“มองโกล เผ่าพันธุ์ลูกหลานแห่งเจงกีสข่านผู้ยิ่งใหญ่ ชนชาติจากแผ่นดินทุ่งหญ้าอันเวิ้งว้าง นักล่าผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักขี่ม้าและนักยิงธนูตัวยง ได้เริ่มต้นประกาศแสนยานุภาพด้วยการยาตราทัพอันแข็งแกร่งบุกสู่ยุโรป ผนวกแผ่นดินซี่เซี่ยและจิน กระทั่งยึดครองลงใต้มายังราชธานีของราชวงศ์ซ่ง จนจีนต้องถึงกาลผลัดแผ่นดินอีกครั้ง...“
ราชวงศ์หยวน หรือที่เรียกในนามว่าต้าหยวน (大元)เป็นมหาอาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกลที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชนกลุ่มน้อยสามารถเข้ายึดครองอำนาจการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินจีนได้ ชาวมองโกลที่เชี่ยวชาญด้านการสัประยุทธ์ ไม่เพียงแต่ใช้กำลังทหารยึดครองเขตภาคกลางและพื้นที่ทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ของจีนเท่านั้น แต่ยังได้แผ่ขยายแสนยานุภาพควบคุมไปจนถึงเขตเอเชียตะวันตก กลางเป็นราชวงศ์ที่มีขอบเขตการปกครองที่กว้างใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีประวัติศาสตร์จีนเป็นต้นมา
อุบัติกาลชนชาติมองโกล
ชนชาติมองโกล(蒙古族)จัดเป็นชนเผ่าเก่าแก่หนึ่ง ที่อาศัยการเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในการดำรงชีวิต เนื่องจากอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร มีอากาศหนาวจัด และเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ชาวมองโกลเป็นคนที่มีความทรหดอดทน และเก่งกล้าสามารถในการขี่ม้าและยิงธนู กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 12 ในชนเผ่ามองโกลได้บังเกิดยอดคนที่เป็นผู้นำขึ้นคนหนึ่งนามว่า เถี่ยมู่เจิน (铁木真) หรือเตมูจินที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชนเผ่าด้วยการรวบรวมชาวมองโกลที่แตกแยกกระจัดกระจายได้สำเร็จ จนได้รับการขนานนามเป็น “เจงกิสข่าน” (成吉思汗)ในปีค.ศ. 1206
ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน ชนเผ่ามองโกลได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกองกำลังทางเหนือของจีนที่ไม่อาจดูแคลนได้อีกต่อไป ในขณะนั้น นอกจากอาณาจักรซ่งใต้ (南宋)แล้ว ยังมีอาณาจักรซีเซี่ย(西夏) และอาณาจักรจิน(金国)ที่จัดว่าเป็นดินแดนที่มีเอกราชอธิปไตยของตนอยู่ จนกระทั่งปี 1227 เจงกิสข่านได้นำทัพเข้าพิชิตดินแดนซีเซี่ย และสิ้นพระชนม์จบชีวิตอันเกรียงไกรของตนลงในปีเดียวกัน
แม้ว่าเจงกิสข่านจะสิ้นชีพไปแล้ว ทว่าด้วยรากฐานที่ได้วางเอาไว้ ส่งผลให้อาณาจักรของมองโกลมิเพียงไม่ถดถอย ซ้ำยังรุดหน้าขยายแผ่นดินไปเรื่อยๆ หลังจากกลืนแผ่นดินซีเซี่ยเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มต่อมายังอาณาจักรจิน ซึ่งถือว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรซ่งใต้กับมองโกล ซึ่งในช่วงเวลานั้น ราชสำนักซ่งใต้ ได้เลือกที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับมองโกล จนกระทั่งในปีค.ศ. 1234 กองทัพอันเหี้ยมหาญของชนชาติที่ยิ่งใหญ่บนทุ่งหญ้า ก็สามารถพิชิตอาณาจักรจินที่กำลังเสื่อมถอยลงได้
สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวน
