ช่วงตรุษจีนในแต่ละปี “สีแดง” จะกลายเป็นสีที่ถูกพูดถึง และเข้ามาสะดุดตาสะดุดหูอยู่บ่อยๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือขึ้นไปถึงรุ่นอากง อาม่า ที่มีเชื้อสายจีนทั้งหลาย ก็จะบอกให้ลูกหลานใส่เสื้อผ้าใหม่ โดยเฉพาะถ้าให้ดีควรใส่เสื้อผ้าสีแดง จนถึงกับในบางย่านที่เป็นแหล่งคนจีน พอถึงวันตรุษจีนทีก็แทบจะตาลายด้วยคลื่นมนุษย์สีแดงเกลื่อนไปทั้งซอย ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงนี้ของแต่ละปี เสื้อผ้าสีแดงก็จะได้รับอานิสงส์ขายดิบขายดีไปด้วย หรืออย่างที่บอกว่าจะถูกจะแพงต้อง “แดง” ไว้ก่อน
ไม่เพียงแต่เสื้อผ้า ทว่าของใช้และของประดับอื่นๆในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่จีน ก็ยังนิยมใช้สีแดงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเชือกถักที่ใช้ประดับบ้าน กระดาษเขียนอักษรมงคล เทียน ซองอั่งเปา แม้แต่ของเซ่นไหว้ก็ยังมีการเอากระดาษสีแดงมาแปะเอาไว้ เพราะชาวจีนส่วนใหญ่จะเชื่ออยู่ในสายเลือดว่าสีแดงเป็นสีแห่งมงคล หรืออย่างที่ได้ยินผู้ใหญ่บอกเล่าเก้าสิบกันว่า ใส่สีแดง ใช้สีแดงแล้วจะเฮงๆๆ...
ทำไมต้องเป็นสีแดง?
สำหรับชาวจีนซึ่งตามสภาพภูมิประเทศของประเทศส่วนใหญ่อยู่ในอากาศที่หนาวหรือเย็นมากกว่าร้อน ดังนั้นคนจีนจึงชอบวันที่ฟ้าโปร่ง มีแสงแดด แล้วถ้าพูดถึงสีที่เป็นตัวแทนของแสงแดด ความอบอุ่นก็ต้องเป็น “สีแดง”
นอกจากนั้นในเบญจธาตุของจีน ที่ประกอบด้วย ธาตุทอง ธาตุไม้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุดิน สีแดงก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟ และธาตุไฟในแผนภูมิโป้ยก่วย (八卦) ของจีน ยังหมายถึงแสงสว่าง ความอบอุ่น พละกำลัง และความรุ่งโรจน์อีกด้วย
“สีแดง” จึงกลายเป็นสีที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชาวจีน และอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชาวจีนมาเป็นเวลานาน อีกทั้งมีการขยายความออกไปต่างๆนานาอาทิ สีแดงหมายถึงความรัก น้ำใจ ความเป็นสิริมงคล อำนาจบารมี ความกล้าหาญฯลฯ
สีแดงใช้กับอะไรบ้าง?
สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ สีก็เป็นเสมือน “ภาษา” ที่ใช้สื่อสารชนิดหนึ่ง ดังนั้นการที่จะใช้สีอะไร กับเรื่องราวใดก็ย่อมต้องมีเหตุผลหรือที่มาของสีนั้นๆ เสมือนเป็นการบอกกล่าวความหมายระหว่างผู้ส่งกับผู้รับสาร
อย่างที่รู้กันดีว่าคนจีนใช้สีแดงมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ การใช้สีแดงจึงถูกใช้ไปตามความหมายที่ต้องการจะสื่อ เช่นฮ่องเต้จีนสมัยก่อนที่ใช้หมึกประทับตราลัญจกรเป็นสีแดง เพราะเห็นว่าเป็นสีที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและพลังอำนาจ ยิ่งหลังช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเลือดรักชาติ การปฏิวัติ สีแดงจึงถูกใช้เป็นสีของธงทหาร สีธงชาติ ธงพรรค หรือหน่วยพิทักษ์แดง (เรดการ์ด)
