xs
xsm
sm
md
lg

'มนอำไพ สิงหเสนี' ฟูดดี้ตัวแม่ผู้หลงใหลในโลกแฟชั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มีความชัดเจนมาตั้งแต่ยังไม่พ้นรั้วมหาวิทยาลัยแล้วว่าชอบและหลงใหลในโลกแฟชั่น ทำให้ แจน-มนอำไพ สิงหเสนี สาวน้อยช่างฝันมุ่งมั่นกับเส้นทางนี้มาตั้งแต่เริ่มฝึกงาน กระทั่งไปเรียนต่อปริญญาโท จนวันนี้เธอทำสำเร็จแล้ว ด้วยการทำงานที่รักในตำแหน่ง Assistant Communication Manager ให้กับ MCM แบรนด์เครื่องหนังสุดหรูจากเยอรมนี

“ทำมาปีกว่าแล้วค่ะ เป็นงานที่ชอบ สนุกมากๆ” แจนเปิดฉากอัปเดตสเตตัสอย่างสดใส ก่อนจะเล่าถึงที่มาของการทำตามความฝันอย่างออกรส หลังเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รู้ตัวว่าชอบแฟชั่นมาตลอด ถึงจะไม่ใช่คนที่แต่งตัวจัดมาก แต่สนใจเรื่องแฟชั่นอยู่เสมอ ตอนเรียนอยู่ปี 3 เลยตัดสินใจไปฝึกงานกับ Burberry นาน 2 เดือน ทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับแต่เลือกไปฝึกเอง ครั้งนั้นยิ่งทำให้มั่นใจมากขึ้นว่ามาถูกทาง”

พอเรียนจบก็ยังคงรักเดียวใจเดียวกับสายงานนี้ เธอขอพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งด้วยการไปสมัครฝึกงานที่ Givenchy ในเครือพีพี กรุ๊ป “แจนโชคดีที่ตอนมาฝึกที่ Givenchy ทางแบรนด์มีแผนเปิดชอปใหม่ที่พารากอน เลยมีโอกาสเรียนรู้หลายอย่าง ตั้งแต่ประสานงานเรื่องสถานที่ ดีลกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย บอกตัวเองเลยว่างานนี้คืองานที่ใช่”

หลังจากฝึกงานได้ 2 เดือน เธอตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่อิตาลี แน่นอนว่าสาขาที่เธอเลือกต้องเกี่ยวข้องกับแฟชั่น โดยเธอชั่งใจระหว่าง Luxury Brand Management กับ Fashion Brand Management แต่สุดท้ายเธอเลือกอย่างหลัง เพราะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับแวดวงแฟชั่นอย่างแท้จริง

“แจนเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยในฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพราะยังไม่เคยไป และฟลอเรนซ์ยังเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ Pucci ที่ชื่นชอบ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังของโลกมากมาย ตอนไปพูดภาษาอิตาเลียนไม่ได้ แถมยังไม่มีเพื่อนเลย แต่โชคดีคอร์สที่เรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ”

แจนยอมรับว่าสาขาที่เลือกเรียนได้เปิดโลกกว้างที่เธออยากสัมผัสอย่างแท้จริง ได้มีโอกาสไปร่วมแฟชั่นวีก และไปสัมผัสกับต้นกำเนิดของแบรนด์แฟชั่นหลายๆ แบรนด์ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า Craftmanship หรืองานฝีมือชั้นสูงที่คุ้นหูว่าความ Craftmanship ที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เธอได้เห็นจากช่างฝีมือของแบรนด์ชั้นนำนั้นเหนือกว่าที่จินตนาการไว้มาก

“แต่สิ่งที่ท้าทายมากตอนเรียนคือ เวลาทำงานกลุ่มอาจารย์จะให้อิสระแต่จะจับกลุ่มให้ เพราะต้องการฝึกให้ปรับตัวทำงานกับคนที่ไม่สนิท ไม่คุ้นเคย มาจากหลากหลายเชื้อชาติ เหมือนกับโลกของการทำงานจริงๆ ซึ่งเวลาต้องทำงานกับเพื่อนที่เราไม่ได้เลือกยากจริงค่ะแต่ก็ผ่านมาได้” แจนเล่าพร้อมโปรยยิ้มหวานให้กับบทเรียนสุดหินที่ผ่านมา