หลังจากผ่านการสืบทอดอำนาจมาหลายรุ่น จากเจงกีสข่าน มาสู่วอคั่วข่าน กุ้ยโหยวข่าน เมิ่งเกอข่าน และเมื่อมาถึงสมัยของกุบไลข่าน หรือฮูปี้เลี่ย (忽必烈) หลานของเจงกีสข่านผู้ขนานนามตนเองว่าหยวนซื่อจู่ (元世祖)ได้ยอมรับความคิดเห็นของขุนนางนามหลิวปิ่งจง, หวังเอ้อ สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวนขึ้นในปีค.ศ. 1271 และย้ายราชธานีมาอยู่ที่ต้าตู (大都) หรือปักกิ่งในปัจจุบันโดยคำว่าหยวนมาจากคำในคัมภีร์โบราณของจีน “อี้จิง” (易经) โดยยังคงรักษาซั่งตู ให้เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอาณาจักรมองโกลผู้แผ่ขยายอาณาเขตไปจนถึงเปอร์เซีย รัสเซีย ที่แต่เดิมสนใจเพียงปล้นชิงขูดรีดจากแผ่นดินจีน กลายมาเป็นถือเป็นแผ่นจีนเป็นศูนย์กลางในการปกครองอาณาจักร อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ปักกิ่งค่อยๆกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมทางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
แม้ว่าจะมีการตั้งเมืองหลวงอยู่ในต้าตูแล้ว ทว่า ณ เวลานั้นชนชาติมองโกลยังไม่สามารถครอบครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ด้วยปณิธานที่ต้องการจะรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น กุบไลข่านจึงนำทัพบุกดินแดนซ่งใต้แล้วจับตัวฮ่องเต้ซ่งกงตี้กับพระมารดาไป ในห้วงเวลาดังกล่าวก็ยังมีขุนนางซ่งผู้จงรักภักดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญ ทว่าในที่สุดราชวงศ์ซ่งใต้ก็ถูกพิชิตอย่างราบคาบในปี 1279 ราชวงศ์หยวนสามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นโดยมีอาณาเขตทางเหนือจรดแผ่นดินมองโกล ไซบีเรีย ทางใต้จรดหนันไห่ (ทะเลใต้) ตะวันตกเฉียงใต้ครอบคลุมไปถึงมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และทิเบตในปัจจุบัน ตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงทางตะวันออกของซินเจียง (ซินเกียง) ตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทะเลโอคอตสค์ เป็นมหาจักรวรรดิแห่งแรกที่ครองพื้นที่ไปทั่วทั้งเอเชียและยุโรป
อารยธรรมอันรุ่งโรจน์ – มาร์โคโปโล เยือนจีน
ในยุคสมัยของหยวนซื่อจู่ ปฐมฮ่องเต้ในราชวงศ์หยวน ประเทศจีนในยามนั้นนับว่าเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมั่งคั่งมากแห่งหนึ่งในโลก จนกระทั่งมีบรรดาทูต พ่อค้าวาณิชย์ และนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางเข้ามายังแผ่นดินจีน
นอกจากนั้นฮ่องเต้หยวนซื่อจู่เองก็ยังทรงโปรดให้นำชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำให้ราชวงศ์หยวนเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การทำปืนใหญ่ และหัตถกรรมฯลฯ
และสืบเนื่องจากชนชั้นผู้ปกครองได้ทุ่มเทผลักดันการกสิกรรมแทนการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ทำให้วิวัฒนาการทางการเกษตรในช่วงเวลานี้ได้พัฒนาไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะเมื่ออาณาเขตได้แผ่ขยายไปจนถึงเอเชียตะวันตก ทำให้จีนกับยุโรปมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จนมีการถ่ายเทกรรมวิธีและความรู้ต่างๆไปมาอย่างรวดเร็ว
