xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “พรพรรณ พหลโยธิน” ไฮโซไทยในอเมริกา ทำอะไรถึงรวย กอบโกยเป็นร้อยล้านต่อปี!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ Celeb Online พาไปรู้จักกับ “คุณเจี้ยบ - พรพรรณ พหลโยธิน” เจ้าของร้านอาหารสไตล์เอเชี่ยนฟิวชั่น (Asian Fusion) ชื่อดังในรัฐฟลอริดา ที่โดดเด่นทั้งในเรื่องรสชาติและสไตล์การตกแต่งบนจานที่มีแฟนคลับเป็นนักชิมท้องถิ่นตลอดจนนักท่องเที่ยวมากมายเป็นต้องมาลิ้มลอง เฉพาะที่นี่ที่เดียว พร้อมเผยแรงบันดาลใจทำไมถึงรวย ที่เริ่มจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟจนกลายมาเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารไทย ที่มีกอบโกยรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการไปฟังวิธีปรับสมดุลชีวิตและการทำงานให้ Work Life Balance ได้อย่างไร?

“เจี้ยบชอบทำและชอบทานค่ะ” คุณเจี้ยบยิ้มตาสระอิภายใต้หน้ากากอนามัย พร้อมส่งเสียงอารมณ์ดีเริ่มต้นเปิดบทสนทนา พร้อมกล่าวว่าเธอนั้นมีความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากจะออกมาท่องโลกกว้าง ชื่นชอบการเดินทางอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ จึงขอคุณแม่ว่าเมื่อไรที่เจี้ยบเรียนจบเจี๊ยบจะขอมาอยู่กับคุณอาที่อเมริกา


“เจี้ยบมีความฝันตั้งแต่วัยเด็กแล้วค่ะว่าอยากไปท่องโลกกว้าง พอเรียนจบประมาณปี 2543 เจี้ยบอายุประมาณ 23 ปี เจี้ยบไปขอแม่เลยว่าถ้าเรียนจบจะไปอยู่กับคุณอาที่ดัลลาส (เมืองทางเหนือรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา) คุณอาเจี้ยบเปิดร้านอาหารที่เมืองนี้ค่ะ เจี้ยบมาถึงก็มาเรียนภาษา และระหว่างเรียนคุณอาให้ไปทำงานร้านอาหาร เพราะอยากให้เราได้ประสบการณ์ และการไปทำงานร้านอาหารนี้ไม่ได้ว่าต้องมาทำงานร้านคุณอานะคะ เดี๋ยวจะเป็นอะไรที่ไม่ได้เรียนรู้งาน คุณอาให้ไปหาไปสมัครงาน ซึ่งเจี้ยบไปสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ร้านอาหาร “ลิเบอร์ตี้” (Liberty) เป็นร้านอาหารสไตล์เอเชี่ยนฟิวชั่น (Asian Fusion) เจ้าของร้านเป็นอเมริกัน เป็นร้านที่ดังมากเพราะประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นการรังสรรค์เมนูอาหารที่ล้ำสมัยมาก ยกตัวอย่างนำเส้นก๋วยจั๊บไปผัดขี้เมา เมนูผัดไทยจะใช้เป็นกรีน เคอรี (Green Curry) ราด และด้านบนมีกุ้งเผา

ในร้านมีพนักงานเป็นชาวเอเชียนและชาวเม็กซิกัน ระหว่างทำงานเสิร์ฟเจี้ยบก็ขอเจ้าของร้านว่า เราสนใจอยากเข้าไปทำงานในครัวด้วยนะคะ คือเจี้ยบชอบงานครัว รักการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก ทางเจ้าของร้านใจดีบอกเอาเลย เจี้ยบก็เลยได้เปิดโอกาสเข้าไปเรียนรู้ช่วยงานในครัวอีกหน้าที่ค่ะ คือเจี้ยบทำงานแบบมัลทิเพิล (Multiple) มาก เสิร์ฟได้พอครัวยุ่งก็เข้าไปช่วยงานครัวช่วยผัดข้าวสนุกสนานมากค่ะ หลังๆ นี้คือเข้าแต่ครัวเลย ชอบทำกับข้าว ผัดข้าวออกมาสวย อาหารอร่อย ลูกค้าชื่นชมชอบ พอเจี้ยบได้ฟังแล้ว มีความสุขมาก ที่นอกจากเราจะได้ทำงานในสิ่งที่เรารักและมีรายได้และยังมีชื่นชอบในรสชาติอาหารของเจี้ยบด้วย”


