xs
xsm
sm
md
lg

น้ำฟ้าและรอยศรัทธา

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมโบกมือลาเมืองซีอานบนรถไฟสาย K119 ......

ท้องฟ้าข้างนอกมืดมาได้สักพักแล้ว แต่แสงไฟภายในรถยังคงสว่างอยู่

ผู้คนเริ่มเบียดเสียดกัน บ้างแย่งชิงตั๋วที่นั่งได้ก็โชคดีไป แต่มีจำนวนไม่น้อยต้องตีตั๋วยืนซึ่งนั่นก็หมายความว่าการเดินทางเที่ยวนี้เขาต้องพึ่งสิ่งที่เรียกว่า 'โชค' ถ้าเผอิญมีที่ว่างเพราะมีคนลงก่อน ส่วนที่นั่งบนพื้นนั้นจะว่างก็เพียงครั้งละ 2-3 นาทีเท่านั้น ด้วยรถขายอาหารกับพนักงานให้เช่าวีซีดีภาพยนตร์ที่เดินหาลูกค้าผ่านไปผ่านมาตลอดคืน

การเดินทางโดยรถไฟที่เมืองจีน การแย่งชิงที่นั่ง การได้สูดกลิ่นบุหรี่กลิ่นฉุนๆ นั้นถือว่าเป็นของตาย แต่นอกจากการแย่งชิงและกลิ่นบุหรี่แล้วการได้มีชายฉกรรจ์แปลกหน้ามานอนซบหัวไหล่ก็ถือว่าเป็นอีกรสขื่นที่หากใครไม่เคยลองก็คงไม่รู้

ที่นั่งตรงกันข้ามกับผมเป็นคุณปู่อายุสัก 70-80 ปี ขึ้นมาพร้อมลูกสาว กับหลานชาย ใบหน้าของคุณปู่ดูท่าทางเหนื่อยล้า แกจุดบุหรี่ตราหมีแพนด้าขึ้นมาสูบสองมวน ก่อนที่จะผลอยหลับไป

บุหรี่มวนที่สามของคุณปู่ปลุกผมขึ้นมาในเวลาเลยตีสองมาได้สักพักแล้ว เสียงประกาศในโบกี้ระบุว่า สถานีหน้า คือ สถานีเทียนสุ่ย

สองนาฬิกาสามสิบนาที รถไฟสาย K119 เข้าเทียบท่าตรงเวลาเผง

ผมโซซัดโซเซเข้าหาโรงแรมจิ้งหรีดที่หน้าสถานีรถไฟ ล้างหน้าล้างตา ก่อนจะล้มตัวลงนอนเอาแรง เพราะเมื่อเวลาที่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้า ผมมีนัดกับหนึ่งในสี่สุดยอดถ้ำหินสลักแห่งแผ่นดินจีน ถ้ำหินสลักไม่จีซาน แห่งเมืองเทียนสุ่ย

ย้อนทบทวนความจำกันอีกสักครั้ง ชาวจีนเขาถือกันว่าสุดยอดถ้ำหินสลักแห่งประเทศจีนนั้นมี 3 หรือ 4 แห่งอันประกอบไปด้วย

หนึ่ง ถ้ำหินสลักโม่เกา (ม่อเกา) (莫高石窟)แห่งตุนหวง (敦煌) มณฑลกานซู่
สอง ถ้ำหินสลักหยุนกัง (อวิ๋นกัง) (云冈石窟) แห่งต้าถง (大同) มณฑลซานซี
สาม ถ้ำหินสลักหลงเหมิน (龙门石窟) แห่งลั่วหยาง (洛阳) มณฑลเหอหนาน

ทั้งนี้ในบางตำราบางเล่มยังระบุเพิ่มเติมไปอีกว่าหากเติมตัวเลขความเป็นที่สุดเข้าไปอีกหนึ่ง หมายเลขสี่ ก็คงจะหนีไม่พ้น ถ้ำหินสลักไม่จีซาน (麦积山石窟) แห่งเทียนสุ่ย (天水) มณฑลกานซู่นี่เอง

มณฑลกานซู่เป็นมณฑลที่ขึ้นชื่อถึงความแห้งแล้ง โดยเมื่อเปิดดูแผนที่ประเทศจีนที่เขาว่ากันว่ามีรูปลักษณะคล้ายไก่แล้วก็จะพบว่ามณฑลกานซู่นี้ก็อยู่ในส่วนบริเวณของปีกไก่ และเป็นหนึ่งในดินแดนแห่งความทุรกันดารทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ที่เมื่อหลุดเข้ามาในดินแดนแห่งนี้แล้วเมื่อมองไปรอบตัวก็มีแต่ ทะเลทราย ทะเลทราย และทะเลทราย!

คนจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือมีศัพท์เรียกคำว่าทะเลทรายอยู่สองแบบด้วยกันก็คือ เกอปี้ (戈壁) และ ซาม่อ (沙漠) โดยคนท้องถิ่นนั้นอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างศัพท์สองคำนี้ว่า เกอปี้ ก็คือทะเลทรายที่มองไปก็มีแต่ก้อนหิน ก้อนกรวด และไม้พุ่มต้นกระจ้อยขึ้นแซมอยู่เล็กน้อย ขณะที่ ซาม่อ นั้นเป็นทะเลทรายเวิ้งว้างที่มีแต่ทรายเม็ดละเอียดเป็นส่วนประกอบ แต่สำหรับชาวจีนบางส่วนกลับระบุว่า จริงๆ แล้วคำว่า เกอปี้และซาม่อนั้นต่างก็มีความหมายว่าทะเลทรายเช่นกัน เพียงแต่ เกอปี้ หรือ Gobi นั้นเป็นภาษามองโกลที่ใช้เรียกคำว่าทะเลทรายเท่านั้น

กระนั้น แม้มณฑลกานซู่จะขึ้นชื่อถึงความแห้งแล้งและสภาพอากาศไม่เหมาะที่มนุษย์จะอาศัยอยู่เนื่องจากสภาพอากาศที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นพายุทราย ลมร้อนแล้ง พายุลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง แต่ดินแดนแห่งนี้ก็ถือเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษชาวจีนดำรงชีวิตมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ที่บรรพบุรุษของชาวจีนเหลือทิ้งไว้มากมาย

โดยเฉพาะกับเทียนสุ่ยดินแดนแห่งนี้ว่ากันว่าเป็นถิ่นกำเนิดของหนึ่งในสามบูรพกษัตริย์ของชาวจีน ฝูซี (伏羲)

แม้กานซู่จะแห้งแล้ง แต่ 'เทียนสุ่ย' พื้นที่ซึ่งที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุดของมณฑลแห่งนี้ กลับอุดมไปด้วยน้ำ เพียงแค่ชื่อ 'เทียนสุ่ย' ที่แปลว่า 'น้ำจากฟากฟ้า' ก็คงพอจะยืนยันอะไรได้บ้าง

เจ็ดนาฬิกา ผมลุกขึ้นล้างหน้า-แปรงฟัน ก่อนเดินออกมาที่หน้าสถานีรถไฟเช่นเดิม หลังจากเจรจาค่าโดยสารเพื่อไปเยือนถ้ำหินสลักไม่จีซานที่อยู่ห่างออกจากตัวเมืองไปประมาณ 30 กิโลเมตรกับโชเฟอร์รถรับจ้างอยู่สักพัก แล้วล้อก็เริ่มหมุน

สมกับเป็นเมืองน้ำฟ้า ในช่วงเวลากลางฤดูร้อนเช่นนี้ บนเส้นทางจากเมืองเทียนสุ่ยไปยังถ้ำหินสลักไม่จีซานกลับมีฝนตกมาพร่ำๆ ตลอดเส้น มองไปนอกหน้าต่างต้นไม้ ใบหญ้า ทุ่งข้าวบาร์เลย์ และทุ่งข้าวโพดข้างทางต่างก็ส่งสีเขียวชะอุ่ม

หลังจากเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ข้างทางได้ไม่ถึงชั่วโมงดี ไม่จีซาน ภูเขาลูกย่อมๆ ค่อยๆ ปรากฎกายอยู่เบื้องหน้า

คำว่าไม่จีซาน (麦积山) แปลตรงตัวได้ว่าภูเขากองข้าวสาลี สาเหตุที่ภูเขาและถ้ำหินสลักแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นภูเขากองข้าวสาลีก็อันเนื่องมาจาก รูปลักษณ์ของภูเขาแห่งนี้นั้นไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็มีลักษณะเหมือนกับกองข้าวสาลีกองโตกองหนึ่ง

แล้วถ้ำหินสลักบนภูเขากองข้าวสาลีนี้มีความเป็นมาอันใด?

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว นักโบราณคดีคาดคะเนว่า งานหินสลักพระพุทธรูปบนภูเขาแห่งนี้นั้นเริ่มสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 4-5 และมีการสร้างใหม่-ซ่อมแซม มาจนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันผลงานที่หลงเหลืออยู่บนหน้าผาของภูเขาแห่งนี้ก็มีในยุค เว่ยเหนือ เว่ยตะวันตก โจวเหนือ สุย ถัง ห้าราชวงศ์ ซ่ง หยวน หมิง และชิง รวมทั้งสิ้น 194 ถ้ำ เป็นพระพุทธรูป-รูปสลัก 7,000 กว่าองค์

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ว่าเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีฝนตกชุก ทำให้มีจิตรกรรมฝาผนังเหลือรอดให้คนรุ่นหลังเห็นไม่มากนัก เพียงแค่ 1,300 ว่าตารางเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จิตรกรรมฝาผนังจะถูกสายฝนและกาลเวลากัดกร่อนไปเป็นจำนวนมาก แต่พระพุทธรูปและรูปสลักของถ้ำหินสลักไม่จีซานนั้นก็ยังถือว่า งดงามและสมบูรณ์สมกับที่มีคนกล่าวว่า เป็นสุดยอดถ้ำหินสลักติดอันดับหนึ่งในสี่ของแผ่นดินจีน