ในช่วงปีค.ศ. 1231-1316 กัวโส่วจิ้ง(郭守敬) ผู้เป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคณิตศาสตร์ และนักชลประทานชื่อดังแห่งราชวงศ์หยวน โดยกัวโส่วจิ้งกับหวังสวิน (王恂)ได้รับบัญชาจากหยวนซื่อจู่ ให้คุมงานการจัดสร้างหอดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ต้าตู โดยนอกจากการก่อสร้างแล้ว กัวโส่วจิ้งยังได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆขึ้นกว่าสิบสามชนิด เพื่อใช้ในหอดาราศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องดูดาวพิกัดท้องฟ้าทรงกลม(简仪) ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมที่ล้ำยุคอย่างยิ่งในสมัยนั้น
ส่วนการร่วมงานกับต่างชาติในยุคนี้ เห็นได้ชัดจากบันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียน ซึ่งถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปเอเชียและเขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งที่ได้พบได้ยินเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Travels of Marco Polo
โดย Niccolo กับ Maffeo บิดาและลุงของมาร์โคโปโลได้เดินทางมายังประเทศจีน และได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตจากกุบไลข่าน หลังจากกลับจากแผ่นดินจีนไปยังบ้านเกิด การมาอีกครั้งหนึ่งของพวกเขาได้นำพาบุตรชายมาร์โค โปโลติดตามมาด้วย
มาร์โค โปโลมาใช้เวลาเดินทาง 3 ปี กระทั่งมาถึงประเทศจีนด้วยวัย 20 ย่าง 21 ปี โดยเดินทางไปถึงซั่งตู และได้รับพระราชทานจัดงานเลี้ยงต้อนรับขึ้นในวังหลวง จากนั้นก็ให้ตระกูลโปโลอยู่ถวายงานในราชสำนัก ทำให้ในช่วงเวลา 17 ปีที่มาร์โค โปโลพำนักอยู่ในประเทศจีน มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อปฏิบัติภารกิจมากมาย
ในหนังสือของมาร์โค โปโลมีการบันทึกถึงรูปร่างของแผ่นดิน สัตว์ พืชพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ การเล่าถึงหินและของเหลวที่ติดไฟได้ (ถ่านหินและน้ำมัน) โดยเขาได้พรรณนาถึงอารยธรรมจีนว่ามีความเจริญเหนือกว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของชาวยุโรป และระบุว่าจีนมีแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่อยู่ 2 อย่างก็คือ “ดินปืนและบะหมี่”
อ่านต่อหน้า 2
การแบ่งชั้นวรรณะและการปกครองอันเหี้ยมโหด
ราชวงศ์หยวนเป็นยุคสมัยที่ประเทศต้องปกครองผู้คนหลากหลายชนชาติเผ่าพันธุ์ โดยมีประชากรที่เป็นชาวฮั่นมากที่สุด การปกครองในสมัยนั้นจึงยึดเอาชนชาติมองโกลเป็นกลุ่มชนหลักในการบริหารประเทศ
เพื่อปกครองและป้องกันการต่อต้นขัดขืนจากชาวฮั่นที่มีอยู่อย่างมหาศาลในแผ่นดินจีน ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจึงได้เลียนอย่างอาณาจักรจินที่มีการแบ่งชนชั้นของประชาชน ซึ่งในสังคมราชวงศ์หยวนชาวมองโกลทั้งหลายจะถูกจัดว่ามีฐานะทางสังคมสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นพวกเซ่อมู่ (เป็นชื่อเรียกรวมผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ทางตะวันตก อาทิพวกซี่เซี่ย หุยหุย ซีอี้ว์ เป็นต้น) จากนั้นก็เป็นชาวฮั่นทางเหนือที่เคยอยู่ใต้อาณัติการปกครองของอาณาจักรจิน ซึ่งรวมถึงชาวหนี่ว์เจิน ชี่ตาน ป๋อไห่ และที่ต่ำสุดก็คือชาวใต้ที่หมายถึงชาวฮั่นจากซ่งใต้ที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ในอาณัติปกครองหลังสุด และแม้ว่าในสมัยนั้น ราชสำนักไม่ได้มีการออกกฎหมายการแบ่งชนชั้นออกมา ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอยู่ในสิทธิอำนาจและหน้าที่ต่างๆของกฎหมายหลายๆฉบับ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่
