xs
xsm
sm
md
lg

อยู่ที่ไหนก็เสพศิลป์ได้! “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” เปิดช่องทางออนไลน์ ชวนชมงานศิลป์ทรงคุณค่าได้ทุกมุมโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่ก็ยังได้ชื่นชมผลงานศิลป์สุดวิจิตรเพียงลัดปลายนิ้ว ล่าสุด “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” สถานที่จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากฝีมือของช่างสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำผลงานซึ่งสร้างสรรค์จากพระวิสัยทัศน์และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป ภายใต้ชื่อ “artsofthekingdom” เพื่อให้ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชมอย่างต่อเนื่อง เช่น


สีวิกากาญจน์ พระราชยานสำหรับเจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ระดับสมเด็จพระราชินี ซึ่งสถาบันสิริกิติ์จัดสร้างโดยนำต้นแบบมาจากสีวิกาที่ประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีโครงสร้างเป็นไม้ แต่องค์ใหม่นี้สร้างเป็นทองคำผสานเทคนิคจากช่างสถาบันสิริกิติ์ในหลายแผนก เช่น แผนกเครื่องเงิน-เครื่องทอง ลงยาสี แกะสลักไม้ และตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ


ผอบถมตะทองทรงกลีบมะยม ลายพุดตานใบเทศ ยอดปริกทองคำ ตกแต่งทองคำประดับเพชร


วานเรศบวรอาสน์ หรือพระที่นั่งกง คือ พระราชอาสน์หรือพระที่นั่งขนาดเล็ก ใช้ได้ทั้งเป็นพระราชบัลลังก์และพระราชยาน ตั้งชื่อตามราวพาดพระกร ซึ่งโค้งเป็นวงเหมือนกงรถโอบด้านหลังไว้ติดกับกระดานพิง


พระที่นั่งพุดตานถมทอง สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้วังหน้า ทรงชั้นพระที่นั่งสร้างด้วยเงินถมตะทอง ท้องไม้สองชั้น ชั้นล่างตกแต่งด้วยครุฑยุดนาคเป็นระยะ ชั้นสองรายล้อมด้วยรูปเทพยดาประนมกร


สัปคับคร่ำ สัปคับนี้มีโครงเป็นเหล็ก ใช้เทคนิคคร่ำเป็นหลัก ความพิเศษที่ต่างจากงานคร่ำทั่วไปคือ ช่างฝีมือบรรจงฉลุเหล็กให้โปร่งเป็นลูกไม้จนมองทะลุได้ชัดเจน ซึ่งงานคร่ำส่วนใหญ่นิยมโครงสร้างทึบ ไม่ฉลุโปร่ง และงานนี้ยังใช้เทคนิคคร่ำทองสลับเงิน และประดับเพชร


ร่วมชื่นชมผลงานหัตถศิลป์สุดตระการตาโดยช่างฝีมือชาวไทย ได้ทุกช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทาง www.artsofthekingdom.com , เฟซบุ๊ก : Artsofthekingdom, อินสตาแกรม : @artsofthekingdom และทวิตเตอร์ : @AOK_Museum




























กำลังโหลดความคิดเห็น