ช่างภาพทั่วสหรัฐฯ ขอสร้างประวัติศาสตร์ พร้อมใจกันจัดนิทรรศการภาพถ่ายเชิงสารคดี บันทึกเหตุการณ์การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ “จอร์จ ฟลอยด์” และต่อต้านการเหยียดสีผิว ผ่านอินสตาแกรมของใครของมัน
โดยปกติแล้วพวกเขาอาจจะเคยเป็นช่างภาพสายแฟชั่น สายไลฟ์สไตล์ สายอาหาร แต่งานนี้ของเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แบกกล้องไปบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบนท้องถนน
“ผมยอมตายเพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์” ช่างภาพรายหนึ่งกล่าว
ส่วนใหญ่แล้วช่างภาพสาวอย่าง อเล็กซิส ฮันลีย์ มักจะถ่ายภาพแนวพอร์เทรต แต่ครั้งนี้เธอกระโจนมาบนท้องถนนของลอสแองเจลิส เพื่อบันทึกเหตุการณ์เดินขบวนเรียกร้องการต้านการเหยียดสีผิว พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวผ่านแคปชันบนอินสตาแกรม อย่างรูปชายผู้ประท้วงสวมเสื้อฮู้ดที่มีข้อความว่า “อาวุธที่ผมพกมาคือความรัก”
สำหรับ ฟิลิป คีท เรียกสารคดีภาพถ่าย Black Lives Matter ของเขาว่า “กำปั้นและภาครัฐ” เป็นภาพชุดเล่าเรื่องที่เห็นทั้งบรรยากาศของผู้ประท้วง ที่ส่วนใหญ่เดินชูกำปั้น และการจัดการม็อบของตำรวจในบอสตัน
ช่างภาพสาวสายแฟชั่นจากเซาท์แคโรไลนา นอรา วิลเลียมส์ หันมาบันทึกเหตุการณ์ประท้วงต้านเหยียดผิวอย่างสันติในเมืองชาร์ลสตัน ทั้งภาพผู้ประท้วงเล่นทรัมเป็ตเบื้องหน้าแนวตำรวจ หรือการชูป้ายข้อความตามมุมต่างๆ ของเมืองอย่างสงบ
ถ้าเข้าไปในไอจี ของ เพเชียนซ์ ซาลังกา เพื่อชมนิทรรศการภาพถ่าย Black Lives Matter ก็ต้องบอกว่าเป็นนิทรรศการใหญ่ เพราะว่าเพเชียนซ์อยู่ ณ จุดเริ่มของการประท้วง อย่างมินนีอาโปลิส รัฐมินเนโซตา ที่ซึ่งจอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจฆ่าตาย “ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในเมืองของฉันมันจุกอยู่ที่คอหอย นอกจากขอเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์แล้ว ฉันก็พูดอะไรไม่ออก นอกจากจะบอกว่ามันเจ็บปวดเหลือเกิน”
ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวใต้ของสหรัฐฯ อย่างแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ได้เผชิญกันการเหยียดสีผิวมาอย่างยาวนาน เมืองนี้เคยเป็นศูนย์กลางของการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 “คนผิวสีต่างก็เหน็ดเหนื่อยในความไม่เท่าเทียม เหนื่อยต่อระบบที่ทำให้พวกเขาต้องยอมก้มหัว คุกเข่าวอนขอความยุติธรรม” ลินซีย์ เวเตอร์สปูน บรรยายภาพในไอจีที่เล่าเรื่องการประท้วงครั้งล่าสุดไว้อีกว่า “พวกเราไม่หนีไปไหน เราขุดดินแล้วฝังเท้าของพวกเราลงไป เราสู้มาตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีพื้นที่ให้พวกเราได้หายใจหายคอได้อย่างสะดวกง่ายดายบ้าง”
ช่างภาพจากเกาะเคย์แมน จาเมกา ซึ่งมาเติบโตที่นิวยอร์ก จานิค ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ประท้วงอย่างสันติบนท้องถนนย่านบรูกลิน ฮาร์เล็ม และพื้นที่ใกล้เคียงของนิวยอร์ก
“เสียงของอนาคตที่เราต้องขยายให้พวกเขาตั้งแต่วันนี้” คือคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำของช่างภาพที่ใช้นามแฝงว่า ดีเจ อี-คลิปส์ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ชุมนุม Black Lives Matter บนถนนฟอร์ตเวย์น รัฐอินเดียนา ที่มีตั้งแต่เด็กๆ คนหนุ่มสาว ไปจนถึงคนชรา ที่ออกมาแสดงพลังต้านการเหยียดผิว
โอเจ สลอตเตอร์ ถ่ายทอดภาพบรรยากาศการประท้วงสุดตึงเครียดในบอสตัน ระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมประท้วง “การเป็นคนผิวดำในอเมริกา หมายถึงการตกเป็นเป้าโจมตีไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน” เขาบรรยายภาพในอินสตาแกรม
ในนิทรรศการภาพถ่ายบนไอจีของ แอชชา เบลค์ ช่างภาพอีกรายจากมินนีอาโปลิส ส่วนใหญ่ไม่ได้เล่าเรื่องบรรยากาศประท้วง หากบันทึกภาพการไว้อาลัย ทั้งการวางดอกไม้ที่ระลึก และงานศิลปะบนท้องถนน เพื่อรำลึกถึงจอร์จ ฟลอยด์
ช่างภาพพอร์เทรตจากดีซี โทนี โมบลีย์ เก็บบรรยากาศการประท้วง โดยอาศัยจุดเด่นในการถ่ายภาพพอร์เทรตของเขาเอง ถ่ายทอดออกมาอย่างมีคอนเซ็ปต์ โดยเฉพาะบรรดาผู้ประท้วงที่ต่างพกพาแบนเนอร์บอกเล่าการเรียกร้องความยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์ อย่างคนกับป้ายคำพูดสุดท้ายของจอร์จ “ผมหายใจไม่ออก” หรือคนชูแบนเนอร์ “ชีวิตคนดำมีค่า”