นอกจากการแบ่งชนชั้นแล้ว สมัยราชวงศ์หยวนยังมีการแบ่งระดับความสูงต่ำของอาชีพเอาไว้เป็น 10 ลำดับได้แก่ ระดับที่1 ขุนนาง 2 ข้าราชการ 3 พระสงฆ์ 4 นักบวชเต๋า 5 แพทย์ 6 กรรมกร (แรงงาน) 7 ช่างฝีมือ 8 โสเภณี 9 บัณฑิต 10 ขอทาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บรรดาบัณฑิต หรือปัญญาชนทั้งหลายได้สูญเสียจุดยืนความสำคัญที่เคยมีมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ถูกจัดลำดับในสังคมอยู่ต่ำกว่ากระทั่งโสเภณีจนเกิดคำล้อเลียนเสียดสีในยุคสมัยนั้นว่า “หนึ่งขุนนางสองข้าราชการ เก้าบัณฑิตสิบขอทาน”ขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อมีวัตถุอุดมสมบูรณ์มากขึ้น บรรดาชนชั้นปกครองของราชวงศ์หยวนก็เริ่มที่จะใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟอนเฟะ อีกทั้งเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง โดยหลังจากที่ฮ่องเต้เฉินจง ที่สืบทอดต่อจากหยวนซื่อจู่ ซึ่งนับว่ายังพอจะรักษาผลงานของกุบไลข่านไว้ได้บ้างแล้ว หลังจากนั้นในระยะเวลาสั้นๆเพียง 25 ปีนับตั้งแต่ปี 1308-1333 ราชวงศ์หยวนมีฮ่องเต้ถึง 8 พระองค์จากฮ่องเต้อู่จง เหรินจง อิงจง ไท่ติ้งตี้ เทียนซุ่นตี้ เหวินจง หมิงจง หนิงจง และหยวนซุ่นตี้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจอย่างหนักหน่วง โดยบางพระองค์ครองราชย์เพียงปีเดียวเท่านั้น
ในยุคหลังของราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้แต่ละพระองค์ต่างใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตอบสนองตัณหาของตน จึงขูดรีดภาษีจากประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะกับชาวฮั่น ที่โดนกดขี่อย่างหนักหน่วง จนทำให้ชาวฮั่นทั้งหลาย ต้องเริ่มที่จะใช้วิธีการต่างๆในการตอบโต้กับการปกครองอันเหี้ยมโหดนี้
กองทัพโพกผ้าแดงและการล่มสลายของราชวงศ์
ความฟอนเฟะในราชสำนักได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงปลายราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลในชนชั้นปกครองยิ่งขูดรีดประชาชนสาหัส ใช้ความรุนแรงและโหดเหี้ยมกับทาส มีการอายัดที่ดินจำนวนอย่างมหาศาลเพื่อเอาไปใช้เสพสุข และผลักดันให้ประชาชนที่สูญเสียที่ดินกลายไปเป็นทาส อีกทั้งเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าต้นราชวงศ์ถึง 20 เท่าตัว
นอกจากนั้นยังมีการคร่ากุมสตรีชาวบ้านที่งดงาม ถลุงเงินจนรายจ่ายคลังหลวงไม่เพียงพอต่อรายรับ จนต้องมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างมากมาย ทำให้ค่าของเงินตราที่ใช้ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ผนวกกับในยามนั้นเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโหไม่ได้รับการบูรณะมาเป็นเวลาหลายปี จนเกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้ง ทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ จนกลายเป็นสภาพ “ผู้คนอดตายเกลื่อนถนน คนเป็นก็ไม่พ้นใกล้เป็นผี” (饿死已满路 生者与鬼邻)
