xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยอัมพาตสหรัฐฯ แห่พึ่งหมอจีน เชื่อคำโฆษณาใช้สเต็มเซลล์บำบัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยาฮู นิวส์ – ด้วยทางเลือกที่มีไม่มากในสหรัฐฯ ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือทางน้ำ ผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน หรือตาบอด พยายามค้นหาวิธีการรักษาจากในอินเตอร์เน็ต และหลายคนค้นพบเว็บไซต์หลายเว็บฯ ที่โฆษณาเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ ในประเทศจีน

ผู้ป่วยหลายคนตัดสินใจจำนองบ้าน และระดมทุนเป็นค่าเดินทางและรักษา โดยหวังว่าจะเกิดปาฏิหาริย์แก่ชีวิตของพวกเขา ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเพื่อรักษาตัวนั้นหลายคนกลับมาและเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จในการเดินทางไปจีนในครั้งนี้

จิม ซาเวจ หนุ่มจากฮุสตัน ซึ่งเป็นอัมพาตเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลังให้สัมภาษณ์ว่า เขาสามารถขยับแขนขวาได้ เพนนี โธมัส จากฮาวายเล่าว่า อาการสั่นจากโรคพาร์กินสันของเธอเกือบหายขาดแล้ว และพ่อแม่ของหนูน้อยริเลีย บาร์เล็ตต์ วัย 6 ปีจากมิสซูรี ซึ่งเกิดมาพร้อมความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นบอกว่า ลูกสาวของเธอสามารถมองเห็นได้แล้ว

แต่คำกล่าวอ้างข้างต้นส่วนใหญ่ล้วนขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน และแพทย์ฝั่งตะวันตกหลายคนเตือนว่า ผู้ป่วยอาจกลายเป็นหนูทดลองให้แก่หมอจีน เพราะห้องวิจัยในจีนหลายแห่งไม่มีความแม่นยำ อีกทั้งการทดลองกับมนุษย์นั้นก็จำเป็นจะต้องได้รับการพิสูจน์ว่าการรักษาดังกล่าวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แพทย์ตะวันตก 3 คนได้มีการยกเคสของผู้ป่วย 7 รายที่เส้นประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และเลือกที่จะเดินทางไปฉีดเซลล์เนื้อเยื่อสมองที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งจากการศึกษาผู้ป่วยทั้ง 7 รายนี้ได้ผลสรุปว่า “ไม่มีการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์” แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกเขามีอาการดีขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ คนไข้ 5 คนเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน อาทิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญบางรายในประเทศซีกโลกตะวันตกพูดถึงทฤษฎี ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าตัวเองอาการดีขึ้นทั้งที่มีเอกสารยืนยันเบาบางว่า บางรายได้รับการบำบัดทางร่างกายอย่างหนัก ร่วมกับการฉีดยานิรนามเข้าไป หรือรวมไปถึงการใช้ยาที่บังเกิดผลทางจิตใจ แต่ไม่มีฤทธิ์รักษาโรค หรือที่เรียกว่า Placebo Effect

ขณะที่ จอห์น สตีฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ซึ่งนั่งตำแหน่งหัวหน้าองค์กรตรวจสอบการรักษาเส้นประสาทไขสันหลังให้อีกเหตุผลหนึ่งว่า คนไข้บางรายไม่ต้องการบอกญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ให้เงินช่วยเหลือเข้าทราบการรักษาล้มเหลว เพราะไม่ต้องการให้คนเหล่านี้รู้สึกผิดหวังไปกับเขาด้วย“ผู้ป่วยไม่ต้องการบอกเพื่อน หรือญาติพี่น้องว่าการรักษาล้มเหลว เพราะไม่มีใครต้องการได้ยินเรื่องแบบนี้” สตีฟกล่าว
เซริค อนันชีฟ หนุ่มคาซัคสถานวัย 27 ปี (ขวา) ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลเทียนจิน ผู่หัวในปักกิ่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการใช้วิธีสเต็มเซลล์บำบัด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มแพทย์จากประเทศตะวันตกจะไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยไปแสวงหาการบำบัดเหล่านี้ โดยอ้างว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะรับรองความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพของการรักษาที่ว่า หรือแม้แต่จะล่วงรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาฉีดเข้าสู่สมองและไขสันหลังของผู้ป่วยคืออะไร

แต่ผู้ป่วยและครอบครัวของพวกเขากลับยอมเผชิญกับความเสี่ยง และบอกว่าพวกเขาไม่มีเวลาที่จะรอหลักฐานการยืนยันความสำเร็จมากไปกว่านี้ หลายคนเดินทางมายังจีนด้วยความหวังเต็มเปี่ยม

ซาเวจ นักกฎหมายวัย 44 ปี เป็นคนหนึ่งที่พร้อมรับความเสี่ยงนี้ เขาได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลังอย่างรุนแรงขณะพายเรือแคนูเมื่อ 25 ปีก่อน ซาเวจใช้เวลา 2 เดือนครึ่งในช่วงปลายปี 2006 และต้นปี 2007 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ของจีน เพื่อรับการฉีดสิ่งที่โรงพยาบาลบอกเขาว่าเป็น “เซลล์ต้นแบบ” ที่ได้มาจากเลือดจากรก โดยฉีดเข้าสู่ไขสันหลังของเขา ซึ่งซาเวจเล่าว่า หลังจากนั้นเขาสามารถขยับแขนขวาได้เป็นครั้งแรกหลังจากประสบอุบัติเหตุ และยังกล่าวว่า ผิวของเขามีความรู้สึกมากขึ้น

จนถึงตอนนี้ไม่ทราบว่ามีชาวต่างชาติที่เดินทางไปรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเช่นเดียวกับซาเวจจำนวนกี่รายแล้ว โดยจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการใช้เทคนิกดังกล่าว แต่ยาฮู นิวส์รายงานว่า แพทย์จีนหลายรายไม่ยอมรอผลการทดลองที่แน่นอนเสียก่อน แต่กลับไปทดลองรักษากับผู้ป่วยที่ยินยอมจ่ายเงินให้

ทั้งนี้การใช้เซลล์ต้นแบบในการรักษาไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา วงการแพทย์ทั่วโลกได้มีการใช้เซลล์ต้นแบบจากเลือดและไขกระดูกของผู้ใหญ่ หรือกระทั่งการใช้เซลล์จากเลือดจากรกเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อรักษามะเร็งในเลือด อาทิ ลูคิเมีย และลิมโฟมา (โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง) รวมทั้งโรคเลือดอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง เป็นต้น

และกำลังศึกษาว่าเซลล์ต้นแบบของผู้ใหญ่และเซลล์อื่นๆ อาทิเซลล์ที่ได้จากจอประสาทตา และเยื่อสมองตัวอ่อนในครรภ์จะสามารถใช้แทนเซลล์ที่สูญเสียเนื่องจากโรคหรือการบาดเจ็บได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามทฤษฏีเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดลองในสัตว์ ส่วนการทดลองในมนุษย์ยังถูกจำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น