xs
xsm
sm
md
lg

“ภิพัชรา แก้วจินดา” พัฒนาแฟชั่นให้ยั่งยืน จากฝาขวดพลาสติกสู่กระเป๋าและเสื้อผ้าสุดฮิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งในแบรนด์แฟชั่นไทยที่สปอตไลท์กำลังสาดส่อง นาทีนี้ ต้องยกให้ "Pipatchara" ที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง “ทับทิม-จิตริณี กับ เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา” แม้แจ้งเกิดได้เพียง 6 ปี แต่กลับสร้างชื่อดังไกลไปถึงระดับโลก

เบื้องหลังความสำเร็จไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่แลกมาด้วยความทุ่มเทและตั้งใจเกินร้อยของทั้งคู่ ที่ผสานกันอย่างลงตัวกลายเป็นที่มาของ คอนเซ็ปต์แบรนด์สุดเก๋ อย่าง “Fashion for community” ซึ่งผลงานทุกชิ้นนอกจากจะเน้นดึงให้คนในชุมชนมามีส่วนร่วมแล้ว ยังมีคอลเลกชันที่นำพลาสติกมาอัปไซเคิลอีกด้วย


ทำไม? "Pipatchara" ถึงนิยามตัวเองว่า เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ทั้งรักษ์โลกและแคร์ชุมชน เพชร ภิพัชรา หนึ่งใน Co-Founder ของแบรนด์เล่าว่า

ก่อนจะมาปั้นแบรนด์ของตัวเอง เธอจบการศึกษา Fashion Design จาก Academy of Art University สหรัฐฯ และเป็นนักเรียนทุนที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ปารีส หลังเรียนจบเธอได้ทำงานด้านแฟชั่นดีไซน์ที่ฝรั่งเศส 5-6 ปี และเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก ทั้ง Givenchy และ Chloe อีกด้วย


พอกลับมาเมืองไทยจึงมีไอเดียที่จะทำแบรนด์แฟชั่น ที่เน้นชูวัตถุดิบ อย่าง หนัง เลยไปชวนพี่สาวมาเป็นหุ้นส่วน แต่ด้วยความที่พี่สาวสนใจเรื่องชุมชนและความยั่งยืนอยู่แล้ว เลยขอว่าถ้าจะทำแบรนด์ อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมและชุมชน

“พอมีโจทย์แบบนี้ เราเลยตั้งใจว่า อยากนำความเป็นศิลปะ (Art) และงานฝีมือ (Craft) เข้าไปให้ความรู้คนในชุมชน โดยเริ่มจากการลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน เพราะตอนนั้นพี่สาวเป็นจิตอาสาให้มูลนิธิ SATI (สติ) ซึ่งกำลังมีโปรเจกต์นำเครื่องกรองน้ำไปให้ชุมชนพอดี เธอและพี่สาวจึงตามไปลงพื้นที่

“เราไม่ได้อยากเข้าไปทำโปรเจกต์เดียวแล้วจบ แต่อยากสร้างความเป็นพี่เป็นน้อง ดังนั้น เลยต้องลงไปศึกษาให้แน่ใจก่อนว่า จะเข้าไปช่วยสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้จริงหรือเปล่า ที่สำคัญคือ คนในชุมชนต้องการสิ่งที่เราทำให้หรือไม่”


ผลจากการลงชุมชนทำให้เพชรและพี่สาว ได้พบกับทีมงานชุดแรก ซึ่งเป็นคุณครูในชุมชน 8 คน ที่สนใจมาฝึกทักษะการถักแบบ มาคราเม (Macrame) หรือการถักเชือกหนังเส้นยาวๆ ให้ออกมาเป็นลวดลายที่สวยงามรูปแบบต่างๆ เป็นงานศิลปะที่มีต้นกำเนิดจากอาหรับ เพื่อเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการสอนหนังสือ หลังจากถักเสร็จ ทีมงานในชุมชนจะจัดส่งกลับมาให้ทางแบรนด์นำชิ้นงานไปทำงานต่อ

“สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการทำงานกับชุมชนคือ เขารู้สึกดีที่ได้ทักษะ ทำให้รู้ว่าตัวเองก็ทำงานฝีมือได้ เพชรว่างานอาร์ตเป็นการบำบัดจิตใจอย่างหนึ่ง ทำให้เรามั่นใจว่าเราก็ทำได้ เหมือนที่คนบอกว่าวาดรูปไม่เป็น จริงๆ เพชรว่า ไม่จริงหรอก เพราะต่อให้เราวาดอะไรออกมา ก็เป็นงานอาร์ตอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับแบรนด์ของเรา เราไม่ได้ต้องการสร้างชุมชนให้มาถักทอสินค้าให้เรา แต่เราอยากชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในงานอาร์ตของเราให้มากที่สุด”


หลังจากประสบความสำเร็จจากชุมชนแรก เพชรก็ขยายคอนเซ็ปต์การให้ความรู้ชุมชนต่อไปที่เชียงราย ซึ่งเธอยอมรับว่า ด้วยโลเกชั่นของพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายกว่า ทำให้การทำงานกับชุมชนมีความคล่องตัวกว่าที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงสถานที่ฝึกสอน เลยขยายผลได้มากกว่า

จากผลงานกระเป๋าหนังที่มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน มาถึงอีกหนึ่งคอลเลกชันที่จุดพลุให้แบรนด์ "Pipatchara” เป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์กระเป๋ารักษ์โลก อย่าง คอลเลกชัน ‘Infinitude’ ซึ่งเพชรบอกว่า ตั้งต้นมาจากความสนใจของพี่สาวที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม

“จริงๆ พี่สาวก็พูดเรื่องความยั่งยืนมาตลอด แต่ที่ผ่านมา เราอาจจะยังรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับเราโดยตรง เพราะถ้าถามว่าเราเองเป็นสายรักษ์โลกมั้ย ส่วนใหญ่ที่บ้านจะเน้นการแยกขยะตามประเภทใหญ่ เช่น แก้ว พลาสติก กระดาษ และขยะอาหาร จนมาช่วงโควิด-19 ที่งานทุกอย่างฟรีซ เลยมีเวลามาศึกษามากขึ้น จึงพบว่าโรงงานขยะในเมืองไทยมีการจัดการขยะที่ดีมากๆ มีการแยกขยะตามประเภทวัสดุและสีเรียบร้อย ซึ่งฝาขวดน้ำมีสีที่หลากหลายให้นำไปต่อยอดได้เยอะมาก เลยได้แรงบันดาลใจว่า จะนำขยะพลาสติกรีไซเคิลที่ถูกมองว่าไร้ค่ามาทำเป็นกระเป๋า”


เพชรบอกว่าใช้เวลาศึกษาอยู่ร่วม 2 ปี เพื่อคิดค้นการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ เพื่อปั๊มออกมาเป็นรูปทรง ก่อนจะส่งต่อไปเชียงรายให้ต่อเป็นกระเป๋าตามแพตเทิร์นที่ออกแบบไว้ แล้วส่งกลับมาเพิ่มดีเทลหนัง ซึ่งเราใช้หนังจากอิตาลีทั้งหมด

ด้วยกระบวนการที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ในตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าจะทำขายจริงจัง แต่อยากโชว์เคสให้เห็นว่าพลาสติกรีไซเคิลสามารถทำเป็นกระเป๋าได้ แต่ปรากฏว่าพอทำออกมาแล้วได้รับฟีดแบคดี กลายเป็นว่า นอกจากจะได้ช่วยเหลือชุมชนยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นำพลาสติกที่ไม่มีใครต้องการมาต่อยอดให้มีมูลค่า

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ "Pipatchara" ไม่ใช่สายแฟชั่นจ๋า แต่เป็นกลุ่มที่ชอบอะไรนิชๆ ไม่เหมือนคนอื่น มองหาไอเทมที่มีคุณค่าทางจิตใจ ที่สำคัญ ชอบงานอาร์ตแอนด์คราฟต์ งานหัตถกรรม รู้สึกว่าไอเทมที่ใช้ไม่ใช่แค่ของแฟชั่น แต่มีสตอรี่ และทำให้รู้สึกดีกับของที่ใช้ อย่าง ลูกค้าบางคนถึงขั้นเก็บฝาขวดและบดพลาสติกมาให้เลยก็มี (หัวเราะ) นอกจากนี้ ด้วยความที่เราทำงานกับโรงงานขยะโดยตรง ฉะนั้น ขยะพลาสติกของเราจะมาจากครัวเรือน ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า อยากได้ฝาสีไหนมาทำกระเป๋า หรือวางแผนได้เลยว่าสีไหนจะมีกี่ใบ ลูกค้าจึงต้องมาลุ้นที่หน้าร้านเอง หรือบางช่วงที่ฝาขวดขาดแคลน เราก็เปิดรับบริจาคฝาขวด รวมถึงทัปเปอร์แวร์ เพื่อนำมาใช้ผสมให้สีพลาสติกที่ออกมามีมิติ ดูเหลือบๆ เหมือนหินอ่อน”


มาถึงการบาลานซ์ชีวิต ที่วันนี้ไม่ได้มีตัวคนเดียว แต่มีสามีสุดหล่อ อย่าง "ฌอห์ณ จินดาโชติ" เป็นคู่ชีวิตที่คอยซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน

“เพชรให้ความสำคัญกับครอบครัวไม่น้อยกว่างาน โชคดีที่เราสองคนต่างมีแพสชั่นของตัวเอง อย่าง เพชรเองแน่นอนว่าเป็นเรื่องแฟชั่น-ชุมชน เขาเองก็มีแพสชั่นเรื่องการทำหนัง ทำให้เราคุยกันง่าย เข้าใจอีกฝ่ายที่เวลามีแพสชั่นกับอะไรมากๆ จะทุ่มเทและสละเวลาให้กับเรื่องไหน เพชรมองว่าความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เราก็จะคอยซัพพอร์ตกัน โดยเฉพาะเรื่องความครีเอทีฟ งานวิดีโอ และโปรดักชันเขาจะช่วยเพชรได้มาก”


สำหรับเป้าหมายของแบรนด์นั้น คือคงความเป็น Fashion For Community ที่อยู่ได้นานที่สุด อยากให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และทำให้ชุมชนใหญ่ขึ้น

“6 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น โดยเรามีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ไช่แบรนด์แฟชั่นที่ต้องออกของเป็นซีซันส์ หรืออัปเดตเทรนด์ตลอด แต่เราพยายามรักษาทุกอย่างไว้ให้นานที่สุด อย่าง กระเป๋าคอลเลกชันตั้งแต่ปี 2018 หรือ 2020 ก็ยังอยู่ เพราะในการพัฒนาเราใช้เวลาเยอะ อนาคตอาจจะไป Collab กับแบรนด์อื่นเพื่อสร้างอิมแพคที่มากขึ้น” เพชรกล่าวทิ้งท้าย








กำลังโหลดความคิดเห็น