ลำพังจุดเด่นของ “กระเป๋าสาน” ที่หลอมรวมความเป็นไทยและความเป็นแฟชั่นเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ก็ทำให้ แบรนด์ BEACHDAZE ที่ปลุกปั้นโดย “ขวัญ-ลาลีวรรณ โกมลสุทธิ์” ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์กระเป๋าสานที่สายแฟสุดเลิฟ แต่พอได้ฟังสตอรีอันทรงพลังและแพสชั่นที่อยากตอบแทนสังคมของผู้ปลุกปั้นคนเก่งแล้ว ทำให้หายข้องใจเลยว่า ทำไม BEACHDAZE ถึงกลายเป็นแบรนด์กระเป๋าสานสุดปังที่เซเลบทุกคนต้องมี
ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ ขวัญเล่าอย่างออกรสว่า มาจากความหลงใหลในการเดินทางและความชื่นชอบในแฟชั่น โดยเฉพาะงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ขาดไม่ได้คือ แรงยุและแรงหนุนของคนรอบตัว
“ตอนเริ่มทำแบรนด์ ขวัญทำงานอยู่ที่โอกิลวี่ ด้วยความที่บ้านอยู่แถวเมืองทองธานี เลยมีโอกาสไปเดินงานแสดงสินค้าโอทอปบ่อยๆ เพราะเราชอบพวกงานสาน งานประดิษฐ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไปทีไรนอกจากได้ของติดมือกลับมายังได้ของแถมเป็นนามบัตรของชุมชนที่ทำงานสานต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์มากที่คิดจะทำแบรนด์ มีอยู่ครั้งหนึ่งขวัญสั่งกระเป๋าสานมาส่งที่ออฟฟิศ ด้วยความที่ชอบของใช้ที่ยูนีค ไม่เหมือนใคร เลยขอให้ใส่ชื่อหรือคำที่เราชอบไว้ที่กระเป๋าด้วย ปรากฏพอเพื่อนๆ รวมทั้งเจ้านายที่ออฟฟิศเห็นก็ชอบ และยุให้เราเปิดแบรนด์ทำขายทางไอจี
ที่ตลกคือ ไม่ใช่ยุเฉยๆ แต่ทุกคนยังส่งแรงหนุน ช่วยกันตั้งชื่อแบรนด์ เปิดแอค็กเคานต์เสร็จสรรพภายใน 1 ชั่วโมง แถมยังช่วยกันโพสต์โปรโมต หนึ่งในนั้นคือ “กัน-สิทธิโชค เปล่งพานิช” เป็นเพื่อนที่มหาวิทยาลัยก็ช่วยโพสต์ จนได้ลูกค้าคนแรกคือ เอมมี่-มรกต แสงทวีป จากนั้นก็เริ่มขยายกลุ่มไปยังลูกค้าคนดัง อย่าง ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร, กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ, หนิง-ปณิตา ธรรมวัฒนะ เป็นต้น”
ด้วยความที่มีคนดังที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ตัวแม่มาเลือกใช้ เลยทำให้แบรนด์ BEACHDAZE เป็นที่รู้จักในหมู่สายแฟอย่างไม่ต้องสงสัย และกลายเป็นแบรนด์ที่เซเลบต้องมี งานนี้ขวัญกล่าวอย่างถ่อมตัวว่า “โชคดีที่อินฟลูเอนเซอร์ชอบแบรนด์เรา แต่มากกว่าความสวยงาม เราไม่อยากให้ลูกค้ามองแค่ว่าเราขายกระเป๋าสานธรรมดา แต่อยากให้อินและฟินกับสตอรีของกระเป๋า ที่ทุกใบสานเป็นงานแฮนด์เมดฝีมือชาวบ้านที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาจากรุ่นสู่รุ่น
“ถ้าย้อนไปเกือบ 2 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มทำแบรนด์ เทรนด์กระเป๋าสานยังไม่ได้ฮิตขนาดนี้ แต่เริ่มเห็นแล้วว่าเทรนด์รักษ์โลกมาแน่นอน ขวัญเองอย่างที่บอกว่า ชอบกระเป๋าสานอยู่แล้ว พอมาทำแบรนด์ เวลาออกแบบเลยพยายามใส่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้ภูมิปัญญาไทย อย่างคอลเลกชันแรกเรานำ “คำเก๋ๆ” มาใส่เพื่อเพิ่มลูกเล่น คอลเลกชันต่อมา เราเล่นกับลายแพตเทิร์น เอาสีธรรมชาติมาย้อม ส่วนตรงหูกระเป๋าเราใช้ไม้ธรรมชาติและสีธรรมชาติในการย้อม ลดการใช้สารเคมีและแล็กเกอร์ที่มีกลิ่นแรง เราทำงานกับกลุ่มชาวบ้านที่พะเยา อ่างทอง ชัยนาท โดยให้แต่ละชุมชนทำงานสานในแบบที่เขาถนัด เพราะแต่ละพื้นที่ก็ถนัดลวดลายที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้งานสานของไทย ยังสร้างรายได้กลับไปที่ชุมชน โดยเราจะปันรายได้ส่วนหนึ่งไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ ที่ อ.สันต์ม่วง จ.พะเยา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ มองว่าภูมิปัญญาชาวบ้านก็สร้างอาชีพได้ และอยากช่วยกันสืบสานไว้ไม่ให้สูญหายไป”
