xs
xsm
sm
md
lg

“น้องเบอร์รี่” รถคู่ใจของ ภัคญดา ชุติดนัยกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>“พั้นช์เป็นคนรักเดียวใจเดียว ถ้ามีรถที่ชอบในใจแล้ว ต่อให้ได้คันอื่นมาก็ไม่ปันใจ” นี่คือคำยืนยันจากพั้นช์-ภัคญดา ชุติดนัยกุล ดีไซเนอร์สาวแห่งแบรนด์เสื้อผ้า Phakyada ที่วันนี้ปรากฏตัวในลุคสาวเท่แต่ยังแฝงความเปรี้ยว เซ็กซี่ไว้แบบพอดีคำ ควงคู่มากับ “น้องเบอร์รี่” ซึ่งเป็นชื่อที่เธอตั้งให้รถคันโปรดอย่างเปอโยต์สีแดง รุ่น 207 cc ที่เธอบอกว่า ถึงจะอยู่ด้วยกันมา 6 ปีแล้ว แต่ยังคงรักคันนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

“ใฝ่ฝันอยากได้รถเปิดประทุนมานานแล้ว จริงๆ ก่อนจะมาลงตัวที่เปอโยต์ พั้นช์อยากได้อีกแบรนด์หนึ่ง แต่คันที่อยากได้เป็นหลังคาผ้าใบ ซึ่งพั้นช์เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งนั่งรถเปิดประทุนของเพื่อน ปรากฏฝนตกหนัก หลังคาประทุนผ้าใบที่ต่อให้ทำมาดีแค่ไหน ก็ยังมีรั่วซึม พั้นช์กับเพื่อนต้องใช้ทิชชูช่วยกันอุดรอยรั่วคนละฝั่ง เจอแบบนี้พั้นช์เลยคิดว่าถ้าจะซื้อรถเปิดประทุนต้องมองหาที่เป็นหลังคาเหล็กดีกว่า” ดีไซเนอร์สาวเล่าไปขำไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่เธอมองว่ารถเปิดประทุนที่เป็นหลังคาเหล็กจะตอบโจทย์มากกว่า คือ ในแง่ของความปลอดภัยจากการถูกขโมยงัดแงะ ด้วยเหตุนี้เอง พอมาเจอเปอโยต์รุ่น 207 cc ที่ออกแบบให้มีรูปทรงกะทัดรัด แต่พื้นที่โดยสารไม่คับแคบ แถมพื้นที่ด้านหลังยังกว้าง เป็นหลังคาเหล็กเปิดประทุนได้ สาวหน้าสวยตรงหน้าเลยอดใจไม่ไหวที่จะตกหลุมรักทันที

“ตอนแรกพั้นช์อยากได้สีขาว เพราะเป็นความชอบส่วนตัวว่าอยากได้รถสีขาว แต่ปรากฏว่ารถรุ่นนี้เพื่อนพั้นช์มีทั้งสีขาว และสีดำแล้ว ตอนที่ไปดูคนขายเลยแนะนำให้พั้นช์ซื้อสีแดง เพราะรุ่นนี้นำเข้าสีแดงมาแค่ 19 คันเท่านั้น ซึ่งพั้นช์เห็นว่าสีแดงก็สวยเฉี่ยวไปอีกแบบ เลยตกลงใจซื้อ”


นอกจากจะจับพลัดจับผลูได้ครอบครองรถที่เป็นกึ่งๆ ลิมิเต็ด อิดิชันในไทยแล้ว สิ่งที่พั้นช์บอกว่าทำให้ยิ่งหลงรักรถคันนี้คือ ดีไซน์ของตัวรถที่ดูโฉบเฉี่ยว ทันสมัย ถึงจะใช้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังดูชิก ที่สำคัญเหมาะกับคนเมืองด้วยขนาดที่กะทัดรัดทำให้หาที่จอดง่าย จะถอยเข้าพื้นที่แคบขนาดไหนก็ตอบโจทย์ ส่วนพื้นที่เก็บของด้านหลัง ถึงดูภายนอกรถจะเล็ก แต่จุของได้ไม่ธรรมดา

“เพื่อนๆ จะรู้เลยว่าพั้นช์เป็นคนของเยอะมาก รองเท้าไม่ต่ำกว่า 3 คู่ในรถ บางทีต้องเอาไปบรรทุกผ้าที่ซื้อมาอีก สำหรับพั้นช์รถคันนี้เลยเป็นเหมือนทุกอย่าง เหมือนบ้านหลังที่ 2 ที่พั้นช์ใช้ชีวิตอยู่ในนี้ ทั้งกินข้าว ทำงาน บางทีก็แอบหลับ (หัวเราะ)”

