xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเจ้าของโรงแรมแบรนด์ดัง ในวันที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงาน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงพ่นพิษ ทำให้ทุกธุรกิจได้รับกระทบกันถ้วนหน้า แต่ภาคธุรกิจที่สาหัสที่สุดคงหนีไม่พ้น ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน บริษัททัวร์ ไปจนถึงธุรกิจโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หดหายจนรายได้แทบจะเป็นศูนย์ ล่าสุด เอวาซอน หัวหิน คือรายล่าสุดที่ทนพิษโควิดไม่ไหวจนต้องประกาศปิดกิจการไปเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเปิดให้บริการจนถึง 30 เม.ย.นี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะยังไม่ได้ขอความร่วมมือให้โรงแรมปิดให้บริการ แต่บรรดาโรงแรมยักษ์ใหญ่ต่างขยับตัวเพื่อปรับลดต้นทุน และประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ มาดูซิว่าแต่ละแห่งจะมีกลเม็ดอย่างไร และอะไรคือมาตรการที่พวกเขาอยากเห็นเพื่อกอดคอกันสู้ในสงครามโรคครั้งนี้ไปด้วยกัน


(หาให้เจอ) ในวิกฤตยังมีโอกาส

เริ่มจากเครือเซ็นทารา เพิ่งออกมาประกาศแผนเตรียมปิดให้บริการโรงแรมและรีสอร์ตในเครือกว่า 28 แห่งในช่วงเดือน เม.ย.นี้ไปหมาดๆ โดยแบ่งเป็นโรงแรมในไทย 25 แห่ง และโรงแรมในเครือที่มัลดีฟส์และศรีลังกา พร้อมทั้งลดจำนวนพนักงานลง โดยให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน (Work from Home) และมีมาตรการลดเงินเดือนเหลือ 75%



แพร์-พิมพิศา จิราธิวัฒน์ ทายาทโรงแรมในเครือเซ็นทรัล ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง Assistant Design Director เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยดูแลในส่วนของการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ ของโรงแรมในเครือทั้งในและต่างประเทศ งานนี้แม้จะเข้ามาทำงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 พอดี ซึ่งเจ้าตัวออกปากถือว่าเจอยาแรงตั้งแต่เข้ามา แต่ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ถ้าผ่านพ้นไปได้ จากนี้เจอวิกฤตอะไรก็สู้ไหว


“วิกฤตครั้งนี้ทุกคนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เครือเซ็นทาราก็เช่นกัน อย่างที่ข่าวออกไปเรามีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อปรับลดค่าใช้จ่าย ในภาวะที่รายรับเข้ามาน้อยมากจนแทบไม่มี และแม้จะมีการปรับกลยุทธ์หันมาทำดีลิเวอรี แต่ก็ไม่ใช่หัวใจหลักของธุรกิจโรงแรมอยู่ดี เพราะฉะนั้นตอนนี้ฝั่งโอเปอเรชันกระทบมาก แต่ส่วนโปรเจกต์ที่แพร์ดูแลทั้งในและต่างประเทศยังดำเนินการไปตามแผน ไม่ว่าจะเป็นแผนเปิดตัว เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย ปลายปีนี้ หรือแผนการรีโนเวตห้องพักทั้งหมดของเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งตอนนี้ยังเปิดให้บริการบางส่วน พร้อมกับทำบาร์ใหม่เพิ่มเติมจากเรดสกาย ในต่างประเทศ เซ็นทารา แกรนด์ โอซากา ยังดำเนินไปตามแผนซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2023 แต่ที่ดูไบซึ่งคาดว่าจะเปิดสิ้นปีนี้อาจจะต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างหนัก”

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตครั้งนี้ในมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่ เธอเชื่อว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ สำหรับเครือเซ็นทารานี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการบริหารธุรกิจในส่วนโรงแรมให้มีความหลากหลาย (Diversify) เพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น