หลังจากคว้าปริญญาโทมาครอง เธอตั้งใจจะกลับมาหางานทำที่เมืองไทย ยิ่งพอรู้ว่ามีตำแหน่งว่างที่พีพี กรุ๊ป เธอก็ไม่ทิ้งโอกาสที่มี ในที่สุดก็ได้ทำงานที่รักสมใจ

“แจนว่า MCM กับแจนมีธรรมชาติที่คล้ายกัน คือ MCM เป็นแบรนด์ที่สนุกสนาน มีสีสันเข้ามาเป็นลูกเล่น เหมือนกับแจนที่ไม่ใช่คนนิ่งๆ แต่เป็นคนสนุกสนาน ที่สำคัญถึงจะเป็นแบรนด์จากเยอรมนีแต่ตอนหลังถูกเทกโอเวอร์โดยชาวเกาหลี ยิ่งเข้าทางแจน เพราะสมัยเด็กแจนชอบเกาหลีมากๆ ทั้งดูซีรีส์ ฟังเพลง ตอนที่เข้ามหาวิทยาลัยตั้งใจจะเรียนภาษาเกาหลี แต่เพราะมีนักเรียนลงเรียนน้อยคลาสเลยยกเลิก แจนเลยเบนเข็มไปเรียนภาษาญี่ปุ่นแทน” สาวหวานเล่าด้วยน้ำเสียงเสียดาย

หลังจากเข้ามาโลดแล่นในวงการแฟชั่น แจนยอมรับว่าดีกรีความชอบยังไม่จางหาย เพียงแต่พอเข้ามาเป็นคนวงในทำให้เริ่มคุ้นชินกับโลกแฟชั่นมากขึ้น

“อย่างที่บอกว่าแจนไม่ใช่ผู้หญิงที่แต่งตัวตามเทรนด์ตลอดเวลา เพียงแต่ชอบศึกษา ยิ่งโลกทุกวันนี้หมุนเร็ว โดยเฉพาะในวงการแฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ต้องตามให้ทัน แจนยิ่งต้องศึกษา และรู้ว่าเทรนด์ตอนนี้คืออะไร แต่ไม่ได้แต่งตาม เพราะจะแต่งตัวในแบบที่ชอบและเป็นสไตล์ของแจนมากกว่า”

เป้าหมายจากนี้เธอไม่ฝันไกลว่าวันหนึ่งจะนำเข้าแบรนด์มาบริหาร แต่ตั้งเป้าว่าอยากจะก้าวไปให้ถึงตำแหน่งแบรนด์แมเนเจอร์ เพราะอยากทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของแบรนด์ประหนึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เอง ได้ใช้ทักษะและประสบการณ์ที่มีในการบริหารแบรนด์ ดูแลทั้งพนักงาน หน้าร้าน และการตลาด

ถามถึงไลฟ์สไตล์วันว่าง เธอออกตัวว่า “แทบไม่มีค่ะ อาจเพราะว่ากำลังสนุกกับงานเลยทุ่มเทให้กับงานเต็มที่ เวลาเกือบ 100% ก็อยู่ตรงนี้ นอกจากเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่จะอยู่บ้าน ยกเว้นมีภารกิจต้องออกไปตระเวนชิมของอร่อยกับคู่หูคนสนิท (อ้อมแอ้ม-ศรัณย์ภัค เพ็ญชาติ)”

“แจนเป็นสายกินค่ะ ทุกวันนี้เงินทองไม่ได้เสียไปกับการชอปปิ้ง แต่หมดไปกับการกินล้วนๆ (หัวเราะ) ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ เรื่องกินต้องมาก่อน อย่างพรุ่งนี้แจนจะไปเซี่ยงไฮ้กับอ้อมแอ้ม ก็เพราะไปเจอร้านอาหารร้านหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ อยากไปก็เลยหาตั๋วแล้วไปกัน”

ไลฟ์สไตล์ชอบแชะและกินอาหารของแจนไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่ชอบตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย เธอไม่เพียงเป็นสายกินแต่ยังชอบเข้าครัว โดยเริ่มจากการทำขนม จนกระทั่งไปเรียนต่อที่อิตาลี จึงเริ่มเปลี่ยนแนวมาทำอาหาร

“ตอนอยู่อิตาลีบางครั้งก็ทำอาหารเอง ส่วนใหญ่เป็นอาหารเกาหลี อาศัยเรียนรู้จากคลิปในยูทูป ถามว่าอร่อยมั้ย ก็น่าจะใช้ได้นะ เพราะเพื่อนเกาหลีที่มาชิมก็บอกว่าแจนทำได้เหมือนต้นตำรับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาแกล้งพูดปลอบใจหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เขาก็มาชิมฝีมือแจนหลายครั้งอยู่เหมือนกัน”

