xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดตชีวิตบาร์เทนเดอร์ไฟแรง “รณภร คณิวิชาภรณ์” ในวันที่ผับ-บาร์ต้องงดให้บริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในไทย เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว หนึ่งในธุรกิจที่เจ็บหนักเบอร์ต้นๆ คงหนีไม่พ้น ธุรกิจผับ-บาร์ เพราะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่เจอคำสั่งให้ต้องปิด!

พอเจอแบบนี้ ก็ทำเอา “หนึ่ง-รณภร คณิวิชาภรณ์” บาร์เทนเดอร์ชื่อดัง ที่มีรางวัลการันตีฝีมือมากมาย แถมยังพ่วงตำแหน่งเจ้าของร้าน Backstage Cocktail, Bar Find the Locker Room และ Find the Photo Booth ถึงกับยอมรับว่า “ก็ค่อนข้างลำบาก” เพราะได้รับผลกระทบเต็มๆ ยังไม่รวมรายได้ที่หายไป จากการที่ธุรกิจฝั่งอีเวนต์เองก็ชะงัก จากปกติจะมีทำ Cocktail Catering เดือนละ 2-3 ครั้ง แต่พออีเวนต์จัดไม่ได้ รายได้ตรงนี้ก็หายวับไปกับตา

“คนทำธุรกิจค่อนข้างลำบากครับ เพราะถูกสั่งปิดเป็นธุรกิจแรกๆ ก็จริง แต่รัฐเองก็ไม่ได้มีมาตรการเยียวยาหรือชดเชยอะไรมากนัก ทั้งที่ถ้านับรวมๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงตอนนี้ ธุรกิจผับ-บาร์ ได้มีโอกาสเปิดไม่ถึง 10 เดือน หรือถ้าให้เห็นภาพ ปีนี้เราได้เปิดร้านแค่เดือนเดียวคือมีนาคมที่ผ่านมา ที่เหลือคือโดนสั่งปิดหมด” หนึ่งฉายภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้เห็น ก่อนเสริมว่า
“ผมเอง ช่วงแรกๆ ที่ร้านต้องปิด ก็ผันตัวมาหุ้นกับเพื่อนทำน้ำผลไม้คอร์เดียล (Cordial) ซึ่งเป็นน้ำเชื่อมที่มีรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว สำหรับผสมเครื่องดื่มมาขายทางเดลิเวอรี เพื่อตอบโจทย์คนที่อาจจะอยากชงเครื่องดื่มกินเองที่บ้าน ปรากฏว่าผลตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ อาจเพราะลูกค้าไม่คุ้น หรืออยากได้เครื่องดื่มสำเร็จรูปมากกว่าจะต้องไปชงหรือผสมดื่มเองที่บ้าง พอธุรกิจกลับมาเปิดได้บ้าง ผมก็เลยกลับมาโฟกัสที่ธุรกิจบาร์


จนพอร้านถูกปิดอีกครั้งเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นหนุ่มแอกทีฟ อยากหาอะไรทำยามว่าง เลยตัดสินใจลุกขึ้นมาสวมบท “พ่อค้าเฉพาะกิจ” ด้วยการนำประสบการณ์ที่ผิดพลาดครั้งก่อนมาต่อยอด เริ่มทำเครื่องดื่มเดลิเวอรีขายผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว

“พอทุกอย่างหยุดหมด งานก็ไม่มี แถมไม่ได้เดินทางไปไหน จากแต่ก่อนเราเดินทางบ่อยมาก ทั้งไปเที่ยวและไปทำงาน ชีวิตเลยมาถึงจุดที่กลับมาถามตัวเองว่า ทำอะไรดี เพื่อไม่ให้ว่างและรู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่า สุดท้ายมาลงตัวที่การทำเครื่องดื่มขาย ในชื่อ Made by @ Ronnaporn ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้หวังว่าธุรกิจนี้จะต้องดังหรือไปได้ดีมากๆ เพราะถ้าถามว่าไปได้มั้ย ก็โอเค ประคองตัวได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้มีรายรับเข้ามาและไม่เบื่อ

อย่างก่อนหน้านี้ เราจะเห็นคนที่อยู่ในธุรกิจบาร์ปรับตัวมาเป็นคาเฟ่ ซึ่งผมก็ว่าดีนะครับ แต่ส่วนตัวผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า การมาสังสรรค์ที่บาร์ก็ไม่ต่างจากการมากินอาหารแบบ Fine Dining คือคนที่มาไม่ใช่แค่มาดื่มเครื่องดื่มเมนูที่ชอบ แต่ต้องการเสพประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งดื่มที่เคาน์เตอร์บาร์ อินไปกับบรรยากาศร้าน ฉะนั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยนโมเดลจากบาร์มาเป็นคาเฟ่ ผมเลยอาจจะมองว่าไม่ค่อยคุ้มในเชิงธุรกิจ บวกกับเรื่องของความชำนาญ ผมเองมาสายบาร์เทนเดอร์ ถ้าจะให้ไปชงกาแฟ ก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่าคนที่อยู่ในสายนี้โดยตรง”


อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ตั้งใจเป็นพ่อค้าเพื่อคลายเหงา หนึ่งเลยค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าจากคนรู้จัก อาศัยการบอกปากต่อปาก ใช้วิธีรับพรีออร์เดอร์ ซึ่งลูกค้าที่เข้ามามีทั้งขาจรและขาประจำ แต่เพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ รู้สึกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาให้ลองตลอดเวลา เลยคิดสูตรใหม่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 เมนู รวมๆ ตอนนี้ก็มี 40 กว่าเมนูแล้ว

ถามว่ามีช่วงที่ตันๆ คิดไม่ออกบ้างมั้ย “ก็มีบ้างครับ ผมก็อาศัยท่องโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อหาแรงบันดาลใจ บวกกับตอนนี้ระบบโลจิสติกส์ค่อนข้างดี อยากได้วัตถุดิบอะไรก็สั่งมาได้หมด แต่ในเรื่องความสนุก ก็ต้องยอมรับว่าไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าลูกค้าเองก็เช่นกัน ถ้าเลือกได้ก็คงอยากออกจากบ้านมาเปิดประสบการณ์ หรือสังสรรค์แบบเจอหน้ากันมากกว่า แต่ด้วยสถานการณ์ก็อาจจะต้องอดใจรอไปก่อน


นอกจากจะรับออร์เดอร์ตรงจากลูกค้า หนึ่งบอกว่ายังมีอีกช่องทางทำเงิน นั่นคือการรับออร์เดอร์จากแบรนด์ที่หันมาจัด Virtual Event (อีเวนต์ออนไลน์) หรือกลุ่มคนที่อยากจะจัดปาร์ตี้หรือฉลองวันเกิด แต่ไม่สะดวกมาเจอกัน ก็อาจจะเลือกสั่งทำเครื่องดื่มเมนูพิเศษ แล้วให้ไปส่งที่บ้านเพื่อนหรือคนที่อยากจะปาร์ตี้ด้วยกันแทน

นอกจากนี้ เร็วๆ นี้ หนึ่งกำลังจะมีโปรเจกต์ใหม่ นั่นคือเปิดคลาสสำหรับคนที่อยากเป็นบาร์เทนเดอร์ หรืออยากมีทักษะใหม่ๆ ในช่วงที่ไม่มีอะไรทำ โดยทำเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 4-5 คน

“ตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาแล้วครับ แต่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะใช้รูปแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด เพื่อความปลอดภัยและสบายใจของทุกฝ่าย เพราะเราไม่ได้สอนเป็นออนไลน์ เนื่องจากการสอนบาร์เทนเดอร์มีรายละเอียดหลายอย่าง และที่สำคัญยังต้องมีเรื่องการชิมเครื่องดื่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ให้ฟีดแบ็กได้ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าทำเป็นรูปแบบออนไลน์อาจจะมีข้อจำกัดพอสมควร”


หลังจากอยู่กับวิกฤตที่ไม่มีใครคาดคิดมาปีกว่า ถามว่าวางอนาคตจากนี้ไว้อย่างไร เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

หนึ่งตอบชัดว่า เขายังมีแพสชั่นกับอาชีพบาร์เทนเดอร์ และคงเดินหน้าไปในเส้นทางนี้ ส่วนธุรกิจผับบาร์ เชื่อว่าแม้บางธุรกิจอาจจะมี New Normal เข้ามาแทนที่ แต่ประสบการณ์ของการมาสังสรรค์ที่บาร์ ยังคงเป็นสิ่งที่คนโหยหา แต่ก็ต้องจับตาว่าจะมีเทรนด์อะไรใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ว่า ในอนาคตบาร์ต่างๆ อาจจะต้องมีบริการให้ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มกลับบ้านก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายด้วย


“สุดท้ายนี้ ผมอยากให้กำลังใจคนที่อยู่ในวงการเดียวกับผม ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมจะใช้คำว่า สู้ๆ นะครับ สู้กันต่อไป แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนไป อดทนกันต่อไปนะครับ หรืออดทนไปก่อน สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ นอกจากจะต้องรักษาสุขภาพกายและใจให้พร้อม ก็อาจจะต้องหาอะไรทำไปพลางๆ ลองไปทำอะไรใหม่ๆ หรือเพิ่มสกิลอะไรให้ตัวเอง อย่างผมเองพอผันตัวมาทำเครื่องดื่มเดลิเวอรี ก็มีอะไรอีกหลายอย่างให้เรียนรู้เยอะมาก

ผมว่า บทเรียนสำคัญที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้คือ คนเราต้องไม่ยึดติด และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน เปรียบเทียบจากตัวผมเอง ถ้าตอนนี้ยังยึดติดกับสิ่งเดิมๆ จำกัดตัวเองว่าต้องเป็นบาร์เทนเดอร์ยืนหน้าบาร์เท่านั้น หลายเดือนที่ผ่านมา ผมก็คงไม่ได้มีโอกาสทำอะไรใหม่ ๆ แต่แค่ปรับมายด์เซ็ต กลายเป็นว่าตอนนี้ผมมีอาชีพใหม่ เพราะฉะนั้น ถ้าให้สรุปสั้นๆ ว่า อะไรคือแนวคิดในการฝ่าวิกฤตของผม ก่อนอื่นเราต้อง survive หรือเอาตัวรอดให้ได้ก่อน ส่วนแพสชั่นไม่ต้องทิ้งครับแต่อาจจะเก็บไว้ก่อน รอโอกาสมาถึง ก็ไม่สายเกินไปที่จะวิ่งตามแพสชั่นอีกครั้ง” หนึ่งทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น