ขวัญยังเสริมด้วยว่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม เธอเริ่มแตกไลน์มาทำกระเป๋าไซส์มินิ เพื่อให้คุณแม่ถือเข้าคู่กับคุณลูกด้วย และยังเน้นออกแบบให้กระเป๋าสานสามารถใช้ในหลายโอกาสมากกว่าแค่ไปทะเล ด้วยการเติมสีสัน ลูกเล่นเข้ามา เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กระเป๋า หยิบมาใช้เวลาอยู่ในเมืองได้
นอกจากเรื่องการออกแบบ ขวัญยังให้ความสำคัญกับการบริหารสต๊อกให้ลงตัวกับปริมาณออเดอร์ที่เข้ามา “เรามีหลายชุมชนที่สานกระเป๋าให้ แต่ด้วยความที่เป็นงานฝีมือ กำลังการผลิตสูงสุดของเราอยู่ที่ประมาณ 100 ใบ ตัวแปรสำคัญคือ สภาพอากาศ ช่วงหน้าฝนจะมีปัญหาเยอะ เพราะกระเป๋าสานต้องใช้เวลาตากให้แห้งสนิท เพื่อให้มั่นใจว่าใช้ไปแล้วจะไม่ขึ้นรา เพราะฉะนั้น ขวัญจะไม่ไปเร่งงาน แต่เน้นจัดการออเดอร์ เพื่อคงคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่เน้นเคลือบแล็กเกอร์ที่อ่อนที่สุด เพื่อไม่ให้มันจนเกินไป และยังเห็นเนื้อผิวของผักตบชวา ทุกปีขวัญก็จะลงพื้นที่ไปหาคนสานที่ทำงานกับเราปีละ 2-3 ครั้ง ไปพูดคุยและเอาภาพผลงานที่เราร่วมกันทำ ไปให้เขาดูว่ามีดารานักแสดงหลายท่านชอบผลงานของพวกเขาและเอาไปใช้ เพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจ”
ไม่เพียงคืนกำไรสู่สังคมด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสืบสานภูมิปัญญาไทย ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขวัญก็ไม่นิ่งนอนใจ แม้ยอดออเดอร์ที่เข้ามาจะกระทบ แถมช่วงล็อกดาวน์ยังไม่สามารถส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้ เธอตัดสินใจลดราคาสินค้าไม่พอ ยังตั้งใจนำรายได้ทั้งเดือนที่มีการลดราคาสินค้า ไปมอบให้ชุมชนและช่วยโรงพยาบาลอีก 4 แห่ง
“ขวัญเรียกว่าเป็นโปรเจกต์เพื่อสังคม ที่วิน-วินกันทุกฝ่าย ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ขณะเดียวกัน ได้นำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงเวลาเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความตั้งใจดีในการทำแบรนด์ แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาโดนก็อปสินค้า ไม่พอ ยังลามไปถึงชื่อแบรนด์ และแคปชันที่ใช้เรียกลูกค้าก็ดูละม้ายคล้ายคลึง งานนี้ แม้เจ้าตัวจะรู้ แต่ขวัญยังเลือกมองโลกในแง่ดีว่า แทนที่จะหัวเสีย มองมุมกลับว่าแบรนด์เราเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ขณะเดียวกัน ยังเป็นแรงผลักให้เรายิ่งต้องพัฒนา พยายามออกแบบสินค้าทุกรุ่นให้แตกต่างจากเดิม”
รู้ที่มาของการทำแบรนด์แล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่า ขวัญไปเอาความรู้ในการออกแบบและการทำธุรกิจมาจากที่ไหน เธอคลายยิ้มก่อนเฉลยว่า
“ขวัญเรียนจบไฮสกูลที่นิวซีแลนด์ แล้วก็มาต่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหิดลอินเตอร์ฯ พอเรียนจบก็ไปทำงานสถานทูตเกาหลี 1 ปี แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ เลยเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้าน Management&Development Studies ที่University of London พอเรียนจบก็กลับมาเมืองไทย ในช่วงที่กำลังหางาน ก็ได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่ (ปอร์เปี๊ยะ-สลิล สุญาณเศรษฐกร) ให้มาลองสมัครงานที่ พีพี กรุ๊ป ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นลักซ์ชัวรีชั้นนำของประเทศไทย ปรากฏว่าได้ เลยมาทำหน้าที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ แต่พอทำ 2-3 ปี รู้สึกว่าอยากลองศึกษาธุรกิจอื่นๆ นอกจากแฟชั่น พอดีมีเฮดฮันเตอร์จากโอกิลวี่มาชวนไปสัมภาษณ์ เลยลอง ปรากฏว่าได้ เลยได้มาทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร”
ขวัญมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้น คือประตูบานสำคัญที่ทำให้เธอได้เปิดโลกกว้าง ได้ศึกษาธุรกิจหลายแขนง ทั้ง เกษตร เทคโนโลยี ไฟแนนซ์ ธนาคาร ฯลฯ
“ตอนนั้นเราก็ยังชอบแฟชั่นนะ เพราะเป็นคนชอบแต่งตัว ถึงจะแต่งตัวเรียบๆ แต่ก็จะเพิ่มลูกเล่นด้วยแอ็กเซสซอรี โดยเฉพาะ กระเป๋าต้องมีลูกเล่นบางอย่างที่ช่วยเพิ่มความสนุกในการแต่งตัว ขวัญเรียกว่าเป็น “minimal with a twist” เวลาไปเที่ยวก็เหมือนกัน เชื่อมั้ยว่าแทบไม่ใช้กระเป๋าหนังเลย อาจเพราะเราชอบธรรมชาติ ชอบไปเที่ยวสถานที่แปลกๆ เช่น มาดากัสการ์ อิหร่าน กระเป๋าสานเป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก มีหลายขนาดมาพร้อมสายสะพาย ใช้ลุยได้ไม่ต้องกังวลจะถลอก”
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนเวลาทั้งหมดทุ่มเทให้การทำแบรนด์เป็นงานหลัก แต่ขวัญยังแบ่งเวลาทำบริษัท Strategy PR กับเพื่อน ชื่อ CCPR (Curated Creative PR) เพราะยังชอบและไม่อยากทิ้งงานพีอาร์
“ตอนนี้กระเป๋าเป็นงานหลัก 80% จากขายผ่านไอจี เราขยายมาเปิดเว็บไซต์มีลูกค้า ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง มาเลเซีย เพื่อรับออเดอร์ ขณะที่ลูกค้าคนไทยเราเลือกเปิดช่องทาง Line Official ด้วย เพราะธรรมชาติของลูกค้าไทย ชอบการพูดคุยโต้ตอบมากกว่า ส่วนงานพีอาร์เราเปิดมาตอนโควิด-19 พอดี หลายงานเลยยังชะลอ (ยิ้ม)”
ถามว่ามีเทคนิคในการแบ่งเวลาอย่างไร ขวัญตอบอย่างน่าสนใจว่า “การเป็นนายตัวเอง ยิ่งต้องพยายามจัดการเวลา ถ้าวันทำงาน เราเซตคอนโดฯ ให้เป็นออฟฟิศให้เหมือนเป็นที่ทำงานจริงๆ เพราะอย่างน้อยเราต้องมี 2-3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อต้องเคลียร์งานเอกสาร ส่วนงานขายของไม่มีวันหยุด เหมือนจะชิลแต่จริงๆ ต้องแอ็กทีฟมาก ยิ่งเราขายของที่เป็นแบบ Personalized ยิ่งต้องใช้เวลาทำ อย่างตอนนี้ลูกค้าต่างประเทศเริ่มกลับมา หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มส่งสินค้าได้ จากที่ก่อนนี้ออเดอร์ค้าง ส่งไม่ได้”
ปิดท้ายด้วยไลฟ์สไตล์ส่วนตัว อย่างที่แย้มมาแล้วว่าเป็นสายเดินทาง ถี่ขนาดไหน “เพื่อนบ่นเลยค่ะ แต่ขวัญมองว่าการเดินทางเหมือนเป็นการหาแรงบันดาลใจ อย่างคอลเลกชันเแรก ขวัญเลือกใช้ด้ายไหมพรม สีที่เราใช้เราตั้งชื่อโดยนึกไปถึงสีของประเทศต่างๆ เช่น สีเขียว ทำให้นึกถึงเมืองแฮมิลตันที่นิวซีแลนด์ เราก็เอาชื่อเมืองมาตั้งเป็นชื่อสี อย่างกรุงเทพฯ เรานึกถึงสีทองที่อร่ามของวัดและวัง เลยตั้งชื่อว่า Golden Bangkok ส่วนสีส้มเราเรียกว่า Phylum เป็นชื่อพันธุ์ของปะการัง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการไปเรียนดำน้ำเมื่อปีที่แล้ว
“นอกจากเที่ยวขวัญยังชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านมีหนังสือเยอะมาก จนเพื่อนแซวว่าซื้อไว้โชว์ ขวัญอ่านได้หลายประเภท ทั้งนิยาย หนังสือให้แรงบันดาลใจ เหตุผลที่ชอบอ่านหนังสือ เพราะเป็นคนไฮเปอร์ เลยรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเหมือนเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง” ขวัญทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ ร้าน White Wood Green Spa เอกมัย ซอย 12 เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