xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจมรดกความคิด ครอบครัว “จงสถิตย์วัฒนา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>เป็นอีกหนึ่งครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่พลิกโฉมสองอุตสาหกรรมของเมืองไทย สำหรับครอบครัว “จงสถิตย์วัฒนา” เบื้องหลังการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอาณาจักรนานมีบุ๊คส์ และเอเอ ฟุตแวร์ ล้วนมาจากความมุ่งมั่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของเหล่าสมาชิกในครอบครัวและการถ่ายทอดเจตนารมณ์ในการทำธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น โดยโอกาสนี้เราได้รับเกียรติ 4 สมาชิกจาก 2 เจเนอเรชันแห่งตระกูลจงสถิตย์วัฒนา มาบอกเล่ามุมมอง ความคิด ชีวิตการงาน และครอบครัว

2 เจเนอเรชัน 4 ผู้บริหารมนุษย์งาน

ไล่เรียงสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ “คุณพ่อพิชิต-คุณแม่สุวดี” และสองทายาทสาวคนเก่ง “คิม” และ “เจน” ที่แค่วิธีตั้งชื่อของสองสาวก็สะท้อนความลึกซึ้งถึงวิธีคิดของครอบครัวนี้แล้ว ที่มาของชื่อแสนเก๋นี้ เกิดจากไอเดียที่ต้องการชื่อออกเสียงได้ทั้ง 3 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) โดย คิม เป็นภาษาแต้จิ๋วแปลว่าชื่อเสียง เกียรติยศ และมาจากภาษาไทย คำว่า คิมหันต์ ส่วน เจน เป็นภาษาแต้จิ๋ว มาจากคำว่า เจิน แปลว่าสุภาพอ่อนโยน และภาษาไทยมาจากคำว่า ชัดเจน

ความใกล้ชิดของทั้งสี่ไม่เพียงความผูกพันในครอบครัวเท่านั้น หากแต่ละคนยังช่วยกันสืบสานรับไม้ส่งต่อธุรกิจ ด้านหนึ่งคือบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ธุรกิจสำนักพิมพ์ภายใต้การบริหารของ สุวดี รั้งตำแหน่งผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการโดยมีลูกสาวคนโต คิม นั่งแท่นกรรมการผู้จัดการ อีกด้านหนึ่งคือบริษัท เอเอ ฟุตแวร์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรองเท้าชั้นนำ ที่ได้พิชิตดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และวางตัวลูกสาวคนเล็ก เจน รับบทบาทรองกรรมการผู้จัดการใหญ่

คิม : ความเป็นแฟมิลี่ บิสซิเนส ทำให้เราคล่องตัวที่จะทำอะไรใหม่ๆ บางคนเรียกนานมีบุ๊คส์ว่าเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ Social enterprise ซึ่งคิมมองว่าการที่เราเป็นธุรกิจเชิงการศึกษา การเป็นธุรกิจครอบครัวจะขับเคลื่อนได้ง่าย เราสามารถดีไซน์โมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางสังคมที่เราจะบรรลุได้

เจน : เจนว่าข้อดีของการเป็นบิสซิเนส แฟมิลี่ คือความอบอุ่น เราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่สามารถเข้าถึงกันได้ เราดูแลพนักงานของเราเหมือนเป็นคนในครอบครัว

สองศรีพี่น้องเผยถึงจุดแข็งของการช่วยบริหารธุรกิจครอบครัวที่พวกเธอสานต่อมานานเกือบ 10 ปีแล้ว

ปณิธานสร้างสังคมการเรียนรู้

สำหรับเหล่านักอ่านคงพอรู้จักชื่อเสียงของนานมีบุ๊คส์ จากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย วรรณกรรมเยาวชนระดับโลกที่สร้างกระแสรักการอ่านให้กับเด็กทั้งโลก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปสำนักพิมพ์แห่งนี้ ก่อตั้งมานานกว่า 25 ปีแล้ว จากการเป็นร้านหนังสือจีนเล็กๆ บนถนนเยาวราช ต่อมาสุวดีได้เกิดปณิธานสร้างสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ ทำให้ก่อตั้งสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในปี พ.ศ. 2535 จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง

