เป็นเจ้าหญิงก็ต้องคู่กับมงกุฎ โดยเฉพาะในพระราชพิธีสำคัญๆ ที่เป็นทางการต่างๆ ซึ่งมงกุฎเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ต่างๆ หลายชิ้นเป็นมรดกตกทอดมาช้านาน บ้างก็เป็นของขวัญ ของหมั้น ที่พระราชทานข้ามราชวงศ์กันมา ทุกๆ ชิ้นล้วนวิจิตรอลังการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
>>มงกุฎคล้องรักแห่งเคมบริดจ์
ในปี 1913 สมเด็จพระราชินีแมรี ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ การ์ราร์ด จิวเวลรี ออกแบบมงกุฎที่คล้ายๆ กับมงกุฎองค์เดิมในเจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮสเส พระอัยยิกาในพระองค์ ซึ่งทรงอยู่ในฐานันดร ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ขณะนั้น
การ์ราร์ด จิวเวลรี ออกแบบให้มงกุฎคล้องรักแห่งเคมบริดจ์ (The Cambridge Lovers' Knot Tiara) ประดับด้วยเพชร 19 เม็ด พร้อมทั้งให้มีไข่มุกเม็ดโตห้อยตุ้งติ้งอยู่ที่ฐาน นอกจากจะทรงสวมใส่โดยสมเด็จพระราชินีแมรีเองแล้ว ยังมีสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท ที่ 2 รวมทั้ง เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงห่งเวลส์ และเจ้าหญิงเคท ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ด้วย โดยเจ้าหญิงไดอานา ทรงเคยรับสั่งว่า สวมแล้วปวดพระเศียร
>>มงกุฎเมจิ
ราชวงศ์ญี่ปุ่นก็มีมงกุฎกับเขาเหมือนกัน มงกุฎเมจิ (Meiji Tiara) ตกทอดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880s โดยจักรพรรดินีฮารูโกะ ทรงเป็นพระองค์แรกที่สวมมงกุฎองค์นี้ ที่คาดว่าออกแบบโดยชาวตะวันตก สามารถสวมใส่ได้แบบทั้งองค์ รวมทั้งแยกส่วนบนซึ่งเป็นดีไซน์รูปดาว สวมเป็นมงกุฎขนาดเล็กลงได้ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลญี่ปุ่นผู้สวมมงกุฎเมจิ จะต้องทรงเป็นระดับจักรพรรดินีเท่านั้น
>>มงกุฎประดับทับทิมแดงเมลเลริโอ
มงกุฎในราชวงศ์ดัตช์ ที่ออกแบบโดย เมลเลริโอ ดิทส์ เมลเลอร์ ถวายสมเด็จพระราชินีเอมมาแห่งเนเธอร์แลนด์ ในปี 1889 เป็นมงกุฎประดับทับทิมแดง (Mellerio Ruby Parure Tiara) เม็ดใหญ่ที่กษัตริย์วิลเลม ที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระชายา พระราชินี 4 พระองค์ในราชวงศ์ดัตช์ต่างก็ทรงสวมใส่มงกุฎองค์นี้ ที่เราเห็นพระฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของราชินีมักซิมา ในปี 2013
>>มงกุฎดอกไม้แห่งฮันโนเวอร์
นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว ไม่ค่อยมีคนรู้ความเป็นมาของ มงกุฎดอกไม้แห่งฮันโนเวอร์ (Hanoverian Floral Tiara) มากนัก ทว่า ต่างก็ยอมรับว่า ช่างเป็นมงกุฎที่เหมาะกับงานอภิเษกสมรสที่สุด โดยเฉพาะเจ้าหญิงที่อภิเษกเข้าราชวงศ์ฮันโนเวอร์ อย่าง คาโรลีน เจ้าหญิงแห่งฮันโนเวอร์ ที่เข้าพิธีอภิเษกในปี 2004 ตามด้วยธิดาเลี้ยงของเธอ เอคาเทรินา มาลีเชวา ครั้งที่เษกสมรสกับเจ้าชายแอร์นส์ ออกุสต์ แห่งฮันโนเวอร์ ในปี 2017 และล่าสุดสวมโดย อเลสซานดรา เด ออสมา เจ้าสาวของเจ้าชายคริสเตียนแห่งฮันโนเวอร์
มงกุฎดอกไม้แห่งฮันโนเวอร์ โดดเด่นต่างจากมงกุฎเจ้าหญิงองค์อื่นๆ ที่มักออกแบบให้มียอดแหลมๆ แต่องค์นี้ประกอบด้วยดีไซน์เป็นดอกไม้สวยงามทั้งองค์สมชื่อ