ขณะกำลังถ่ายทอดความในใจที่มีต่อรถคันโปรดอย่างออกรส ชวนให้นึกสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเธอถึงเอ่ยชื่อเรียกรถคันนี้ว่า “น้องเบอร์รี่” อยู่บ่อยครั้ง งานนี้พั้นช์ถึงกับกลั้นหัวเราะไม่อยู่ แล้วรีบเฉลยว่า “หนูเป็นคนตั้งชื่อให้เอง เพราะด้วยสีของรถที่เป็นสีแดง บวกกับหนูชอบเลือกน้ำหอมกลิ่นเบอร์รี่ไปใช้ในรถ พอใช้เสร็จก็เก็บไว้อย่างนั้น ไม่ทิ้ง ทุกวันนี้เวลาจะไปไหน ก็บอกเพื่อนว่ามากับน้องเบอร์รี่ก็เป็นอันรู้กัน แต่พั้นช์ไม่ได้ตั้งให้รถทุกคันที่ใช้นะ แค่คันนี้ อาจเพราะความรักที่มีให้ต่างกัน (หัวเราะ)”

แม้ทุกวันนี้จะมีใช้รถของที่บ้านคันอื่นบ้างแล้วแต่ความเหมาะสมในการใช้งาน แต่ไม่ว่าจะคุ้นชินกับรถคันอื่นขนาดไหน ความรู้สึกก็ไม่เหมือนยามได้นั่งประจำที่นั่งคนขับของเปอโยต์คันโปรด

“ทุกครั้งที่ขับพั้นช์จะมีความรู้สึกพิเศษ ไม่ใช่แค่ความสบาย ความถนัดในการใช้งานนะ แต่พั้นช์ว่ารถคันนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวระหว่างเรา อย่างที่บอกว่าถ้าไม่รวมรถที่พั้นช์ใช้หัดเรียนขับรถ นี่เป็นคันแรกของพั้นช์จริงๆ ขับมาตั้งแต่สมัยเรียน จนตอนนี้ทำงาน เหมือนกับว่า รถคันนี้ได้บรรจุความทรงจำกับพั้นช์เอาไว้มากมาย”


อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอรักเจ้าเบอร์รี่คันนี้มาก คือ รถมีสองบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในตัวคล้ายกับตัวเธอที่มีทั้งมุมหวาน ขี้เล่น แต่ในบางมุม ก็ดูเป็นผู้ใหญ่ เป็นสาวเปรี้ยวสุดชิก

“สะท้อนคาแรกเตอร์ของพั้นช์เป๊ะเลยค่ะ เวลาที่จอดไว้นิ่งๆ ก็ให้อารมณ์หนึ่ง แต่พอเปิดประทุนเท่านั้นแหละ กลายเป็นอีกอารมณ์หนึ่งทันทีเลย นึกย้อนไปก็ยังขำตัวเอง มีช่วงหนึ่งพั้นช์พยายามแต่งตัวให้แมตช์กับสีรถ รถสีแดง พั้นช์ก็แต่งแดงเข้าสู้ คราวนี้เวลาขับรถไปไหนมาไหน คนไม่ได้มองรถนะคะ มองคนขับว่าจะแดงไปไหน (หัวเราะ)”

ถึงรถคันนี้จะตอบโจทย์ความพึงพอใจทั้งรูปลักษณ์และการใช้งาน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับในการเลือกใช้รถที่เป็นลิมิเต็ด อิดิชันคือ การดูแลรักษา บางครั้งสีหรืออะไหล่ที่เฉพาะเจาะจง ก็ต้องอดใจรอนานกว่ารถทั่วไป “ก็ต้องทำใจนะคะ อยากสวย อยากแปลกกว่าคนอื่น เวลาเข้าอู่ซ่อมก็ต้องรอนานหน่อย บางครั้งรอเป็นเดือนก็มี แต่อาศัยว่าเป็นรถคันโปรด จะนานแค่ไหนก็อดใจรอได้ค่ะ” ดีไซเนอร์สาวกล่าวทิ้งท้าย

เทคนิคเลือกรถที่ใช่

1.แนะนำให้เลือกคันที่ชอบ อาจพิจารณาจากรูปลักษณ์ หรือ ฟังก์ชันการใช้งานในรถก่อนโดยไม่ต้องเอาแบรนด์เป็นที่ตั้ง
2.เมื่อมีเป้าหมายอยากได้รถคันไหน แล้วศึกษาข้อมูล อาจขอคำแนะนำจากผู้รู้
3.มองถึงความคุ้มค่าในอนาคต :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น