รอยเตอร์ – หัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนลาออกหลังพบว่าหนึ่งในช่างภาพของหนังสือพิมพ์ได้ปลอมแปลงภาพถ่ายละมั่งทิเบตที่ใกล้สูญพันธ์ของจีน และเป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลจากซีซีทีวี
หวังจงอี หัวหน้าบรรณาธิการของต้าชิ่งหวั่นเป้า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองต้าชิ่ง มณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ขอลาออกเมื่อวันอาทิตย์ (17) ที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าวฉาวการปลอมแปลงภาพถ่ายฝูงละมั่งทิเบตที่กำลังเหยาะย่างอย่างสบายใจใต้สะพานรถไฟสายชิงไห่-ทิเบตขณะที่รถไฟวิ่งผ่านด้วยความเร็ว ซึ่งเป็นฝีมือของหลิวเหว่ยเฉียงช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์
ขณะเดียวกันต้าชิ่งหวั่นเป้า แถลงผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันจันทร์ (18) กล่าวขอโทษต่อสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ซินหัวเน็ต และสื่ออื่นๆ รวมทั้งแสดงความเสียใจต่อวงการช่างภาพและผู้อ่าน ต่อกรณีการเผยแพร่ภาพถ่ายฉาวดังกล่าว และแม้ว่าทางหนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นผู้ส่งภาพภ่ายดังกล่าวให้แก่ซีซีทีวีเพื่อร่วมประกวด แต่ก็ขอรับผิดชอบในฐานะผู้นำ ผู้ให้ความรู้ และผู้ควบคุมดูแล
ผลงานชุดนี้ของหลิวช่างภาพอายุ 41 ปีที่มีมากกว่า 20 รูปมีชื่อว่า “ทางรถไฟชิงไห่-ทิเบตบุกเบิกเส้นทางชีวิตแก่สัตว์ป่า” ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ และยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 “ภาพถ่ายที่มีอิทธิพลที่สุดประจำปี 2006” จากสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน โดยก่อนหน้านี้ หลิวอ้างว่าภาพดังกล่าวถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปี 2006 หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่เส้นทางรถไฟสายนี้จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
แถลงการณ์ของหนังสือพิมพ์ออกมา 2 วันหลังจากที่หลิวเหว่ยเฉียงเจ้าของภาพถ่ายฉาวดังกล่าวและเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ ออกมายอมรับว่าได้ปลอมแปลงภาพถ่ายโดยใช้โปรแกรมโฟโต้ชอปจริง โดยหลิวชี้แจงผ่านกระทู้หนึ่งบนเว็บไซต์การถ่ายรูป Xitek.com ว่าเขาตกแต่งภาพนี้ขึ้นมาเพื่อทำเป็นโปสเตอร์ แต่กลับถูกเผยแพร่ฟรีบนเว็บไซต์มากมาย และยังกล่าวด้วยว่า “ผมประหลาดใจมากที่เห็นภาพดังกล่าวไปอยู่ในการประกวดภาพถ่ายของซีซีทีวี”
อย่างไรก็ตาม ในงานประกาศรางวัลของซีซีทีวีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปี 2006 หลิวเล่าว่าเขาต้องรอถึง 8 วัน 9 คืนในเขอเข่อซีหลี่ ดินแดนที่ไร้ผู้คนและสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร เพื่อจับภาพดังกล่าว ขณะที่ในโพสต์ชี้แจงล่าสุดของเขายอมรับว่า “ผมรออยู่ที่นั่นนานถึง 2 สัปดาห์เพื่อให้ละมั่งทิเบตและรถไฟปรากฏพร้อมกัน แต่ก็ไม่เกิดขึ้น”
การเปิดโปงภาพถ่ายฉาวนี้เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ Xitek.com คนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นจุดสังเกต 3 จุดที่พิสูจน์ว่ารูปของหลิวเป็นรูปที่ตกแต่งขึ้น หนึ่งคือเส้นสีแดงที่แสดงว่าเป็นการเชื่อมรูปถ่าย 2 รูปเข้าด้วยกัน และสอง ข้อสงสัยว่าละมั่งทิเบตซึ่งเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่ายมากแม้แต่เสียงที่เบาที่สุด จะเหยาะย่างอย่างสงบนิ่งได้อย่างไรขณะที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านด้วยเสียงดังอยู่ด้านบน จุดสุดท้ายคือเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายอีกภาพที่ถ่ายต่างเวลาต่างฤดูกันแต่การเรียงตัวและหน้าตาของก้อนหินไม่ต่างกันเลย
เหตุการณ์ปลอมแปลงภาพถ่ายจนเป็นข่าวครึกโครมไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งในมณฑลส่านซี ทางเหนือของประเทศจีนได้ตกแต่งภาพถ่ายของเสือสายพันธ์เซาท์ไชน่าขึ้นมา โดยอ้างว่าถ่ายได้จากในป่าใกล้กับหมู่บ้านของเขา และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท้องถิ่นใช้รูปถ่ายดังกล่าวพิสูจน์ว่าเสือสายพันธ์เซาท์ไชน่ายังคงมีอยู่ในป่า ทั้งยังใช้รูปดังกล่าวส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ภายหลังเมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพบว่าเป็นภาพที่ตกแต่งขึ้น ทางการได้ออกมาขอโทษที่นำภาพดังกล่าวมาใช้โดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจริงหรือไม่.