ช็อกสิคะ! เมื่อ “น้องเล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” ทายาทโรงแรมหรู “ปาร์คนายเลิศ” ใช้ลายมืออันสวยงาม เขียนเมมโมความยาว 2 หน้ากระดาษ ถึงพนักงานปาร์คนายเลิศทุกคน เรื่องขอเลิกกิจการโรงแรมปาร์คนายเลิศที่จะดำเนินการจนถึงต้นปี 2560
ส่วนเจ้าของใหม่ที่เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของกลุ่มปาร์คนายเลิศคือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ด้วยมูลค่าซื้อขายสูงถึง 10,800 ล้านบาท การซื้อขายครั้งนี้ อาจจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ให้เป็นบิ๊กดีลของปีนี้ก็ว่าได้ ถือเป็นการปิดตำนาน 158 ปี ของธุรกิจปาร์คนายเลิศ และเป็นการเริ่มต้นเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จะนำพื้นที่ทำเลทองใจกลางเมือง 15 ไร่แห่งนี้ มาทำศูนย์สุขภาพครบวงจรแห่งแรกในเอเชีย
แม้จะเป็นการปิดตำนานปาร์คนายเลิศ แต่ที่แห่งนี้ก็ยังคงเหลือความทรงจำดีๆ อีกหลายอย่างที่น่าบันทึกเอาไว้ Celeb Online Daily ขอเลือก 5 เรื่องที่น่าจดจำแห่งตำนานปาร์นายเลิศ
** ป่าผืนสุดท้ายของกรุงเทพฯ**
ตอนที่ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ ดำริที่จะทำโรงแรมปาร์คนายเลิศนั้น ท่านได้แบ่งที่ดินเกือบ 20 ไร่จากส่วนที่เคยเป็นอู่รถเมล์ขาว ซึ่งเป็นธุรกิจของพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร ผู้เป็นบิดามาทำเป็นตัวโรงแรม
และด้วยความที่ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์และบิดาเป็นคนรักต้นไม้มาก จึงได้กันพื้นที่ด้านหลังของโรงแรมมาทำเป็นสวน โดยเชิญ อ.วิลเลียม วอร์เร็น เป็นผู้ออกแบบและดูแลไปด้วย ซึ่งอ.วิลเลียมก็เป็นคนรักต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจเช่นกัน มีผลงานในการจัดสวนหลายแห่ง อาทิ สถานทูตออสเตรเลีย สหประชาชาติถนนราชดำเนิน โรงแรมภูเก็ตยอร์ชคลับ เป็นต้น
“ผมเป็นเพื่อนกับท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ เมื่อก่อนนี้เช่าบ้านของท่านอยู่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม ผมจึงเห็นที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่แรก ซึ่งเมื่อก่อนแถวนี้เป็นทุ่งนาและเป็นป่าทั้งหมด มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด”
เล่าลือกันว่าช่วงแรกของการถากถางพื้นที่เพื่อทำโรงแรมนั้น ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์จะลงมาดูแลการตัดต้นไม้ด้วยตัวเองเพราะเกรงจะตัดต้นไม้ใหญ่ไปหมด และกิจวัตรประจำวันตลอดชีวิตของท่านผู้หญิงก่อนจะถึงแก่อนิจกรรมคือ การเดินชมสวนไปพร้อมๆ กับ อ.วิลเลียม
สวนแห่งนี้นับได้ว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์เล็กๆ ที่อยู่ใจกลางเมือง เพราะมีความหลากหลายของต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด ที่จัดแต่งแบบสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติ มีความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 20-100 ปี อาทิ ต้นไทรสาขายักษ์ 2 ต้นที่ยืนเคียงข้างกันอยู่ใกล้สระน้ำขนาดใหญ่ และกว่าที่รากของไทรจำนวนมากที่ห้อยย้อยลงมาสู่พื้นดินต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี ถือเป็นความงดงามทางศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นโดยธรรมชาติ หรือต้นหางนกยูงขนาดยักษ์ออกดอกสีเหลืองที่ไม่ค่อยจะเห็นกันบ่อยนัก รวมทั้ง ต้นก้ามปู ต้นประดู่เหลือง ประดู่แดง ซึ่งแต่ละต้นสูงใหญ่เท่าๆ ตัวโรงแรม
** “บ้านปาร์คนายเลิศ” มรดกล้ำค่า 100 ปี**
ที่ด้านหลังของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ยังมีพื้นที่ร่มรื่นไปด้วยสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ โดยมีเรือนไม้สักโบราณหลังใหญ่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่นายเลิศผู้เป็นปู่มาถึง 3 เจนเนอเรชัน ที่นี่จึงเป็นเสมือนตำนานที่เก็บเรื่องราววิถีชีวิตของตระกูลนี้
บ้านหลังนี้มีอายุครบ 100 ปีเมื่อปี 2559 ลูกหลานจึงได้ช่วยกันบูรณะปรับปรุงให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกสร้าง พร้อมเปิดบ้านเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ จุดประสงค์คือให้ทุกคนระลึกถึง และถ่ายทอดวิถีของนายเลิศ และท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ ซึ่งต่างอุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมาเกือบทั้งชีวิต
ภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากคน 3 รุ่น มีทั้งของเก่าและของสะสมกว่า 3 หมื่นชิ้น ปัจจุบันหาดูได้ยากยิ่งแล้ว ได้นำมาจัดแสดงหมุนเวียนกันไป
นอกจากจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมแล้ว บ้านหลังนี้ยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดฮิตที่คนทั่วไปชอบมาจัดอีเวนต์เก๋ๆ อีกด้วย ประเดิมงานแรกคืองานแต่งงาของ เจนสุดา ปานโต กับหนุ่มไฮโซ พอล สิริสันต์ ซึ่งทุกคนออกปากเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าสถานที่สวยงามมากๆ
** 2 ห้องสวีทใหญ่**
ในยุคการก่อสร้างโรงแรมปาร์คนายเลิศครั้งแรกนั้น จุดเด่นของที่นี่ที่แปลกใหม่กว่าที่อื่นๆ ที่สร้างในยุคเดียวกันคือ มีห้องสวีทถึง 2 ห้องใน 2 บรรยากาศ โดยห้องแรกจะเป็นสวีทสไลต์ทันสมัยหรูหรา ตกแต่งด้วยโทนสีขาว เตียงนอนขนาดใหญ่ เฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากต่างประเทศทุกชิ้น ที่สำคัญคือ ตอนที่ ปุ๋ย-ภรทิพย์ นาคหิรัญกนก สวมมงกุฎนางงามจักรวาลเมื่อปี 2531 แล้วบินกลับมาเมืองไทย ก็ได้มาพักอยู่ห้องสวีทแห่งนี้
นอกจากนี้ ห้องนี้ใช้สำหรับรับรองราชวงศ์ไทยและกษัตริย์จากต่างประเทศ หรือบุคคลสำคัญ ทั้ง สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น, สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ประมุของค์ปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรสวีเดน รวมถึง สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และ สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก เป็นต้น
ส่วนสวีทอีกห้องหนึ่งตกแต่งเป็นแบบไทยโบราณ โดยท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ให้นำของสะสมโบราณของท่านมาตกแต่งห้องนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะ เตียงนอนไม้โบราณทรงสูงมีเสา 4 มุมของเตียง ทั้งหมอนและผ้าคลุมเตียงเป็นผ้าไหมลายโบราณ ทำให้ห้องนี้มีบรรยากาศย้อนยุคไปสู่ความคลาสสิกในสมัยรัชกาลที่ 5
** Ma Maison ห้องอาหารฝรั่งเศสโก้เก๋**
ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ได้ชื่อว่าเป็นนักสะสมของเก่าตัวยง ขณะเดียวกัน สามีคนท่านคือ พินิจ สมบัติศิริ ก็เป็นนักชิมระดับพระกาฬ เพราะได้เป็นสมาชิกของสมาคม Rotisserie ที่มีสมาชิกเป็นเหล่านักชิมระดับโลกทั้งนั้น
ร้าน Ma Maison จึงเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่ พินิจ สมบัติศิริ เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2526 เพื่อเป็นสถานที่สังสรรค์ของนักชิมอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในร้านอาหารฝรั่งเศสยอดฮิตในยุคแรกๆ เทียบเคียงกับ เลอ นอร์มังดี ของโรงแรมโอเรียนเต็ลได้เลย
ความโดดเด่นของMa Maison นอกจากใช้เชฟระดับtop classจากฝรั่งเศสแล้ว ยังมีสไตล์การตกแต่งที่โมเดิร์น มีผนังกระจกขนาดใหญ่ที่สามารถมองออกไปเห็นสวนร่มรื่นที่อยู่ด้านหลัง จึงกลายเป็นสถานที่สำหรับเศรษฐี นักธุรกิจทั้งหลายในยุคเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่จะชวนกันมาสังสรรค์ เก๋ขนาดที่ หนู-อนุทิน ชาญวีรกูล ยังเลือกที่นี่สำหรับเดทสาวครั้งแรก
ปัจจุบันMa Maison กลายเป้นห้องอาหารไทยที่รวบรวมเมนูอาหารโบราณของครอบครัวนายเลิศมาเป็นเมนูประจำของร้าน
** งานดอกไม้ประจำปี**
เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณ “บ้านนายเลิศ” นั้นเต็มไปด้วยสวนสีเขียวขจีขนาดใหญ่ ที่ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้และดอกไม้นานาชนิด จนได้รับการขนานนามว่า “ปาร์คนายเลิศ” เนื่องจากเจ้าของรักต้อนไม้เป็นชีวิตจิตใจ และต้องการให้ผู้อื่นได้มีโอกาสเข้าชมความงามของพรรณไม้และดอกไม้ ที่ท่านรักและหวงแหนดุจชีวิตจิตใจของท่านบ้าง จึงดำริให้จัดเป็นงานดอกไม้การกุศลประจำปีโรงแรมปาร์คนายเลิศขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ 2529
โดยในแต่ละปีงานดอกไม้การกุศลจะเปลี่ยนธีมไปเรื่อย ๆ จากวันนั้นจนถึงวันนี้กว่า 30 ปี งานดอกไม้ประจำปีได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสาธารณชนนับแต่เริ่มต้นจัด จนต่อมาได้มีการเชิญนักจัดดอกไม้ชื่อดังระดับประเทศและระดับโลกให้มาจัด และล่าสุดได้ร่วมกับ สภาดอกไม้โลก ถือเป็นการยกระดับของงานให้กลายเป็นงานจัดดอกไม้ระดับโลกแห่งเดียวของเมืองไทย
ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่าในช่วงของเทศกาลงานดอกไม้นั้น ตลอดทั้งโรงแรมจะถูกเนรมิตเป็นสวนดอกไม้อันแสนงดงามด้วยดอกไม้นานชนิดทั่วโลกหลายหมื่นดอก ต้อนรับผู้มาเยือน : Text by Celeb Online Daily /Facebook : celeb online daily