จนปัจจุบันนานมีบุ๊คส์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตหนังสือแนวส่งเสริมความรู้ แต่ยังพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม Nanmeebooks Learning Center ในซอยสุขุมวิท 31 รวมถึงการก่อตั้งศูนย์อบรมและจัดค่าย ภายใต้ชื่อ Go GeniurTraining Center ที่เขาใหญ่ โดยคำว่า ‘นานมี’ นั้น ชื่อบริษัทมาจากภาษาจีนคำว่า หน่ำมุ่ย แปลว่า ความงดงามแดนใต้

“ตอนก่อตั้งนานมีบุ๊คส์ ยุคนั้นคนอ่านหนังสือน้อยมาก ร้านหนังสือก็มีหนังสือน้อย งานสัปดาห์หนังสือจัดอยู่ข้างคลองติดกับกระทรวงศึกษา คนเดินโหรงเหรงมาก ต่อมาสำนักพิมพ์พัฒนาขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยเกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ เยาวชนไทยควานหาหนังสือที่สนุกมาอ่าน สำนักพิมพ์ไทยกล้าซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมเยาวชนมาจัดพิมพ์ ขยายกลุ่มผู้อ่านออกไปเรื่อยๆ จนงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์แทบหาทางเดินไม่ได้”

“ต่อมาเมื่อนานมีบุ๊คส์เปิดรับหนังสือแนวการ์ตูนความรู้แห่งแรกในประเทศไทย สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยพร้อมอ่านหนังสือความรู้ หากมีรูปแบบน่าสนใจ กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้ง การสร้างสังคมการอ่านต้องเริ่มจากความเชื่อว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ ที่สำคัญภาครัฐต้องเป็นผู้นำส่งสัญญาณให้ทั้งระบบการศึกษาและทุกครอบครัวร่วมกันส่งเสริมการอ่าน ประเทศไทยจึงจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง” สุวดีฉายให้เห็นภาพรวมของแวดวงนักอ่านจากมุมมองผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานาน

ส่งต่ออุดมการณ์ สู่ความท้าทายใหม่

ด้วยความมุ่งมั่นของการเป็นคนทำงานที่มีใจรักในหนังสือ ปรัชญาเหล่านี้ได้ตกทอดมาสู่ คิม ทายาทคนโตที่คลุกคลีมาพร้อมกับนานมีบุ๊คส์ตั้งแต่เล็ก และมารับช่วงธุรกิจต่อ จากการเริ่มต้นตักตวงในตำแหน่งเล็กๆ ของบริษัท เคยกระทั่งร้องตะโกนขายหนังสือกลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมาแล้ว ถึงวันนี้เธอค่อยๆ บ่มเพาะประสบการณ์จนก้าวขึ้นมาสู่บทบาทกรรมการผู้จัดการ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ของวงการสิ่งพิมพ์ที่หลายคนมองว่าอยู่ในช่วงขาลง เพราะการมาถึงของดิจิตอลคอนเทนต์

“สิ่งที่คุณแม่สอนมาก คือหนึ่งทำงานหนัก สองไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และไม่ต้องอายที่จะถาม แต่แน่นอนพอเราเริ่มทำงาน นิสัยไม่ดีก็เริ่มออกมา เช่นไม่รับฟังคนอื่น ฉะนั้นสิ่งที่แม่เน้นย้ำคือต้องถ่อมตน”

“บทบาทการเป็นเอ็มดี ทำให้เราต้องบริหารงานหลากหลายฝ่ายมากขึ้น ทำงานสอดประสานกันมากขึ้น ทั้งการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ผลักดันให้ตัวเองต้องเปิดหูเปิดตา ยิ่งวงการสิ่งพิมพ์ตอนนี้ถือว่าไม่ใช่ช่วงปกติ มันง่ายที่จะยอมแพ้และตกบ่วง แต่เราเชื่อว่าถ้าเป้าหมายของเราชัดเจน แค่ปรับเปลี่ยนตรงวิธีการ เราจะไม่หวั่นไหว ซึ่งอุดมการณ์นั่นคือความตั้งใจที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ยกระดับการเรียนรู้ของประเทศไทย แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่ฟูมฟักไม่ใช่แค่คิม แต่ให้กับพนักงานทุกคนด้วย” คิมเผยถึงหัวใจหลักในการฝ่าอุปสรรคบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของวงการสิ่งพิมพ์