จากการเรียนรู้ได้ประสบการณ์การใช้ชีวิตร้านอาหารได้ประมาณ 3 ปีทางร้านก็ได้ปิดกิจการลง และคุณเจี้ยบได้รับการชักชวนจากคนไทยในเมืองให้ไปเป็นพนักงานออฟฟิศนำเข้าจิวเวลรีจากเมืองไทย ทำได้ไม่กี่เดือนก็ขอลาออกเพราะไม่สนุก “เจี้ยบรู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวของเราเลย จากนั้นเจี้ยบรู้สึกว่าเราจะต้องตั้งหลักทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นเจี้ยบอายุประมาณ 26 เกือบ 27 ปีแล้ว เจี้ยบชอบธรรมชาติ คือเมืองดัลลาสที่เจี้ยบอยู่เป็นเมืองเศรษฐกิจไม่มีธรรมชาติให้ท่องเที่ยวเป็นเมืองทำงาน แหล่งสังสรรค์ของที่เมืองนี้ก็จะอยู่ในร้านอาหาร ซึ่งเจี้ยบชอบธรรมชาติ จึงคิดว่าเราย้ายไปไมอามี่ (Miami) ดีกว่า จากนั้นจึงตัดสินใจย้ายจากดัลลาสเลยค่ะ ติดต่อเพื่อนที่อยู่ไมอามี่บอกให้ช่วยหางานให้ด้วย แน่นอนว่าต้องเป็นงานร้านอาหารเท่านั้นค่ะ เจี้ยบค้นพบแล้วว่าตัวเองชอบงานสไตล์นี้ เจี้ยบจึงได้ทำงานในร้านอาหารไทยค่ะ ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟร้านซูชิ แอนด์ ไทย”

หลังจากทำงานในร้านอาหารนี้ได้ประมาณ 5 ปี คุณเจี้ยบเริ่มมองหาทำเลเปิดร้านอาหารของตัวเองเลย จากจุดเริ่มต้นจากเงินทุนของตนเอง จากวันนั้นจวบจนวันนี้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารด้วยกันถึง 4 ร้าน “เจี้ยบคิดเลยว่าถ้าเปิดร้านอาหารที่ไมอามีต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก และถ้าจะเปิดต้องมีการร่วมหุ้นกันนั้นเจี้ยบมองว่าไม่มีแน่เลย เจี้ยบเห็นมาเยอะแล้วค่ะ การลงทุนลงหุ้นส่วน จึงอยากจะทำอะไรด้วยกำลังของตัวเองที่มี ก็เลยขอนำเงินสะสมที่เรามีเพื่อมาเปิดกิจการร้านอาหารที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กในฟลอริดา เมืองนี้เป็นที่รู้จักในเรื่องของชายหาดอันงดงามและหอศิลป์ที่มีชื่อเสียง จึงเป็นจุดหมายปลายทางอันสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ที่รักศิลปะ ธรรมชาติ และการผจญภัยกลางแจ้งค่ะ


แนวทางในการทำธุรกิจของเจี้ยบ คือการบริหารด้วยงบประมาณที่เจี้ยบมี ต้องไม่ใหญ่เกินตัว และไม่มีความคิดว่าจะต้องไปกู้เงินให้เป็นหนี้ หรือจะใช้เงินอนาคตใช้บัตรเครดิตไปรูดจ่ายก่อน เพื่อมาเปิดร้านอะไรแบบนี้ไม่ใช่แนวทางเจี้ยบค่ะ เจี้ยบคิดว่าการเริ่มจากงบประมาณเงินทุนที่เรามี บวกกับการวางแผนประมาณการของรายรับและรายจ่าย การรู้จักมองสถานการณ์การวิเคราะห์ทำเล เจี้ยบจะต้องเหนื่อยในเรื่องของการทำการบ้านก่อนเปิดร้าน ต้องหาข้อมูลศึกษาตลาดกลุ่มลูกค้า แต่นี่คือการเหนื่อยด้วยแรงกายที่เรานอนพักก็หายเหนื่อยแล้วค่ะ แต่ถ้าไปยืมเงินหรือกู้เงินจากธนาคารมา เรานอนพักหนี้ตื่นมาหนี้ไม่หายนะคะ เราต้องหาเงินมาใช้นี้ค่ะ