“เลิกจ้าง” คือฟางเส้นสุดท้ายที่คิดจะทำ

ด้านริน-ศรินญา มหาดำรงค์กุล ทายาทธุรกิจโรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา และลีฟ โฮเต็ล ภูเก็ต ป่าตองบีชฟรอนต์ เผยว่า ตอนนี้มีเพียงโรงแรมเรเนซองส์ พัทยา ที่ยังเปิดให้บริการบางส่วนอยู่ ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ส่วนอีก 2 โรงแรมปิดให้บริการชั่วคราว และให้พนักงานบางส่วน Work from Home ควบคู่ไปกับมาตรการลดเงินเดือนเหลือ 75% พร้อมขอความร่วมมือให้พนักงานไม่กลับภูมิลำเนา


“เราคงไม่สามารถสั่งห้ามพนักงาน 700 คนไม่ให้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือว่าขณะนี้ทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่แย่เหมือนกัน ขอให้ช่วยกันอดทนเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทุกคนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ในฐานะเจ้าของโรงแรม เราก็ภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว และใช้มาตรการที่กระทบพนักงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะการเลิกจ้างเป็นอย่างสุดท้ายที่เราจะทำ

ในภาวะที่รายรับเท่ากับศูนย์ เราพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ด้วยความที่ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มี Fixed cost เราจึงต้องดูแลกระแสเงินสดให้ดี ซึ่งเรายังโชคดีที่ช่วงที่ผลประกอบการดีมีการสำรองเงินไว้เผื่อกรณีวิกฤต ทำให้ยังประคองสถานการณ์ไปได้ แต่หากวิกฤตยืดเยื้อจนถึงเดือน ก.ค.ก็คงประคองต่อไปได้ยาก”


“ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รินมองว่าตอนนี้มาตรการที่เด็ดขาด เจ็บแต่จบน่าจะเป็นทางออกของประเทศเพื่อควบคุมปริมาณผู้ติดเชื้อให้ลดลงจนกลายเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ คือสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นจึงมาถึงมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ล้ม เมื่อวันที่สถานการณ์กลับมาปกติ ธุรกิจเหล่านี้ก็คงไม่มีแรงพอจะลุกขึ้นมาทำรายได้ให้ประเทศได้ดั่งเดิม


อย่ารอให้ถึงวันที่หัวใจหยุดเต้น

สอดคล้องกับมุมมองของ แวว-ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการกลุ่มโรงแรมในเครือเคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์ ที่รู้สึกต่อสถานการณ์ขณะนี้ไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นว่า “แย่มาก” จนถึงขั้นคุณพ่อ (ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์) ยังออกปากว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยเจอ วิกฤตครั้งนี้ไม่ต่างกับสงครามโลก



“ผลพวงจากการที่หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ ทำให้รายรับจากฝั่งธุรกิจโรงแรมเท่ากับศูนย์ แต่พนักงานเกือบ 3,000 คน จาก 23 โรงแรมของเราก็น่ารักมาก ยังพร้อมจะสู้ไปด้วยกัน ระหว่างที่เรายังทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะเทรนนิ่งพนักงาน สอนภาษาอังกฤษ ยังจัดกลุ่มพนักงานเข้ามาทำความสะอาด ทำงานในส่วนที่ทำได้ เช่น นำผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดปากมาเย็บขอบใหม่ คัดแยกผ้าปูที่นอน เปลี่ยนหมอน เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หน้าตาของโรงแรมจะเหมือนโรงแรมใหม่เลย

จนถึงขณะนี้ แววบอกว่าทุกโรงแรมยังเปิดให้บริการอยู่ และทีมบริหารเองก็พยายามอย่างเต็มที่ในการประคับประคองธุรกิจ ต่อให้เห็นภาพแล้วว่าปีนี้ต้องขาดทุนหลายร้อยล้าน แต่ก็จะสู้ พยายามไม่เอาพนักงานออก และยังจ่ายเงินเดือนเต็มอัตรา “อย่างที่บอกพนักงานก็น่ารัก ช่วยกันเต็มที่ บางคนก็ Leave without pay เพื่อช่วยลดต้นทุน ตอนนี้เราเตรียมรับมือไปจนถึง พ.ย.-ธ.ค. แต่ถ้าถึงตอนนัั้นสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องขอให้พนักงานที่ leave without pay มากกว่านี้”


