคำลงท้าย ในช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมาเครื่องหมายสวัสติกะถูกใช้เป็นตัวแทนของ ชีวิต ดวงอาทิตย์ อำนาจ ความแข็งแกร่ง และความโชคดี
และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เครื่องหมายนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องหมายบนอินทรนูของหน่วยกองทหารราบที่ 45 ของอเมริกา และในกองทัพอากาศของฟินแลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ความหมายที่แปรเปลี่ยน
แต่แล้วช่วงทศวรรษที่ 1800 เมื่อประเทศต่างๆ ที่รายรอบเยอรมนีอยู่นั้น เริ่มขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็ว และสถาปนาเป็นอาณาจักรต่างๆ มีแต่เพียงเยอรมนีเท่านั้นที่ยังไม่ได้รวมประเทศเป็นปึกแผ่น (เยอรมนีรวมประเทศสำเร็จในปี ค.ศ.1871)
ดังนั้นเพื่อเป็นการขจัดความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในปี 1920 ฝ่ายชาตินิยมเยอรมันนำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จึงได้เริ่มนำเครื่องหมายสวัสติกะมาใช้เป็นเครื่องหมายพรรคนาซีของเขา เนื่องจากฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีในขณะนั้นเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์มีที่มาจากชนชาติอารยัน เผ่าพันธุ์ของเขา ที่เขาเชื่อว่าเก่งกล้าเหนือเผ่าอื่นๆ และสวัสติกะเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชนชาติอารยัน โดยเครื่องหมายสวัสติกะของนาซีนั้นจะเอียง 45 องศา
อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายสวัสติกะนั้นในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เริ่มมาจากชนเผ่าอารยันของอินเดีย แต่มีปรากฏในอินเดียตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนที่ชนเผ่าอารยันจะย้ายรกรากเข้ามาอยู่ที่อินเดียแล้วเสียอีก และเมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามายังจีน จีนก็รับเอาเครื่องหมายนี้มาด้วยเช่นกัน
จากบทบาทของฮิตเลอร์ที่นำพากองทัพของผู้มีเชื้อสายอารยัน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านคน และความโหดเหี้ยมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ชาวตะวันตกส่วนใหญ่มองว่าสวัสติกะเป็นตัวแทนของความโหดเหี้ยมอำมหิต และเผด็จการ นำไปสู่การเข้าใจความหมายแบบผิดๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ช่วงต้นปี 2007 ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานข่าวว่า มีชาวฮินดูในยุโรป ได้รวมตัวต่อต้านข้อเสนอของเยอรมนี ที่ขอให้มีการยกเลิกแสดงสัญลักษณ์สวัสดิกะในทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)
โดย Ramesh Kallidai จากสภาฮินดูอังกฤษ กล่าวว่า เครื่องหมายสวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานก่อนที่พรรคนาซีของฮิตเลอร์จะนำเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์นี้ไปประยุกต์ใช้เสียอีก “การที่ฮิตเลอร์นำเครื่องหมายไปใช้ในทางที่ผิดนั้น ไม่ได้หมายความว่าเครื่องหมายสวัสดิกะจะต้องถูกแบน”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเครื่องหมายสวัสดิกะนั้นถูกแบนในเยอรมนีไปเรียบร้อยแล้ว.......โดยก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2005 เยอรมนีก็เคยพยายามเสนอให้ทั่วทั้งอียู ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์อันเลวร้ายสืบเนื่องจากนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แบนเครื่องหมายสวัสติกะ แต่ก็ได้รับการคัดค้านจากหลายประเทศ รวมทั้ง อังกฤษด้วย
นอกจากนี้ใครที่เคยเห็นเครื่องหมายสวัสติกะอาจเคยสังเกตเห็นว่าเครื่องหมายสวัสติกะนั้นมีทั้งแบบ卍 (ขีดขวา) และแบบ 卐 (ขีดซ้าย) โดยสวัสติกะขีดขวาในศาสนาฮินดูเชื่อว่าเป็นตัวแทนของ พระอาทิตย์ และพระวิษณุ ส่วนสวัสติกะขีดซ้ายแทนเจ้าแม่กาลี และอำนาจวิเศษ ส่วนในศาสนาพุทธนั้น สวัสติกะจะเป็นแบบขีดขวาเสมอ ตรงข้ามกับสวัสติกะของนาซีที่ขีดซ้าย
เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์