ภายใต้การกุมบังเหียนของผู้บริหารไฟแรง คิมมองว่าสิ่งสำคัญของการบริหารธุรกิจสำนักพิมพ์ในยุคดิจิตอลนี้ ไม่เพียงฟังเสียงลูกค้ามากขึ้น หากแต่ต้องสร้างความตระหนักใหัทีมงานว่าต้องไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นวิวัฒนาการนานมีบุ๊คส์จึงไม่ใช่เป็นเพียงสำนักพิมพ์แต่ต้องเป็นผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้ โดยแบ่งไลน์ออกเป็นสินค้าและบริการ คำว่าสินค้าหมายถึงหนังสือ ขณะที่บริการคือนวัตกรรมการเรียนรู้ ภายใต้ร่มนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น ทำให้นานมีบุ๊คส์มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์มากมายสารพัดโครงการ

“เราต้องตีความเชิงลึกมากพอที่จะบูรณาการโปรดักต์หลายๆ อย่างให้เป็นโซลูชั่น จะสังเกตได้ว่านานมีบุ๊คส์ออกแบบหนังสือมีกิมมิกอย่างเช่นเป็นป๊อปอัพ มีการจัดกิจกรรมอบรมครู-ผู้ปกครองให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ใช่แค่อ่านอย่างเดียว แต่อ่านแล้วสามารถต่อยอดกิจกรรมได้ด้วย ทีมงานของเราจึงไม่ใช่แค่คนขายของ แต่ต้องเป็นที่ปรึกษาด้านการเรียนรู้ (Learning Advisor)”

“ดังนั้นหนังสือของนานมีบุ๊คส์จึงเป็นเพียงแค่หนึ่งเครื่องมือในการเรียนรู้ เพราะตอนนี้เรามีทั้งค่ายอบรม ศูนย์วิทยาศาสตร์ เราจึงต้องรู้จักผสมผสานเครื่องมือเหล่านี้ให้กลายเป็นหนึ่งโซลูชั่นซึ่งเราขับเคลื่อนแนวทางนี้มา 6-7 ปีแล้ว คือคุณแม่เป็นคนก้าวหน้า หลายๆ โปรเจกต์ที่สำเร็จเพราะคุณแม่ให้แนวทางและสนับสนุน ส่วนเราเป็นคนรันงาน”

ต่อยอดธุรกิจเทรนด์รองเท้าสุขภาพ

ข้ามฝั่งจากวงการสิ่งพิมพ์ มาที่แวดวงรีเทลกันบ้าง กับเอเอ ฟุตแวร์ ที่มีคุณพ่อพิชิตคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ามานานกว่า 30 ปี โดยริเริ่มเอเอ ฟุตแวร์ เมื่อปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและนำเข้ารองเท้าหลากหลายแบรนด์อย่าง Geox, Aerosoles, Pierre Cardin, Water Massage โดยมีเจน ลูกสาวคนเล็กเข้ามาเสริมทัพ

“บางบ้านเขาอาจมีปัญหา ลูกๆ ไม่สานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ผมโชคดีที่ลูกๆ เข้ามาช่วย และสองคนมีสไตล์การทำงานต่างกันเยอะ อย่างคิมเป็นคนทำอะไรจริงจัง ซีเรียส ส่วนเจนจะสบายๆ กว่า จริงๆ เจนมีความกดดันตัวเองอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เขาเก็บความรู้สึกได้เยอะกว่า”

“ช่วงที่เจนเข้ามาฝึกงานใหม่ๆ ผมก็บอกเขาว่าการทำงานไม่ยาก สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องคน ต้องใส่ใจดูแลพนักงานของเราให้ดี เพราะเบื้องหลังพวกเขามีครอบครัวที่ต้องดูแลเหมือนกัน จะทำอะไรต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและลูกค้า ทำสิ่งที่ต้องการทำให้ดีที่สุด ผมว่าสิ่งที่ทำให้เรายืนหยัดมาขนาดนี้ เพราะเรารักในสิ่งที่ทำ พอทำแล้วมีความสุขก็จะต่อยอดได้” คุณพ่อพิชิตเล่าถึงลูกสาวทั้งสองเมื่อครั้งมาเรียนรู้งานใหม่ๆ ระหว่างนั้นก็สอนพวกเขาไปในตัวจากงานที่ทำ โดยเน้นหลักคำสอนตามสไตล์คนจีน คือ อย่าเอาเปรียบคนอื่น เห็นคุณค่าของคน

จากวันแรกของการทำงาน เจนในวัย 21 เคยเอ่ยปากว่าชีวิตนี้ไม่เคยขายของ ไม่มั่นใจแม้แต่พูดต่อหน้าพนักงานมากมายในที่ประชุม ผ่านไปกว่า 10 ปี เจนในเวลานี้คือผู้บริหารมืออาชีพ ขับเคลื่อนพนักงานมากกว่า 500 คน บริหารโรงงาน เคาน์เตอร์ และชอปจำหน่ายรองเท้าหลายสิบสาขา