ขณะที่ในวันตรุษจีน กระดาษที่ใช้ติดหน้าบ้าน โคม ประทัด หรือว่าซองอั่งเปาที่ให้กับเด็กๆจะใช้สีแดง นั่นก็เพราะว่าสีแดงเป็นสีแห่งไฟ สีแห่งแสงสว่าง จึงเชื่อว่าเป็นสีที่มีพลังอำนาจในการขับไล่สิ่งอัปมงคล ภูตผีปีศาจทั้งหลายออกไป ดังนั้นบ้านที่ติดสีแดง คนที่สวมชุดแดงหรือเด็กที่พกซองแดง จึงสามารถอยู่รอดปลอดภัยมีชีวิตที่สงบสุข
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ สีแดงจึงกลายมาเป็นสีที่มีนัยยะแห่งความศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งความหมาย จะเห็นได้จากวัดวาอาราม พระราชวัง พระตำหนักหรือสิ่งปลูกสร้างสมัยก่อนของจีนก็จะมีเสา หลังคา หรือว่าส่วนประกอบต่างๆที่เป็นสีแดง อย่างเช่นที่กำแพงของพระราชวังต้องห้าม หรืออาคารที่เทียนอันเหมิน
นอกจากนั้นก็ยังถูกใช้ในพิธีต่างๆที่แสดงความเป็นมงคล เช่นในการเปิดกิจการใหม่ ก็จะมีการติดกระดาษแดง โบแดง ริบบิ้นแดง ผ้าคลุมป้ายแดง ผ้าปูโต๊ะแดง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะสวมชุดแดงด้วย หรือในความหมายมงคลควบคู่กับความรักอย่างในพิธีแต่งงานที่จะเห็นชัด เพราะจะเห็นสีแดงละลานตาไปหมดไม่ว่าจะเป็นชุดของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ตัวอักษรที่ใช้ประดับในงาน หมวก ดอกไม้ รวมไปถึงเกี้ยวเจ้าสาว ขนาดกระดาษห่อของขวัญก็ยังใช้สีแดง
ไม่เว้นแม้แต่ในตลาดหุ้นของจีน สีแดงก็ยังเข้ามามีบทบาทอยู่ด้วยเช่นกัน กระดานหุ้นทางฟากตะวันตก หรือในหลายๆประเทศเวลากลายเป็นสีแดงหมายถึงหุ้นกำลังร่วง แต่สำหรับจีน ไต้หวัน ฮ่องกง หากกระดานหุ้นขึ้นสีแดงกลับมาถึงหุ้นกำลังขึ้น ดังนั้นจึงมีคำว่าเปิดกระดานแดง (开红盘) ที่หมายถึงหุ้นดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด
ยังมีอีกหลายอย่างที่มีการประยุกต์นำเอาสีแดงไปใช้สื่อความหมาย ซึ่งก็คงไม่สามารถสาธยายกันได้หมดสิ้น เพราะสำหรับจีน สีแดงแทบจะกลายเป็นสีแห่งวัฒนธรรม หรือที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมแดง (红文化) ไปแล้ว เพราะได้หล่อหลอมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับรูปแบบการดำรงชีวิตหลากหลายแบบ รวมไปถึงภาษาที่ใช้เช่น คำว่า 红人 ที่ถ้าถอดอักษรจะแปลว่าคนแดง แต่ถูกใช้ในความหมายของคนดัง คนที่ได้รับความชื่นชอบ หรือคำว่า 红运 ที่แปลตรงตัวว่าดวงแดง ก็ใช้ในความหมายว่าดวงดี คำว่า 红榜 ที่แปลว่ากระดานแดงหรือบอร์ดแดง ใช้ในความหมายของรายชื่อเกียรติยศเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำหรับชาวจีน สีแดงส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปในด้านที่ดีและเป็นมงคล แต่ก็ไม่ใช่ใช้กันพร่ำเพรื่อได้ทุกโอกาส เช่นชุดแดง หมวกแดง รองเท้าแดง จะถูกห้ามใช้ในการสวมใส่ไปงานอวมงคล นอกจากนั้นในสมัยโบราณฮ่องเต้จะสวมชุดมังกรสีเหลือง ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็จะใส่ชุดสีเทา สีดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งหากเคยสังเกตสักนิด จะเห็นว่ารุ่นอากง อาม่าของเราปกติแทบจะไม่ใส่ชุดแดงให้เห็นสักเท่าไหร่ จะเก็บไว้เฉพาะในงานเฉลิมฉลอง งานแต่งงาน หรืองานมงคลพิเศษๆเท่านั้น
เรียบเรียงโดย ยุทธชัย อนันตศักรานนท์