ในปี 1351 ภายใต้สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ราชสำนักต้าหยวนได้ส่งทหาร 20,000 คนเพื่อบังคับเกณฑ์แรงงานชาวฮั่นถึง 150,000 คนเพื่อไปขุดลอกแม่น้ำและซ่อมเขื่อนที่พัง ซ้ำรายขุนนางที่มีหน้าที่คุมการขุดลอกยังฉวยโอกาสโกงกินเงินค่าอาหารของแรงงาน ทำให้ชาวฮั่นที่ถูกเกณฑ์มาต้องทนหิวทนหนาว จนมวลชนเกิดความเจ็บแค้นต่อราชสำนัก ในเวลานั้นเอง หลิวฝูทง (刘福通) จึงได้อาศัยลัทธิดอกบัวขาว (白连教) ในการรวบรวมชาวบ้านเป็นกองทัพชาวนาขึ้น
ต่อมาหลิวฝูทงได้ส่งสาวกลัทธิดอกบัวขาว ให้ออกไปปล่อยข่าวลือว่า “เมื่อใดที่มนุษย์หินตาเดียวปรากฏ ก็จะมีการพลิกฟ้าผลัดแผ่นดิน” หลังจากนั้นก็ลอบส่งคนไปทำรูปปั้นหินมนุษย์ตาเดียวแล้วนำไปฝังไว้บริเวณที่มีการขุดลอกแม่น้ำ ภายหลังเมื่อมีชาวบ้านไปขุดพบรูปปั้นหิน การต่อต้านชาวมองโกลจึงลุกลามขึ้นเป็นไฟลามทุ่ง
เมื่อโอกาสสุกงอม หลิวฝูทง และหานซันถง (韩山童)ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำลัทธิดอกบัวขาว ได้นำพาชาวบ้านจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้น เนื่องจากชาวบ้านที่รวมตัวกันนี้ต่างโพกผ้าสีแดงเอาไว้บนศีรษะ จึงได้รับการเรียกขานเป็น “กองทัพโพกผ้าแดง” (红巾军)
ทว่าในห้วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งกองทัพนั้น เนื่องจากเกิดความลับรั่วไหล ทำให้กองทัพโพกผ้าแดงที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างถูกทหารทางการล้อมปราบ หานซันถงหนึ่งในผู้นำถูกจับกุมตัวและสังหาร ในขณะที่หลิวฝูงทงหนีฝ่าวงล้อมออกมา
หลังจากที่หลิวฝูทงหลบรอดออกมาได้ ก็ทำการรวบรวมกองกำลังขึ้นอีกครั้ง แล้วทำการบุกตีเมืองต่างๆ และเนื่องจากไม่ว่ากองทัพบุกยึดไปถึงที่ใด ก็จะมีการเปิดคลังหลวงเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ทั้งหลายจนทำให้กองทัพมีกองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน และเมื่อถึงปี 1355 เมื่อกองทัพภายใต้การนำพาของหลิวฝูทงสามารถพิชิตเมืองป๋อโจวได้ จึงสถาปนา หานหลินเอ๋อ (韩林儿) บุตรชายของหานซันถงขึ้นเป็น “เสี่ยวหมิงหวัง” (小明王) จัดตั้งอำนาจการปกครองที่เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาขึ้น
กระทั่งในปี 1357 เมื่อหลิวฝูทงได้แบ่งกำลังเป็น 3 สายบุกขึ้นเหนือ โดยเส้นตะวันออกบุกผ่านซันตง เหอเป่ย มุ่งไปยังต้าตู เส้นกลางบุกผ่านซันซี เหอเป่ย ไปยังซั่งตู ราชธานีทางเหนือของมองโกล จนสามารถเผาพระราชวังทางเหนือของมองโกลได้ ทางตะวันตกบุกผ่านกวนจง ซิงหยวน เฟิ่งเสียง แล้วตีไปทางเสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ยโดยประสบชัยชนะมาตลอดทางถือเป็นช่วงที่กองทัพโพกผ้าแดงมีความรุ่งเรืองและเข้มแข็งที่สุด
ทว่าในภายหลัง ราชวงศ์หยวนยังคงดิ้นรนด้วยการให้ตำแหน่งกับบรรดาเจ้าของที่ดินและเหล่าเศรษฐีที่สามารถช่วยระดมพลมาช่วยทำศึกได้ ผนวกกับในขณะนั้นที่กองทัพโพกผ้าแดงได้แบ่งเป็นสามทัพแยกย้ายทำศึก ไม่มีการปักหลักแหล่งที่แน่นอนอีกทั้งขาดแผนการที่รัดกุมเพียงพอ จึงทำให้ต้องสูญเสียดินแดนที่ยึดมาได้กลับไปใหม่หลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งในห้วงเวลาที่กองทัพโพกผ้าแดงกำลังสู้ศึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับกองทัพหยวน หลิวฝูทงผู้นำของกองทัพก็ต้องมาเสียชีวิตลงในปี 1362