“ถึงตอนนี้ก็ยังกดดันอยู่ (หัวเราะ) ตอนเริ่มทำงานเป็นความกดดัน เพราะเรายังเด็กกังวลว่าทุกคนจะยอมรับไหม จะเรียนรู้งานได้ไหม ถึงตอนนี้กดดันว่าเราจะสามารถต่อยอดธุรกิจจากคุณพ่อได้ไหม เพราะแบรนด์ที่รับผิดชอบก็เยอะขึ้น ลูกน้องก็มากขึ้น ซึ่งคุณพ่อให้อิสระค่อนข้างมาก ให้เราได้ลองผิดลองถูก สอนไปถึงวิธีคิด วิธีวางตัวต้องนอบน้อม อย่าคิดว่าเราเป็นลูกเจ้าของแล้วเก่ง เพราะต่อให้เก่งมาจากไหน ลูกน้องก็เก่งกว่าเรา เพราะมีประสบการณ์มากกว่า เราต้องเรียนรู้จากเขา”

เจนยอมรับว่าทุกย่างก้าวคือความท้าทาย โดยเฉพาะการบริหารคนที่มีเกือบครึ่งเป็นพนักงานหน้าร้าน ซึ่งเป็นด่านแรกของการสร้างยอดขายบนเส้นทางรีเทล และแม้เธอไม่ใช่คนช่างแต่งตัว แต่เจนโชว์ฝีมือการบริหารธุรกิจที่มีความซับซ้อน โดยยึดจากแพสชั่นส่วนตัว เพราะเมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่าแบรนด์ภายใต้ร่มเงาการดูแลของเธอ มีจุดเด่นหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกแบรนด์ต้องเป็นรองเท้าสุขภาพ สวมใส่สบาย

“เรามองตัวเองเป็นบริษัทรองเท้าที่อยากให้คนใส่มีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนตัวเจนไม่ใช่คนแต่งตัวและหารองเท้าใส่ยาก เพราะเรามีเท้ากว้างก็เข้าใจว่าคนไทยหลายๆ คนคงเหมือนเรา ฉะนั้นเวลาเลือกนำเข้ารองเท้า จะดูว่าใส่แล้วเท้าต้องดูสวยขึ้น ใส่แล้วมั่นใจขึ้น ที่สำคัญต้องใส่สบายไม่ต้องกังวลว่าใส่เดินแล้วเจ็บ”

ตลอดเวลาการทำงานของเจน หลายครั้งต้องผ่านอุปสรรคหลากหลาย โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่เธอรู้สึกว่าคือช่วงวิกฤต เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลพ่วงต่อเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับเธอเพิ่งมารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ช่วงปีที่ผ่านมา จึงเป็นความกดดันและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น แต่เธอกลับรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นแรงผลักให้ต้องพยายาม เพื่อก้าวข้ามความท้าทายใหญ่นี้ให้ได้

“พนักงานท้อเยอะเราต้องยิ่งคิดบวก ต้องกระตุ้นให้พนักงานแอกทีฟตลอดเวลา มีการอบรมเพิ่มเติม จัดกิจกรรมในร้านสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน คือเราต้องสู้เต็มที่ อีกส่วนหนึ่งคือการสร้างจุดยืนของแบรนด์ ซึ่งถือเป็นความโชคดีของเราที่เทรนด์รองเท้าสุขภาพมาแรง แบรนด์ของเราทุกยี่ห้อเน้นสวมใส่สบาย ขณะเดียวกันมีดีไซน์ทันสมัย แต่คู่แข่งที่เยอะมากคือการขายออนไลน์ ทำให้เราเพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ทั้ง Zalora และ Lazada ก็ได้การตอบรับที่ดี”