เจี้ยบเปิดร้านอาหารร้านแรกในชีวิตที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กในฟลอริดา ชื่อร้าน “บานาน่า ลีฟ” (Banana Leaf) เป็นร้านเล็กๆ ประมาณ 40 ที่นั่ง เป็นร้านอาหารสไตล์เอเชี่ยนฟิวชั่น (Asian Fusion) ที่มีพนักงานเริ่มต้น 4 คน มีเจี้ยบรวมด้วยเป็น 5 คน ทั้งร้านมีแค่นี้ เสิร์ฟ ครัว ล้างจาน ทำความสะอาด มีเท่านี้จริงๆ หน้าที่ไหนขาด เจี้ยบไปทำแทนเพราะเราทำได้ทุกอย่าง เจี้ยบคิดทบทวนมั่นใจว่าเราทำได้ เจี้ยบจึงเปิดร้านด้วยเงินทุนของตัวเองทุกบาททุกสตางค์เลยค่ะ ไม่มีไปแบมือขอเงินคุณอาหรือคุณแม่เลยค่ะ ทำไปเก็บออมไปทำสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายจำเป็นมากค่ะ กำไรได้มาเราต้องรู้จักเก็บเลยค่ะ


จากนั้นประมาณ 2 – 3 ปี เจี้ยบเริ่มขยายธุรกิจ เปิดอีกร้านค่ะด้วยเงินทุนของเจี้ยบเลยค่ะ ร้านนี้ชื่อว่า “เบซิล ลีฟ” (Basil Leaf) เป็นร้านอาหารสไตล์เอเชี่ยนฟิวชั่น (Asian Fusion) เช่นกัน ร้านนี้มีประมาณ 80 ที่นั่ง ทำเลไม่ไกลจากร้านแรกมากค่ะ แต่ทำเลจะแถวชายละเล พอมีร้านที่สองเปิดเจี้ยบมีรายรับมากขึ้น เจี้ยบเริ่มเอารายรับไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเก็บไว้ค่ะ และเก็บเงินอีกส่วนไว้ขยายธุรกิจค่ะ แล้วต่อมาเปิดร้านที่ 3 “แบมบู บิสโทร” (Bamboo Bistro) ร้านนี้เปิดด้วยความที่เจ้าของที่ดินที่เจี้ยบไปเช่าเปิดร้านที่ “เบซิล ลีฟ” พื้นที่ที่อยากให้เจี้ยบไปดูแลร้านอาหาร เจี้ยบไม่ต้องลงทุนเรื่องการตกแต่งและอุปกรณ์ เจี้ยบเพียงแต่พาทีมงานและครีเอทเมนูและดูแลร้านนี้ไป

ซึ่งในระหว่างการทำร้านอาหาร 3 ร้าน เจี้ยบก็มีทำอสังหาริมทรัพย์ซื้อขายบ้านและที่ดินควบคู่ไปด้วยค่ะ ไปดูบ้านและนำมาตกแต่ง บางหลังก็ซื้อมาอยู่เอง จากนั้นก็พอราคาขึ้นก็ปล่อยขายค่ะ ต่อมาจึงเปิดร้านที่ 4 ร้านนี้ชื่อว่า “เดอะ เลมอนกราส” (The Lemongrass) ทำเลย่านดาวน์ทาวน์ ในเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา มีประมาณ 150 ที่นั่งค่ะ


แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโรนา COVID – 19 จะระบาดอย่างหนักในสหรัฐอเมริกาแต่โชคดีว่ารัฐฟลอริด้ายังเน้นนโยบายเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพของพลเมือง จึงไม่ปิดการค้าขายแต่ให้มีมาตรการการเฝ้าระวัง กิจการร้านอาหารของเธอจึงไม่กระทบและยังมีรายได้ที่ดีมากอีกด้วย “ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดแรกๆ ร้านค้าในเมืองเปิดขายน้อยร้านค่ะ เพราะขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่เป็นในทุกภาคส่วนธุรกิจค่ะ แต่ร้านเจี้ยบโชคดีมีทีมเวิร์กที่ดีพนักงานเราสู้มาก อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเห็นเจ้าของร้านสู้ไม่ถอย เปิดเขาก็มาช่วยเจี้ยบด้วยค่ะ โดยเจี้ยบจะลงไปทำงานเองทุกขั้นตอน เจี้ยบดูแลพนักงานทุกท่านเหมือนหุ้นส่วนร้าน เจี้ยบบอกทุกคนเสมอว่าถ้าร้านอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นร้านนี้เป็นความสำเร็จของทุกคน

ช่วงขาดแคลนแรงงาน แม้จะมีปัญหาแต่พนักงานช่วยกันจริงๆ อย่างเจี้ยบเองลงไปเข้าครัวผัดข้าว แล้วถ้าวันไหนพนักงานในร้านขาด ไปพักผ่อน หรือพนักงานตำแหน่งไหนไม่มา เจี้ยบสามารถไปช่วยงานได้ ทุกตำแหน่งค่ะ ซึ่งเจี้ยบเองก็ทำทุกหน้าที่ค่ะ ฉะนั้นช่วงสถานการณ์โควิดจนกระทั่งปัจจุบันทางร้านเราจึงขายดีมาก ขายดีจนบางทีไม่ไหวขอปิดร้าน พนักงานทำไม่ไหวขายดีจนวัตถุดิบหมดเลยก็มีค่ะ”


แม้ว่ากิจการร้านอาหารจะไปได้ดี แต่ก็ไม่ทิ้งสีสันของชีวิต เพราะปรับสมดุลชีวิตและการทำงานให้ Work Life Balance จึงเลือกที่จะส่งต่อ 3 ร้านอาหารให้กับเจ้าของร้านใหมที่เลือกเฟ้นแล้วว่าจะสานต่อกิจการด้วยความรักดังเช่นเธอสร้างไว้

“เจี้ยบอยากมีชีวิตที่มีความสุขได้ทำในสิ่งที่อยากทำ จึงเลือกที่จะเก็บไว้เพียงร้านเดียวคือ ร้านเดอะ เลมอนกราส ตรงย่านดาวน์ทาวน์ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา ค่ะ ร้านนี้เป็นร้านที่เจี้ยบชื่นชอบทั้งสไตล์อาหารและการตกแต่งรวมไปถึงบรรยากาศริมทำเล ซึ่งทำให้เจี้ยบมีเวลามากขึ้นไปได้มีเวลาพักผ่อน บินไปเม็กซิโก ไปคอสตาริกา บินไปเปอร์โตริโก ยิ่งช่วงหลังๆ มานี้ร้านเริ่มอยู่ตัวเที่ยวหนักมาก ก่อนโควิดระบาดนะคะ ไปแบบวิถี Backpacker ไปยุโรปก็บ่อยเลยค่ะ ไปครั้งหนึ่งประมาณ 2 สัปดาห์ นับๆ ดูตอนนี้เจี้ยบน่าจะเดินทางเกือบๆ 40 ประเทศแล้ว

แต่ช่วงระยะหลังนี้ไปไหนไม่ได้ไกลอาจจะด้วยเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเจี้ยบจะไปสเตเคชั่น (Staycation) ไปเที่ยวในละแวกบ้าน ใช้เวลา 1 – 2 วันไปท่องเที่ยวได้เลย สถานที่ท่องเที่ยวในฟลอริด้าเยอะมาก ไปดิสนีย์เวิลด์ ไปยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ไปบินเครื่องบินเล็กที่ไปบ่อยมากไปนั่งเล่นสนุกมากได้สูดอากาศสดชื่น แต่คิดถึงนับวันรอกันเลยว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่จะไปเที่ยวเยือนที่ชอบอีกค่ะ วางแผนไว้แล้วตั้งแต่ ประทับใจมาก โครเอเชีย สวยมาก เมืองเก่า ผู้คนน่ารักมาก เม็กซิโก,คอสตาริกา โปรตุเกส แคนาดา และปานามา ยังประทับใจที่เคยไปในหมู่บ้านคนป่า คนพื้นเมืองเลย ได้ไปไฮกิ้ง (Hiking) ไปปีนเขา เจี้ยบชอบท่องเที่ยวแนวผจญภัย ไปเล่น Zipline โรยตัวโหนสลิงในที่ที่หวาดเสียวมากแต่สนุกค่ะ”