เมื่ออำนาจของกองกำลังโพกผ้าแดงเสื่อมสลายนั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่อีกกองกำลังทางใต้ที่นำโดยจูหยวนจาง (朱元璋)กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจูหยวนจางผู้นี้เป็นลูกชาวนาเกิดในครอบครัวที่แร้นแค้น เดิมสังกัดอยู่กับกัวจื่อซิงในกองทัพโพกผ้าแดง ทว่าภายหลังได้ออกมาตั้งกองกำลังของตนเอง และได้แผ่ขยายขึ้นหลังจากที่ได้บุกยึดเมืองจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ พร้อมทั้งยอมรับคำแนะนำจากนักกลยุทธนามจูเซิงที่ได้ชี้ว่า “ให้สร้างกำแพงเมืองสูง สั่งสมเสบียงอาหาร ชะลอการตั้งตนเป็นอ๋อง” บวกกับได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีเสิ่นวั่นซันทำให้กองทัพนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
จูหยวนจางเองแม้สร้างผลงานมากมาย แต่ในระยะแรกก็ยึดมั่นในคำแนะนำดังกล่าว พยายามสนับสนุนให้ชาวเมืองเพิ่มพูนผลผลิต และตั้งตนเองเป็นเพียงอู๋กั๋วกง (เจ้าพระยา) อีกทั้งเชิญตัวเสี่ยวหมิงหวังที่กองทัพโพกผ้าแดงตั้งเป็นกษัตริย์มาอยู่ด้วย ทำให้ชาวฮั่นทั้งหลายเชื่อถือในความชอบธรรมของกองทัพนี้มากกว่ากองกำลังอื่นๆ จนสุดท้ายสามารถเอาชนะกองกำลังขุนศึกอื่นๆอย่างสีว์โซ่วฮุย เฉินโหย่วเลี่ยง และจางซื่อเฉิงไปได้
เมื่อวันขึ้นสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปี1368 (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม) ทั่วทั้งแดนใต้ก็อยู่ในอำนาจของจูหยวนจางทั้งหมด จูหยวนจางจึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิง (明朝)ขึ้นที่อิ้งเทียนฝู่ โดยตั้งชื่อรัชกาลว่าหงอู่ ตั้งเมืองอิ้งเทียนเป็นเมืองหลวงทางใต้ และตั้งไคเฟิงเป็นเมืองหลวงทางเหนือ
ที่มาของชื่อราชวงศ์นั้น มีตำนานเล่าขานกันว่ามาจากการที่ในอดีตจูหยวนจางเคยเป็นสาวกลัทธิแสงสว่าง (หมิงเจี้ยว) เมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้จึงได้ใช้คำว่า “หมิง” มาเป็นชื่อราชวงศ์ จนกระทั่งถึงเดือน 7 ในปีเดียวกัน จูหยวนจางได้ส่งแม่ทัพใหญ่สีว์ต๋าบุกถึงต้าตู อันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวน จนกระทั่งหยวนซุ่นตี้ต้องลี้ภัยขึ้นไปทางเหนือจึงถือว่าเป็นกาลอวสานของราชวงศ์หยวนอันเกรียงไกร
ราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกล มีอายุทั้งสิ้น 97 ปี และมีฮ่องเต้ทั้งหมด 11 พระองค์ (นับจากที่กุบไลข่านสถาปนาราชวงศ์) นับเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีความเข้มแข็งมากราชวงศ์หนึ่ง ทว่าด้วยความแบ่งแยกชนชั้น ความฟุ้งเฟ้อ การขูดรีดและการกดขี่ชาวฮั่นทำให้ต้องล่มสลายเร็วกว่าที่ควร ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของราชวงศ์ชิงในยุคต่อมา
อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์หยวนจัดว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ได้กำหนดอาณาเขตการปกครองของแผ่นดินจีนในภายหลังขึ้น เนื่องจากตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนจนถึงช่วงกลางหลังของราชวงศ์ชิง อาณาเขตของแผ่นดินจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก