ART EYE VIEW---ผลงานศิลปะชื่อ “เด็กหญิง” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เด็กหญิงถูกทารุณกรรม ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง ถูกทอดทิ้ง และต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อน ผลงานของ สุรเดช วัฒนาประดิษฐชัย ศิลปินวัย 45 ปี ชาว จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดถูกตัดสินให้ได้รับ รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ในการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” จัดโดย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เด็กหญิงในภาพที่สามารถแสดงอารมณ์ และความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ตามแต่มุมมองและระยะห่างของผู้ชม สุรเดชสร้างขึ้นด้วยเทคนิคจิตรกรรมสื่อผสม มีการซ้อนทับภาพโดยนำผ้าระบายลูกไม้มาขั้นระหว่างภาพ เพื่อให้ภาพเด็กผู้หญิงในหลายๆ มุมมองซ้อนทับกันอยู่
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ หนึ่งในคณะการตัดสิน กล่าวชื่นชมผลงานชิ้นนี้ที่บรรดาคณะกรรมการจำนวนเกินครึ่งต่างเทใจตัดสินให้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ด้วยว่า
“เป็นผลงานในรูปแบบใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคนิคและวัสดุแปลกใหม่ คือนำผ้าลูกไม้มาช่วยในการสร้างเลเยอร์ สร้างพื้นผิวให้มีลักษณะแปลกใหม่ช่วยเสริมขั้นในการทำภาพซ้อนทับแต่ละชั้น ต่อยอดจากเทคนิคเดิม ที่เป็นงานจิตรกรรมแค่ 2 มิติ ซึ่งใช้แค่การวาดภาพบนกระดาษพื้นโปร่งแล้วนำแต่ละภาพมาทับซ้อน”
“เด็กหญิง” ผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ในการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 18 ซึ่งได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท รวมถึงผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลรองลงมาอีกหลายรางวัลและผลงานศิลปะที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดง จำนวนรวมทั้งสิ้น 47 ผลงาน จะถูกนำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจชมใน นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ระหว่างวันที่ 3-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานกรรมการการประกวด แสดงความเห็นเกี่ยวกับการประกวดครั้งนี้ว่า
“จากจุดเด่นของเงื่อนไขการประกวดที่พานาโซนิคเปิดกว้างให้ผู้เข้าประกวดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเสรี ทำให้การประกวดในปีนี้ ศิลปินหลายคนจึงเลือกใช้เทคนิคใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ผลงาน ดึงเอาองค์ประกอบศิลป์มาสร้างให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกและการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคทับซ้อนบนภาพวาดที่โปร่งใส และการใช้ศิลปะงานถักทอวัสดุต่างๆ มาผสมผสานบนงานจิตรกรรม เป็นการต่อยอดเทคนิคแบบดั้งเดิมไปสู่จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ทัศนธาตุอันแปลกใหม่ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแต่ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ได้เห็นว่าคลื่นลูกใหม่แห่งศิลปินไทยมีโอกาสพัฒนามากขึ้น ส่วนศิลปินที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้ก็อย่าเพิ่งท้อถอย หมั่นฝึกฝนสร้างสรรค์ผลงานต่อไป เวทีประกวดไม่ใช่จุดหมายปลายทางของศิลปินแต่เป็นเพียงบันไดเพื่อก้าวผ่าน หากแต่ผลงานศิลปะมีคุณค่ายืนยาวมากกว่ารางวัลใดๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews