คลุกคลีอยู่กับวงการสวยๆ งามๆ มานานหลายสิบปี จึงไม่แปลกที่สิ่งของรอบกาย หฤดี วรพงศ์พิสุทธิ์ ผจก.ทั่วไป “โซลวาซู” (Sulwhasoo) ประเทศไทย จะต้องสวยเนี้ยบไปหมด ไม่เว้นแม่แต่เครื่องครัว โดยเฉพาะ ชุดจานชามที่เธอตกหลุมรักจังเบ้อเร่อ ขนาดซื้อเก็บทุกครั้งยามที่ได้พบเจอ
การได้มีชุดจานชามง่ายๆ แต่คลาสสิกเหนือกาลเวลาอยู่ใกล้ตัว นอกจากจะทำให้ดูดีมีสไตล์แล้ว ยังเป็นดั่งน้ำหล่อเลี้ยงใจในวันที่เหนื่อยล้าได้อีกด้วย หฤดี ส่งยิ้มหวานบอกกับเรา เป็นการเริ่มต้นสนทนาเรื่องถ้วยชามของรักของหวงของเธอในวันนั้น อย่างเป็นกันเอง
“แรกๆ มอง ‘ถ้วยจาน’ เป็นเรื่องไกลตัวที่ให้ความสนใจน้อยมาก ทั้งๆ ที่ต้องทานข้าววันละ 2-3 มื้อ จนช่วงหลังจากแต่งงาน เพื่อนๆ ชอบมาปาร์ตี้ที่บ้าน จึงเริ่มให้ความสำคัญจานชามเป็นพิเศษ เวลาไปเลือกซื้อนั่งมองจริงจัง ก็รู้สึกสนุกและชอบว่าสวย ยิ่งพอนำมาใส่อาหารก็ช่วยให้อาหารน่าทานอีกด้วย ศิลปะบนกระเบื้องยังช่วยผ่อนคลายชีวิตให้มีความสุขด้วย มันเป็นอารมณ์คล้อยตามไปตามจินตนาการที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นอธิบายไม่ถูกค่ะ รู้แค่ว่ามีความสุข”
จานชามของ หฤดี จะมีทั้งแบรนด์แนม อาทิ Ungaro, LANVIN (ลองแวง), Givenchy และงานแฮนด์เมดของศิลปินพื้นเมืองยามไปต่างประเทศ เห็นแล้วถูกใจก็เลยหอบหิ้วพาข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาด้วย โดยเธอแยกแยะความแตกต่างระหว่างจานทั้ง 2 แบบว่า มีคุณค่าความงามต่างกันคือ แบรนด์เนมจะเป็นงานที่สวยเนี้ยบและเรียบหรู ขณะที่ของแฮนด์เมดไม่ว่าจะปั้นหรือเพนต์ด้วยมือ แต่ละชิ้นจะมีความเป็นธรรมชาติที่มีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัวเอง
“ส่วนตัวแล้วชอบงานแฮนด์เมดมากกว่า เพราะทั้งการปั้นหรือเพนต์ด้วยมือ ทำให้แต่ละชิ้นจะมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัว มีความเป็นธรรมชาติสูง และไม่ซ้ำกันแม้จะแบบเดียวกัน นี่แหละที่เป็นเสน่ห์ของงานศิลปะ เวลาซื้อเราหยิบขึ้นมาจะรู้สึกตื่นเต้นและสนุกมาก เพราะไม่รู้ว่าใบต่อไปจะเป็นอย่างไร จะเจออะไรอีกค่ะ” หฤดี อธิบายถึงเสน่ห์เซรามิกที่ทำให้เธอลุ่มหลง
แม้จะชื่นชอบความงามที่เป็นธรรมชาติ หากแต่เมื่อเป็นจานที่มีลวดลาย หฤดี บอกว่า ชอบจานที่มีลวดลายไม่มากนัก เน้นลายเรียบหรู ดูสบายตา โดยชุดที่รักและโปรดปรานมากจะเป็นชุดถ้วยชามของ LANVIN (ลองแวง) แบรนด์แฟชั่นของประเทศฝรั่งเศส ที่เธอผูกพันและคุ้นเคยมากนั่นเอง “จานชามชุดนี้เป็นเซรามิกเนื้อรอยัล พอร์ซเลน พื้นขาว ลวดลายดอกไม้สีน้ำเงิน ชอบตรงความเรียบง่าย สวยคลาสสิก เวลามองแล้วรู้สึกสงบ" หฤดีกล่าว
ขณะที่ จานชามของดิสนีย์แลนด์ลายมิกกีเมาส์ ก็ชื่นชอบไม่แพ้กัน “ชุดนี้ได้มาจากดีสนีย์แลนด์ญี่ปุ่น มิกกีเมาส์ที่เห็นบนจานทำให้รู้เลยค่ะว่า มีวิวัฒนาการความน่ารักในแต่ละยุคสมัยแตกต่างกันไป อย่างจานใบนี้ผลิตประมาณปี 2000 หน้ามิกกีเมาส์จะดูเรียวๆ มีความเป็นเพียวมากกว่ามิกกีเมาส์ในปัจจุบัน”
นานนับสิบปีที่สะสมจานมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะค่อยๆ ซื้อ แต่เมื่อนับรวมกันก็มีไม่ต่ำกว่าร้อยชุด การจัดเก็บจากที่เคยใส่ตู้โชว์ได้เดี๋ยวนี้ไม่เพียงพอ ต้องนำมาห่อแล้ววางซ้อนๆ กัน สำหรับการใช้งาน “หฤดี” บอกว่าจะวนเวียนมาใช้ตามโอกาสและความเหมาะสม
“ถ้าเป็นแขกผู้ใหญ่ซึ่งเราเคารพเป็นคนสำคัญมาบ้าน จะนำชุดที่เรียบๆของ LANVIN หรือ Givenchy ทรงแปดเหลี่ยมมาใช้ เพื่อเป็นการให้เกียรติ แต่ถ้าเป็นเพื่อนๆ มาปาร์ตี้จานชามที่ใช้จะเน้นที่ลายสนุกๆ สดใสของ Ungaro จากปารีสมาใช้ค่ะ”
สำหรับการดูแลรักษาโดยรวมนั้น เธอบอกว่าไม่ยากนักถ้าเทียบกับของสะสมแบบอื่น เพียงแต่จานกระเบื้องนั้นบอบบางต้องอาศัยความระมัดระวัง ดังนั้น ทุกครั้งที่นำออกมาใช้เสร็จแล้ว เธอจะทำความสะอาดด้วยตัวเองเสมอ “จะล้างเองเลยค่ะ ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ รองที่ก้นอ่างล้างจานป้องกันการกระแทก ใช้น้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างจาน สำหรับเซรามิกจากเนเธอร์แลนด์ผสมน้ำอุ่น แล้วใช้ฟองน้ำนุ่มๆ ขัดถูเบาๆ ล้างน้ำเปล่าเสร็จก็คว่ำให้แห้ง ก่อนเก็บเข้าตู้ก็จะใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดรองแต่ละชั้น ป้องกันการขูดขีดค่ะ”
หฤดี ยังแนะทริคการดูแลรักษาจานชามอีกว่า หากชุดถ้วยชามและจานชามเซรามิกเปื้อนหรือมีคราบติดแน่น เธอจะนำเกลือมาผสมกับน้ำส้มสายชูอย่างละเท่าๆ กัน แล้วเอาถ้วยชามและจานชามเซรามิกแช่ทิ้งไว้ หรือนำเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำ ทาลงบนรอยเปื้อนและขัดเบาๆ
ส่วนรอยขีดข่วนบนชุดถ้วยชามและจานชามเซรามิก ที่เกิดจากรอยช้อนส้อมมีดขณะทานอาหาร ให้ใช้ฟองน้ำชื้นๆ ชุบเบกกิ้งโซดา อาจจะใช้ยาสีฟันแบบสีขาวมาเช็ดก็จะช่วยได้เช่นกัน
ถ้อยคำที่หฤดีบอกเล่าแม้จะไม่หวือหวาเหมือนนักเล่าเรื่องคนอื่นๆ หากแต่สีหน้าและดวงตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มสดใส ทำให้เรารู้ได้ว่าเธอมีความสุขกับถ้วยชามเหล่านี้จริงๆ
เรื่อง วรกัญญา สมพลวัฒนา
ภาพ พลภัทร วรรณดี