2 สาว 2 สไตล์

ถึงจะเป็นการรับตำแหน่งสำคัญขององค์กรในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ดูเหมือนว่าสองสาวไม่มีท่าทีย่อท้อต่อคลื่นลมที่ถาโถมเข้ามาแม้แต่น้อย ความมุ่งมั่นเข้มแข็งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบ่มเพาะเลี้ยงดูและสายเลือดนักสู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต่างเป็นนักเคลื่อนไหวเมื่อยุค 14 ตุลาฯ จึงไม่แปลกใจที่ทายาททั้งสองจะเป็นนักกิจกรรมตัวยง ฝึกการเป็นนักแก้ปัญหามาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา โดยเมื่อครั้งที่คิมศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยมิชิแกน เธอเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง World Service Team ชมรมค่ายอาสาช่วยเหลือประเทศโลกที่สาม, สมาชิกฝ่ายระดมทุนและจัดกิจกรรมชมรม shei นิตยสาร Asian pop culture ตลอดจนเป็นอาสาสมัครช่วยผู้หญิงถูกทำร้าย ขณะที่เจนเมื่อครั้งศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเดียวกับพี่สาว นอกจากอยู่ชมรม World Service Team ด้วยกันแล้ว ยังเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยของมหา’ลัยมิชิแกนด้วย

“ความจริงทางบ้านไม่ได้ผลักดันว่าเราต้องทำอะไร แต่ตอนมัธยมปลายเราค้นพบว่าพ่อแม่เป็นนักกิจกรรม สิ่งที่พวกเขาทำจึงเป็นแรงบันดาลใจให้รู้สึกว่าเราไม่ควรเป็นแค่พลเมืองที่อยู่ไปวันๆ แต่ควรเป็นคนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมด้วย โชคดีได้เพื่อนดี เป็นผู้นำทางความคิด เป็นนักเคลื่อนไหว ชักชวนกันทำชมรมด้วยกัน” คิมย้อนถึงช่วงชีวิตสมัยเรียน

แต่ถึงทั้งสองสาวจะเติบโตและเลี้ยงดูมาด้วยกัน แต่ใช่ว่าคาแรกเตอร์จะเหมือนกัน ตรงนี้คงไม่มีใครเล่าได้ดีไปกว่าคุณแม่สุวดี

“สองคนนี้ต่างกันตั้งแต่เกิดเลย คิมเป็นคนเป๊ะๆ มีลักษณะเป็นผู้คุ้มครองกฎในบ้านแต่เด็ก คิมจะคอยบอกน้องว่าต้องทำอะไร อย่างไร ก็โชคดีว่าเจนเชื่อฟังพี่สาว ขณะเดียวกันคิมจะเป็นคนอ่อนไหว ต่างจากเจนที่มีความมั่นคงทางจิตใจ เป็นคนที่เล่นด้วยตัวของเขาเองตั้งแต่เด็กๆ ฉะนั้นเมื่อพี่สาวเกิดปัญหาหรือรู้สึกอ่อนไหวทางอารมณ์จะเข้าหาน้องสาว สิ่งที่เหมือนของสองคนนี้คือทั้งสองรักและผูกพันกันมาก มีอะไรจะปรึกษาหารือกันตลอด”

“ความที่คนน้องเชื่อฟังและเคารพพี่สาวมาก มีครั้งหนึ่งตอนเดินในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานเข้ามาเสนอบริการเพื่อให้สมัครสมาชิกอย่างหนึ่งกับเจน นาทีที่เจนกำลังควักเงินจ่ายสมาชิก เขาก็นึกถึงหน้าพี่สาวลอยมา เลยตัดสินใจปฏิเสธดีกว่า คือเขาไม่ได้นึกถึงแม่ แต่นึกถึงพี่สาว แสดงว่าเขาเชื่อฟังและเคารพพี่สาวมาก (หัวเราะ)” คุณแม่เล่าความผูกพันของลูกทั้งสองอย่างติดตลก

ความสุขหลังมื้ออาหาร

แม้ทุกคนในครอบครัวจงสถิตย์วัฒนาจะจริงจังกับการทำงาน แต่ใช่ว่าจะไม่มีช่วงพักผ่อน โดยความสุขเรียบง่ายที่มักเห็นปฏิบัติกันอยู่เสมอ คือการนั่งล้อมวงกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา ตกกลางคืนมีความสุขกับการอ่านหนังสือเล่มโปรด หากเป็นช่วงหยุดยาวจะจัดตารางไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะพัทยา หัวหิน เขาใหญ่ ส่วนจะไปบ่อยกันแค่ไหน ยืนยันได้จากภาพถ่ายแห่งความทรงจำที่มีติดอยู่รอบบ้าน