>>มงกุฎมูซี่ในสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริทา
แม้ราชวงศ์ซาวอยในอิตาลีจะเรืองอำนาจอยู่ไม่ถึง 100 ปี ทว่า พวกเขาสร้างมงกุฎสุดอลังการเอาไว้หลายองค์ หนึ่งในนั้นคือ มงกุฎมูซี่ในสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริทา (Queen Margherita’s Musy Tiara) ที่ออกแบบโดยมูซี่ จิวเวลรี ในปี 1904 ประดับตกแต่งด้วยอัญมณีหลายหลายทั้งเพชร ไข่มุก เปลือกหอย สามารถแกะออกและประกอบเข้าไปได้ใหม่ เปลี่ยนรูปแบบได้หลายหลาก
หลังจากราชวงศ์ในอิตาลีล่มสลายในปี 1946 มงกุฎมูซี่ในสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริทา ได้รับการส่งต่อในทายาทของราชวงศ์ซาวอย ซึ่งจริงๆ แล้วจะอยู่ในตำแหน่งราชินี โดยปัจจุบันเป็นสมบัติของ มารีนา เจ้าหญิงแห่งเนเปิลส์
>>มงกุฎประดับหินคามีโอ
เรียกอีกชื่อว่า มงกุฎจักรพรรดินีโจเซฟิน ตามพระนามเจ้าของเดิมคือ จักรพรรดินีในจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ปัจจุบัน มงกุฎประดับหินคามีโอ (Cameo Tiara) ตกเป็นสมบัติของราชวงศ์สวีเดน ที่มักสวมในงานอภิเษกสมรส
มงกุฎประดับหินคามีโอ ออกแบบมาเพื่อแสดงการเลื่อนสถานะทางสังคมของจักรพรรดินีโจเซฟิน ประดับด้วยหินมีค่า 7 ชนิด ในขนาดแตกต่างกัน รวมทั้งไข่มุกด้วย มงกุฎองค์ดังกล่าวตกเป็นมรดกของราชวงศ์สวีเดนผานการอภิเษกข้ามราชวงศ์ โดยพระปนัดดาในจักรพรรดินีโจเซฟิน อย่าง โจเซฟินแห่งเลิคเตนเบิร์ก ได้อภิเษกกับเจ้าฟ้าชายออสการ์แห่งสวีเดน ในปี 1823
>>มงกุฎเก้ามณฑล
ราชวงศ์เบลเยี่ยมมีมงกุฎอยู่น้อยองค์มาก ส่วนใหญ่หากไม่นำไปประมูลขาย ก็ยกให้เป็นของขวัญราชวงศ์อื่นไปเสียอย่างนั้น เคราะห์ดีที่ยังเหลือ มงกุฎเก้ามณฑล (Nine Provinces Tiara) เก็บเอาไว้ โดยเป็นของขวัญที่ได้มาเมื่อครั้งที่เจ้าหญิงแอสทริดแห่งสวีเดน อภิเษกกับกษัตริย์เลโอโปลด์แห่งเบลเยียม ในปี 1926 เป็นมงกุฎที่สวมได้ 2 แบบอีกองค์หนึ่ง คือสามารถถอดส่วนยอดแหลมด้านบนออกได้
>>มงกุฎเอดเวิร์ด
มงกุฎที่เรามักเห็นเจ้าฟ้าหญิงแมรีแห่งเดนมาร์กทรงสวมใส่ ซึ่งมีความเป็นมาแตกต่างจากมงกุฎองค์อื่นๆ ในราชวงศ์เดนมาร์ก คือไม่ได้เป็นขวัญหรือมรดกตกทอดจากเชื้อพระวงศ์ใด ทว่า เจ้าฟ้าหญิงมรีทรงซื้อ มงกุฎเอดเวิร์ด (Edwardian Tiara) ด้วยพระองค์เอง จากบรุน ราสมุสเซน ในโคเปนเฮเกน ในปี 2012 ตัวเรือนประดับด้วยเพชร ทับทิม และรัตนชาติ ในตัวเรือนเงินและทอง ออกแบบให้สวมใส่เป็นสร้อยพระศอได้ด้วย
>>มงกุฎสัญลักษณ์ดอกลิลลี
ชื่อเล่นๆ ว่า ‘ลา บวยนา’ (La Buena) มงกุฎสัญลักษณ์ดอกลิลลี (Fleur de Lys Tiara) เป็นของขวัญแต่งงานที่กษัตริย์อัลฟอนโซ ที่ 13 พระราชทานให้พระชายา เจ้าหญิงวิคตอเรีย ยูจีนีแห่งแบทเทนแบร์ก เป็นมงกุฎแพลตินัมประดับเพชร 500 เม็ด โดดเด่นด้วยสัญลักษณ์รูปดอกลิลลี (Fleur de Lys) อันเป็นตราสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์สเปน
เช่นเดียวกับมงกุฎเมจิ ผู้จะสวมใส่มงกุฎสัญลักษณ์ดอกลิลลีได้ ต้องอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระราชินีแห่งสเปนเท่านั้น