ถึงบางมื้อจะเข้าครัวโชว์เสน่ห์ปลายจวัก แต่สมัยเรียนอยู่ฟลอเรนซ์ถ้ามีเวลาว่างต้องตระเวนชิมร้านอาหารต่างๆ ด้วยความที่ฟลอเรนซ์เป็นเมืองเล็กๆ แจนเลยกล้าการันตีว่าชิมอาหารที่เป็นร้านท้องถิ่นมาแล้วแทบทุกร้าน ส่วนร้านดังถ้าสามารถจองได้ก็ลองมาไม่น้อย

“แจนว่าจริงนะคะ ผู้หญิงบางคนอาจจะยอมจ่ายเพื่อกระเป๋า รองเท้า แต่สำหรับแจนยอมจ่ายเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่จะได้รับจากมื้ออาหาร ที่สำคัญเป็นพวกชอบถ่ายรูป สั่งอาหารมาแล้วกว่าจะได้ชิมก็ต้องถ่ายให้ครบทุกมุม ฉะนั้น คนที่จะไปกับแจนต้องเป็นแนวเดียวกัน (หัวเราะ) เวลาไปร้านอาหารแจนจะพกกล้องไปด้วย ถ่ายจนพอใจแล้วค่อยมาแต่งในโทรศัพท์อีกที แล้วค่อยโพสต์ลงอินสตาแกรม”

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้อาหารเสียรสชาติ พอถ่ายภาพอาหารเสร็จเรียบร้อยแจนจะลิ้มรสอาหารทันที ส่วนหน้าที่แต่งรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลนั้นเก็บไว้ทีหลัง

“เวลาไปร้านอาหารแต่ละแห่ง แจนถ่ายเก็บตั้งแต่หน้าร้าน บรรยากาศ จนถึงเมนู กลับบ้านทีได้มาไม่ต่ำกว่าร้อยรูป ถ้าไป 2 คนก็สั่งได้ 6 เมนู เลือกจากเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน บวกกับเมนูที่เราชอบ ซึ่งทุกจานที่สั่งมาเราไม่ใช่แค่ถ่ายรูป ถ้ารสชาติผ่านเรากินหมดทุกจาน ความสุขของแจนคือการได้ชิมอาหาร และได้เก็บความทรงจำนั้นกลับมา ตอนนี้มีแผนว่าจะทำเป็นไดอารีร้านอาหารที่ไปมา เริ่มจากอิตาลี ตอนนี้นำรูปภาพที่มีมาวางเลย์เอาต์ในอินดีไซน์แล้วส่งให้โรงพิมพ์ แต่ยังทำไม่เสร็จสักที (หัวเราะ)”

นอกจากจะเป็นสายกินตัวแม่แล้ว เธอยังมีของสะสมสุดแปลก อย่าง “เปลือกขนม”

“ตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ เวลามีโอกาสไปต่างประเทศจะเก็บห่อขนมที่ชอบ มีดีไซน์แปลกๆ กลับมาให้พี่เลี้ยงช่วยล้างแล้วเก็บไว้ในกล่องบ้าง สมุดที่เติมไส้ได้บ้าง เก็บจนแทบล้นห้องนอน (หัวเราะ) จนทุกวันนี้ก็ยังเก็บนะคะ ว่างๆ จะหยิบออกมาดู สำหรับแจนมันคือความสุขอย่างหนึ่ง เหมือนเป็นตัวแทนความทรงจำ เวลาเห็นห่อขนมห่อนี้ก็ทำให้นึกถึงตอนไปประเทศนั้นๆ”

แจนยังบอกด้วยว่า บางครั้งถ้าติดตามข่าวสารและเห็นว่ามีประเทศไหนออกขนมแบบใหม่ เช่น คิทแคทออกรสยูซุ หรือโตเกียว บานานา ก็จะพยายามหาหนทางเพื่อให้เพื่อนที่ไปญี่ปุ่นช่วยซื้อกลับมาให้จนได้

“หลายคนอาจจะมองว่าเปลือกขนมเหล่านี้เป็นขยะนะคะ แต่สำหรับแจนมันคือความสุขที่เราสะสมไว้ และคิดว่าจากนี้ก็ยังคงสะสมต่อไปเรื่อยๆ” แจนกล่าวทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น