สำหรับมาตรการที่อยากให้เกิดขึ้น คือ อยากให้ภาครัฐหันมาใส่ใจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักของประเทศ เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจท่องเที่ยวพัง ก็เหมือนหัวใจหยุดเต้น เท่าที่ดูนโยบายภาครัฐที่ออกมาตอนนี้ยังขาดความชัดเจน ยกตัวอย่างสวัสดิการจากประกันสังคม ซึ่งธุรกิจโรงแรมไม่เข้าข่ายอยู่แล้ว เพราะว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลสั่งปิด แต่ถึงอย่างนั้นนโยบายประกันสังคมที่ออกมาก็ยังเป็นเชิงนโยบายไม่ได้ระบุว่าจะจ่ายเงินอย่างไรและเมื่อไหร่ด้วยซ้ำ”

เพราะฉะนั้น ถ้าให้มองข้ามช็อตไปว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มควบคุมได้ ธุรกิจจะกลับมาได้อย่างไร “ส่วนตัวแววคิดว่าตอบยาก เพราะไม่ใช่สถานการณ์สงบแล้ว ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาได้ทันที ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างในแง่ตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ต้องดูความพร้อมของประเทศว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูความพร้อมของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน เพราะหลังจากผ่านวิกฤตไปแววว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องรองที่คนใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะใช้กับเรื่องที่จำเป็นก่อน อยากเรื่องปากท้อง ค่ารักษา ค่าเทอม ขณะที่ฝั่งเจ้าของกิจการเองก็ต้องดูความพร้อมเช่นกันว่าช่วงที่ปิดกิจการชั่วคราวไปมีการเตรียมพร้อมแค่ไหน เพราะถ้าไม่มีการดูแลงานระบบหลังบ้านให้ดี ตั้งแต่เรื่องความสะอาด ไปจนถึงพนักงานที่เหลืออยู่ เมื่อสถานการณ์กลับมาก็อาจจะเดินต่อไปไม่ไหวอยู่ดี”


เจ็บทุกฝ่าย ใครยังไหวต้องประคองกันสู้ไปด้วยกัน

มาถึง เบียร์-ปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทตึกใบหยก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับกระแสชื่นชมบนโลกออนไลน์ไปเต็มๆ หลังจากบุ้ง-สะธี น้องสาว ออกมาประกาศผ่านไอจีว่า “ลงตามพี่ชาย ช่วยชาติได้แค่ไหนก็จะช่วย ห้ามได้จะช่วยห้าม บริษัทไม่เคยปลดคนออกไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ไหนๆ ถึงเวลาที่พนักงานต้องช่วยกันบ้าง #อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”


“เฉพาะโรงแรมในเครือซึ่งมีประมาณ 10 แห่ง ตอนนี้ยอดเข้าพักลดลง 90% แต่จนถึงตอนนี้เรายังไม่ได้ปิดให้บริการโรงแรมไหน แต่ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองวัดไข้ ดูประวัติการเดินทางของผู้เข้าพักว่ามีการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า การเว้นระยะห่าง และพยายามดูแลพนักงานของเราอย่างเต็มที่ มีการแจกหน้ากาก และเจลล้างมือ ส่วนการจ่ายเงินเดือนยังจ่ายเต็ม แต่จะยืนระยะไปได้นานแค่ไหนตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่การให้พนักงานออกจะเป็นอย่างสุดท้ายที่เราจะทำแน่นอน อย่างช่วงนี้นอกจากพนักงานที่ Leave without pay และบางส่วน Work From Home ใครที่ยังต้องเข้ามาทำงานจริงๆ เราก็ปรับตารางงาน ผลัดกันเข้ามาดูแลงานซ่อมบำรุง ทำความสะอาด รีโนเวตห้องพัก ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติคงไม่มีโอกาสได้ทำ รวมทั้งมีการจัดเทรนนิ่งพนักงานด้วย”


อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่ามาตรการอะไรที่อยากให้มีจากนี้ เบียร์ตอบชัดว่า “ผมยังไม่คิดจะเรียกร้อง และไม่แน่ใจว่าจะเรียกร้องอะไรได้ ตอนนี้ถ้าสามารถเป็นกระบอกเสียงไปยังสังคมได้ ผมอยากจะบอกกับคนที่ทำธุรกิจด้วยกันว่า ต้องช่วยกันประคับประคองลูกน้องและพนักงานไปก่อน การตกงานเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราลอยแพพนักงาน อาจกระตุ้นให้พวกเขาต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือบางคนไม่มีทางเลือก อาจจะไปทำเรื่องที่เสี่ยงๆ เราคงไม่อยากเห็นว่าวันหนึ่งบ้านเรามีข่าวคนตกงานแล้วต้องไปวิ่งราว เพราะฉะนั้นใครยังพอไหว ผมอยากให้ช่วยกันไปก่อน ตอนนี้อาจจะลำบาก แต่ถ้าทุกคนช่วยกันไม่นานวิกฤตก็จบ”


ปิดท้ายด้วย ลิลลี่-วรีรัตน์ อุดมคุณธรรม กรรมการผู้จัดการบุราส่าหรี กรุ๊ป มีโรงแรมทั้งในภูเก็ตและลาว ซึ่งได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน แต่นอกจากจะไม่มีการลดเงินเดือนพนักงาน และไม่ปลดพนักงานออกทั้งในไทยเเละลาว พร้อมขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนหยุดอยู่บ้านเพื่อช่วยสังคมในการลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อ เธอยังเดินหน้าหลากหลายแคมเปญเพื่อร่วมผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


เริ่มจากแคมเปญ We care for our community ช่วยเหลือคนตกงาน คนชรา และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการจัดทำอาหารกล่องคุณภาพระดับโรงเเรม ขายในราคาต้นทุนเพียง 24 บาท ทั้งในไทยเเละลาว นอกจากนี้ยังนำ 25% ของราคาขายอาหารจากร้าน เซเว่น เฮเวน บาย บุราส่าหรีของโรงแรมลา แซน โฮเต็ล บาย บุราส่าหรี ที่เมืองเวียนเทียน ของลาวไปซื้อเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการเเพทย์มอบแก่โรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรงแรมบุราส่าหรี เฮอริเทจ หลวงพระบาง ยังเริ่มต้นปลูกและจัดตั้งแปลงผักเพื่อให้ชาวเขาและประชาชนชาวลาวสามารถเก็บกินได้ฟรี ตั้งเเต่วันที่ 25 เม.ย.เป็นต้นไป


“เพื่อสร้างกำลังใจให้พนักงาน เรายังมีแคมเปญ I Challenge U ให้พนักงานได้ใช้เวลาในวันหยุดนี้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงตนเอง โดยพนักงานคนใดที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ลดน้ำหนักได้ จบคอร์สฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ ของบริษัทได้เร็วที่สุด หรือแม้แต่การใช้เวลาว่างในการเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมเป็นภาษาที่ 2 หรือ 3 และสอบผ่านขั้น Intermediate ก็จะมีรางวัลพิเศษให้แก่พนักงานอีกด้วย”

ทั้งหมดนี้ คือหลากหลายเสียงของเจ้าของกิจการที่อยู่ในธุรกิจโรงแรม ถึงทุกคนจะได้รับผลกระทบสาหัสไม่แพ้กัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนย้ำคือ จะดูแลพนักงานอย่างดีที่สุด เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น