สำหรับความงดงามของพระพุทธรูป-รูปสลักแห่งไม่จีซานนั้นเป็นความงดงามที่ผสมผสานเอาศิลปะของนอกด่านคือทางอินเดีย-เปอร์เซีย และศิลปะของชาวจีนในด่านเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น พระพุทธรูปในถ้ำหมายเลข 44 ที่สร้างขึ้นในสมัยเว่ยตะวันตก (ราวศตวรรษที่ 6) นั้นเป็นพระพุทธรูปที่มีความสมบูรณ์และงดงามมาก โดยเฉพาะรอยยิ้มของพระพุทธรูปองค์นี้นั้นได้รับฉายานามว่า 'โมนาลิซาแห่งบูรพา' เลยทีเดียว

ขณะที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ และเป็นสัญลักษณ์ของถ้ำหินสลักไม่จีซานนั้นคือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อ 1,300 กว่าปีก่อนในสมัยราชวงศ์สุยแห่งถ้ำหมายเลขสิบสาม โดยพระประธานนั้นมีความสูง 17 เมตร ขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์สององค์ที่แต่ละองค์มีความสูงราว 13 เมตร ว่ากันว่าแต่ดั้งเดิมนั้นพระพุทธรูปบนหน้าผาแห่งนี้ต่างถูกสร้างขึ้นด้วยดินเหนียวผสมไข่ไก่ทำให้พื้นผิวของพระพุทธรูปเหล่านี้นั้นค่อนข้างจะมีความมันวาว อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขของกาลเวลา ณ ปัจจุบัน การซ่อมแซมพระพุทธรูปเหล่านี้หันมาใช้วัสดุเป็นซีเมนต์ แทนดินเหนียวผสมไข่ไก่ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม

บนหน้าผาของไม่จีซาน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 กว่าเมตร มีไอเย็นลอยตามลมมา สายหมอกที่ลอยระอยู่รอบกาย ผสานด้วย รัศมีแห่งความเมตตา และ อานุภาพแห่งความศรัทธา

ผมยืนรับไอเย็น มองท้องฟ้าครึ้มและเนินเขาเขียวแห่งแดนน้ำฟ้าที่เรียงรายซ้อนกันอยู่อย่างเงียบๆ

Tips สำหรับการเดินทาง:
- การเดินทางเข้า-ออก จากเมืองเทียนสุ่ยสามารถทำได้โดยสะดวก เนื่องจากเมืองเทียนสุ่ยเป็นเมืองหลักที่อยู่กึ่งกลางของเส้นทางระหว่างเมืองซีอานเมืองเอกของมลฑลส่านซี และหลานโจวเมืองเอกของมลฑลกานซู่ โดยมีทั้งรถไฟและรถบัสผ่านทั้งวัน สถานีรถไฟของเมืองเทียนสุ่ยนั้นจะอยู่ในเขตเป่ยเต้า (北道区) อันอยู่ห่างจากเขตฉินเฉิง (秦城区) ตัวเมืองของเทียนสุ่ยประมาณ 17 กิโลเมตร
- ถ้ำหินสลักไม่จีซาน (麦积山石窟) แห่งเทียนสุ่ย (天水) อยู่ห่างจากสถานีรถไฟราว 30 กิโลเมตร สามารถนั่งรถประจำทางไปได้ในราคา 5 หยวน/คน/เที่ยว หรือถ้าจะเหมารถไป-กลับ เองก็ได้แล้วแต่ต่อรอง
- ราคาค่าบัตรผ่านประตู ถ้ำหินสลักไม่จีซานอยู่ที่ 70 หยวน (มีบัตรนักเรียน 35 หยวน) แนะนำให้จ้างผู้บรรยาย-นำชม ราคา 50 หยวน (จำกัดไว้ 5 คน ถ้าเกินจ่ายเพิ่มหัวละ 10 หยวน) โดยผู้บรรยายเหล่านี้จะมีกุญแจเปิดให้เราเข้าชมในบางถ้ำบางจุดที่ถูกปิดใส่กุญแจไว้
- สำหรับผู้ที่ศึกษาด้านศิลปะโดยเฉพาะ ต้องการศึกษารูปสลัก-ภาพจิตรกรรมฝาผนังของถ้ำหินสลักไม่จีซานที่ไม่เปิดให้ผู้ชมทั่วไปเข้าชมอย่างละเอียดก็สามารถจ่ายเพิ่มได้ถ้ำละ 400 หยวน
- บริเวณสถานีรถไฟมีที่พักให้เลือกหลายระดับ ราคาไม่แพง สามารถเผื่อเวลาเพียงหนึ่งวันในการเยี่ยมชมถ้ำหินสลักไม่จีซานได้สบายๆ หรือหากเหลือเวลาจะไปเยือนศาลฝูซีที่อยู่ในเขตฉินเฉิงก็ได้เช่นกัน

อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 绝壁上的佛国 โดย ต่งกว่างเฉียง (董广强) สำนักพิมพ์ 甘肃地质印刷厂 ฉบับเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.2004
- หนังสือท่องเที่ยวจีนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ฉบับท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (臧羚羊自助游) สำนักพิมพ์ 中国大百科全书出版社 ฉบับเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2003









กำลังโหลดความคิดเห็น