“กิจกรรมร่วมกันที่ดีที่สุดคือกิน (หัวเราะ) พวกเราใช้ชีวิตร่วมกันค่อนข้างมาก ในห้องนอนเราจะไม่มีทีวี ดังนั้นพอกินข้าวเสร็จทุกคนจะมานั่งเรียงกันหน้าโทรทัศน์ในพื้นที่นั่งเล่น เป็นการนัดหมายตามความเคยชิน เดี๋ยวมีกินพายบลูเบอร์รี เดี๋ยวมีป๊อปคอร์น คือมันเป็นช่วงเวลาครอบครัว เวลากินข้าวคือเวลาคุยกัน มีหัวข้อต่างๆ มาแชร์กัน ลูกๆ ก็จะเล่า ทำให้สร้างนิสัยให้เขาพูด ซึ่งเราคิดว่าสำคัญมากสำหรับครอบครัว” คุณแม่สุวดีเล่าถึงบรรยากาศหลังมื้ออาหาร แต่อีกกิจกรรมโปรดของครอบครัวนี้ที่เชื่อว่าหลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือ การรวมตัวกันร้องคาราโอเกะ

“ยิ่งยุ่งยิ่งต้องรีแลกซ์ ฉะนั้นการดูหนังอ่านหนังสือ อ่านนิยาย หรือร้องเพลงเป็นอะไรที่ต้องทำ เพื่อนๆ จะแปลกใจว่าเราหาเวลาที่ไหนไปดูหนัง เราก็จัดเวลาสิ เราไม่ได้ต้องประชุมทุกคืนนี่ อีกอย่างเรา 4 คนชอบเล่นกีฬาบางทีก็ไปขี่จักรยาน เข้ายิม เวลาไปต่างประเทศเราทุกคนต้องเอารองเท้ากีฬาไปด้วย และทุกคนจะมีมุมอ่านหนังสือของตัวเอง”

ออกทริปชาร์จพลัง

นอกจากกิจกรรมและทริปครอบครัวที่ยกขบวนทำร่วมกันแล้ว สองสาวคิมและเจนยังมีทริปส่วนตัวที่ต้องจัดตารางชีวิตไปชาร์จแบตอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนใหญ่ไม่พ้นทริปแนวท่องธรรมชาติ ดูประวัติศาสตร์ ชมพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะการตระเวนดูละครเพลง ละครเวที ที่ดูอินเป็นพิเศษ เนื่องจากสมัยเรียนทั้งสองเคยเป็นนักแสดงละครเวทีและนักร้องคอรัสอยู่หลายรายการ แต่ในรสนิยมความเหมือนก็แอบมีความต่าง เพราะขณะที่คิมชอบแนวโลดโผนผจญภัย ประเภทโดดบันจี้จัมป์ ปีนเขา เจนกลับเป็นนักเดินทางสายชิลมากกว่า

คิม : บ้านเราชอบเที่ยวธรรมชาติ อย่างปีที่แล้วไปเที่ยวเนชั่นแนลปาร์กที่ฮอกไกโด แต่พอคิมทำงานแล้วจะมีประเพณีเสริมคือ ต้องจัดทริปไปเที่ยวกับเพื่อนสมัยมัธยมฯ ปีละครั้ง บางทีเจนก็ไปด้วยล่าสุดไปนิวซีแลนด์ด้วยกัน

เจน : ทริปนิวซีแลนด์ประทับใจธรรมชาติ เขารักษาสถานที่ได้ดีมาก บ้านเมืองสะอาดและคนเป็นกันเองอีกทริปที่ประทับใจมากคือตอนไปเนปาลเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นเราไปเที่ยว Annapurana base camp เป็นการเดินขึ้นเขาถึงจุด 4,130 เมตร จากระดับน้ำทะเล ใช้เวลาเดินขึ้น 2 วัน เดินลง 1 วัน ประทับใจทริปนี้เพราะไม่คิดว่าเราจะทำได้ ร่างกายไม่ฟิตเลย ระหว่างเดินคิดตลอดทางว่าทำไมเราถึงเลือกมาลำบากแบบนี้ เราจะรอดไหม? สงสัยต้องใช้ชีวิตอยู่บนเขานี้เพราะเหนื่อยจนจะเดินต่อไม่ไหว แต่พอเดินถึงจุดหมาย ได้เห็นวิวที่สวยงาม เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เรารู้สึกภาคภูมิใจมากว่าเราทำได้ เป็นการฝึกฝนความอดทนของเรา ไม่ให้ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวภายใต้บ้านจงสถิตย์วัฒนา ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจริงๆ :: Text by FLASH



กำลังโหลดความคิดเห็น