ชีวิตงานมีความสุขไปได้สวยชีวิตคู่มีความสุขนี้เป็นเสมือนเพื่อนที่ดีเป็นคู่คิดกันในทุกเรื่องและแชร์ทุกความรู้สึก “คู่ของเราเริ่มมาจากความเป็นเพื่อนแล้วก็รักแต่งงานใช้ชีวิตคู่มานาน 10 กว่าปีแล้วค่ะ เจี้ยบมาอยู่อเมริกาก่อนเดือนกุมภาพันธ์นี้ครบ 22 ปีที่เจี้ยบอยู่และทำธุรกิจด้านร้านอาหารค่ะ สามีคุณโน้ต (ภัทร์ พหลโยธิน) เป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่ายสบายๆ ไม่ได้พูดเยอะ และพร้อมสนับสนุนเราในทุกเรื่องค่ะ ล่าสุดอยู่บ้านมากเจี้ยบสนุกกับการซื้อของออนไลน์ จึงปิ๊งไอเดียผุดโปรเจ็กต์พรีออเดอร์ (Pre Order) ที่มีผลตอบรับดีมาก เพราะเจี้ยบนำส่งสินค้าดีมั่นใจของแท้จากอเมริกาและการันตรีราคาดีไม่มีผิดหวัง สามีก็สนับสนุนช่วยทำด้วยเขาบอกว่าดีแล้วจากความชอบชอปมาสร้างรายได้อีกค่ะ สนใจสามารถสอบถามและสั่งซื้อสินค้าได้ทางเพจเฟสบุ๊ค (Facebook Page) “ช้อปทุกอย่างที่ขวางหน้า USA” หรือสะดวกช่องทาง Instagram นั้นฝากติดตามได้กับ “fverythingusa” สะดวกช่องทางไหนสนใจสั่งสินค้าชิ้นไหน ส่งข้อความทักมาหาเจี้ยบได้เลยค่ะ


ส่วนเรื่องบ้านก็เช่นกันค่ะ เจี้ยบสนุกกับการเลือกทำเลที่อาศัย และสนุกกับการตกแต่งบ้าน บ้านที่เจี้ยบไปซื้อมาและขายไปมากกว่า 6 หลังนั้นนอกจากจะสร้างความสุขที่เราได้ตกแต่งเลือกทำเลแล้วตกแต่ง พอมีคนชอบมาขอซื้อเราก็นอกจากกำไรแล้ว เจี้ยบก็มีความสุขด้วยค่ะ ล่าสุดเราย้ายมาอยู่บ้านใหม่ค่ะ Pasadena Yacht & Country Club ได้ประมาณ 6 เดือนค่ะ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในทำเลดีมาก และมีสโมสรคลับเฮาส์ของหมู่บ้านที่ดีมาก มีคลาสออกกำลังกาย หรือจะไปออกรอบสนามกอล์ฟที่นี่ดีมาก ในหมู่บ้านมีร้านอาหาร มีลานจอดเครื่องบินส่วนตัว มีสนามบินขนาดเล็ก มีท่าเทียบเรือยอร์ช พาน้องหมาน้องแมวไปนั่งรถเล่นในหมู่บ้านไปนั่งเครื่องบินเล็ก

แค่นี้เราก็มีความสุขกันแล้วค่ะ เจี้ยบชอบชีวิตที่นี่มีความสุข เรามีชีวิตคู่ที่มีความสุข เจี้ยบพอใจแล้วได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ทุกวันนี้ชีวิตคุ้มแล้วค่ะ ได้ดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่เราได้ทำ มีสามีที่มีความเหมือนกันแทบจะทุกเรื่องชอบกิจกรรมผจญภัย ชอบน้องหมาน้องแมว อ่านหนังสือ สามารถอยู่ในบ้านได้ทั้งวันไม่ไปไหนค่ะ” คุณเจี้ยบ - พรพรรณ พหลโยธิน เล่าทิ้งท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น