xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์จวกนโยบายศก.จีน ชี้ไม่เปลี่ยนวิธีคิดทำปัญหาเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – นักวิเคราะห์ชี้ รัฐเข้าแทรกแซงกลไกตลาด หวังแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ระยะยาวอาจส่งผลกระทบรุนแรง เผยรัฐบาลต้องเปลี่ยนโลกทัศน์หากต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ผล

หลังเจอปัญหาเงินเฟ้อรุมเร้าจนรัฐเข้าแทรกแซงด้วยมาตรการต่างๆ ทว่าสถานการณ์กลับไม่ดีขึ้นแถม แถมพายุหิมะกระหน่ำยังส่งผลให้เงินเฟ้อสูงกว่าเดิม ล่าสุดบรรดานักวิเคราะห์ต่างดาหน้าออกวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลจีนว่า “ไร้เหตุผล ไม่มีประโยชน์”

ดิ อีโคโนมิค ออฟเซอร์เวอร์ หนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังวิจารณ์ว่า “การใช้คำสั่งจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาในตลาด เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล และไม่มีประโยชน์”

เพี่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ทะยานไม่หยุดรัฐบาลจีน ได้ปัดฝุ่น งัดมาตรการทางเศรษฐกิจเข้าแทรกแซงราคาสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้อย่างแพร่หลายช่วงก่อนปฏิรูปและเปิดประเทศในปลายทศวรรษ 1970

หลังจากรัฐบาลเดินหน้าออกคำสั่งแทรกแซงราคาสินค้าในตลาด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2007 ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะได้รับการผ่อนคลายจากปัญหาเงินเฟ้อ ทว่าในภาพรวมแล้ว ปัญายังไม่จบ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้ก้าวขาข้างหนึ่งสู่ระบบทุนนิยมทำให้การแทรกแซงโดยรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

ด้วยราคาถ่านหินถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่รัฐคอยจี้คุมราคาค่าไฟฟ้าและถ่านหินซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้า และถ่านหินลดปริมาณการผลิตลง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดทุน ฉะนั้นเมื่อพายุหิมะกระหน่ำจีนอย่างรุนแรงในเดือนมกราคม การควบคุมไฟฟ้าและถ่านหินโดยรัฐ จึงส่งผลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไฟฟ้าขาดแคลนในหลายมณฑล

ชี้ปมปัญหาอยู่ที่นโยบาย

ดูจากภายนอกแล้ว คำสั่งของรัฐบาลกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะดูมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเกรงขาม และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเตือนว่า “วิธีการดังกล่าวจะไม่ได้ผลในระบบเศรษฐกิจที่ได้ก้าวสู่ทุนนิยมเช่นจีน”

นักวิเคราะห์ต่างชี้รายละเอียดในภาพรวมว่า รัฐบาลจีนมิเพียงควบคุมแทรกแซงราคาไฟฟ้าเท่านั้น ด้วยวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกิน 6% นับว่าสูงสุดในรอบ 11 ปีทำให้รัฐบาลขยายการแทรกแซงราคาสินค้าในตลาด เมื่อเดือนมกราคม รัฐเข้าแทรกแซงราคาปุ๋ย และอาหาร นอกจากนี้ยังอัดฉีดเงินอุดหนุนสำหรับการผลิตข้าวและข้าวสาลี

แม้วิธีการข้างต้นจะมีวัตถุประสงค์ที่ดี เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อการดำรงชีวิตของผู้ยากไร้ และชนชั้นแรงงาน ซึ่งใช้จ่ายรายได้กว่าครึ่งไปกับค่าอาหาร ทว่าการช่วยเหลือ เข้าแทรกแซงราคาดังกล่าวกลับยิ่งสร้างภาระ ด้วยภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้มีสาเหตุหลักจากการที่ราคาหมู และธัญพืชถีบตัวสูงขึ้น การที่รัฐเข้าแทรกแซง ควบคุมราคาทำให้ เกษตรกรไม่คิดเพิ่มผลผลิตออกสู่ตลาด เนื่องจากขาดแรงจูงใจด้านผลกำไร ฉะนั้นเมื่อผลผลิตไม่เพิ่มปัญหาราคาสินค้าสูงก็ไม่มีวันจบง่ายๆ

ทางแพร่งที่ต้องเลือก

“รัฐบาลต้องเลือกระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อ หรือต้องการให้มีอุปสงค์สินค้าพื้นฐานที่สำคัญในตลาดอย่างเพียงพอ นี่เป็นทาง 2 แพร่งที่รัฐบาลต้องเลือก เพื่อให้เกิดสมดุล” จิง อูลริค แห่งเจพี มอร์แกนเผย

สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านราคาอาหาร ปักกิ่งต้องลดการยื่นมือเข้ามาควบคุมตลาด และเพิ่มการนำเข้าธัญพืช “นี่เป็นประเด็นสำคัญในระยะยาว ทว่าตอนนี้ปัญหาที่ว่า กำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเดินไปทางไหน” อูลริค กล่าว

พิจารณาจากนโยบายในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของรัฐบาลจีน พบว่าทางรัฐบาลพึ่งพิงเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ด้วยการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางออกมาเป็นใบสั่งบังคับ ทว่าสภาพเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน กลับอาศัยพึ่งพาการขับเคลื่อนของธุรกิจเอกชนในกลไกตลาด ฉะนั้นการวางแผนจากส่วนกลางจึงขัดกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน

รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายการแทรกแซงควบคุมเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1979 กระทั่งเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2007 เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตรา 11.2%

ทว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น รัฐบาลก็มักเข้ามาแทรกแซงตลาด ในระดับที่มีความเข้มขนสูงกว่าที่ประเทศอื่นๆทำเสียอีก การแทรกแซงดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีราคา และราคาที่ว่าก็สูงมาก

ตัวอย่างเช่น การแทรกแซงราคาน้ำมัน ช่วง 2ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ ทว่าการแทรกแซงราคาดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้บริโภคบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 20% ต่อปี ส่งผลให้ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่าประเทศซึ่งมีราคาแพงเพิ่มมากขึ้น

เมื่อผู้ผลิตน้ำมันในประเทศไม่สามารถ ขึ้นราคาได้ พวกเขาก็ลดปริมาณการผลิต จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันดีเซลในเดือนตุลาคม ส่งผลให้รถยนต์จอดเรียงเป็นแถวยาวเหยียดหน้าสถานีบริการน้ำมัน เพื่อแย่งกันเติมน้ำมัน แม้จะมีการปรับเพิ่มราคาน้ำมันขึ้น 10% ในเดือนพฤศจิกายน ทว่าราคาน้ำมันในจีนก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

ส่วนราคาอาหารที่เพิ่มสูงถึง 18.2% ในเดือนพฤศจิกายน จนสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลนั้น ทางรัฐก็ยังคงใช้วิธีการเข้าแทรกแซงตลาด

ในระยะแรกรัฐบาลเพียงสนับสนุนวัคซีนให้เปล่าสำหรับสุกร พร้อมกับอัดฉีดเงินสนับสนุนสำหรับการเพาะปลูกธัญพืชให้กับชาวนา ทว่ามาตรการดังกล่าวกลับส่งผลชะลอเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย ทางรัฐบาลจึงใช้มาตรการที่เด็ดขาด รุนแรงกว่าเดิม ด้วยการประกาศห้ามผู้ผลิตอาหารเพิ่มราคาสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการในเดือนมกราคม

ระหว่างปี 1993-1994 วิธีการแทรกแซงดังกล่าวให้ผลที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากสามารถสยบปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทะยานกว่า 20% และทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างราบรื่นกระทั่งปัจจุบัน

ทว่าปัจจุบันนี้เศรษฐกิจจีนมีขาดใหญ่ขึ้น ซับซ้อน พึ่งพิงภาคเอกชนมากกว่าเดิม และใช่ว่าจะอยู่ใต้โอวาทการควมคุมของรัฐง่ายๆ

“การแก้ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นงานหลักของรัฐบาลจีน ทว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ควรใช้วิธีการควบคุมราคา หรือผลักภาระไปที่ผู้ผลิต รัฐบาลควรเลิกควบคุมราคา” ดิ อีโคโนมิค ออฟเซอร์เวอร์เผย

ล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า รัฐบาลได้สั่งให้เหมืองถ่านหินดำเนินการตลอดช่วงตรุษจีนไม่มีวันหยุด พร้อมกันนี้ขบวนรถไฟยังต้องขนส่งถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าโดยตรง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ปีนี้ราคาถ่านหินอาจเพิ่มสูงถึง 100% ฉะนั้นการแทรกแซงดังกล่าวอาจไม่ช่วยอะไร นอกจากรัฐบาลจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าจะรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร และรัฐบาลจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร นอกจากการแทรกแซงที่ยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย

ปัจจุบันภาวะขาดแคลนไฟฟ้า ทำให้การขนส่งสินค้า และการผลิตที่ต้องอาศัยพลังงานหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อในระยะใกล้ทะยานสูงขึ้น และระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้จะยิ่งเป็นปัญหารบกวนทั้งรัฐบาล และนักลงทุน หงเหลียง นักเศรษฐศาสตร์ จากโกลด์แมน แซคส์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น