xs
xsm
sm
md
lg

“เซเดอร์เร” สังเวียนชีวิตจริงของ “เคนจิ-นัยธาดา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคนจิ-นัยธาดา นันทน์วิธู กรรมการบริหาร บริษัท ทีมเฟิร์น (ไทยแลนด์) จำกัด
 
“พ่อทำได้ ผมก็ทำได้ ผมมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังไปได้” นัยธาดา นันทน์วิธู กรรมการบริหาร บริษัท ทีมเฟิร์น (ไทยแลนด์) จำกัด ย้อนคำสัญญาที่ให้ไว้กับ กาญจนา เกียรติสมุทรธารา ผู้เป็นแม่ ในวันที่อ่อนล้าเพราะมรสุมเศรษฐกิจพ่นพิษ ถึงขั้นเตรียมปิดกิจการเฟอร์นิเจอร์ ที่สามีทิ้งให้เป็นมรดกหลังเสียชีวิต และเพียง 4 ปี หลังตัดสินใจต่อยอดธุรกิจพ่อด้วยการตีตราแบรนด์ “ZEDERE (เซเดอร์เร)” ให้ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ของเขาก็โด่งดัง กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มีโชว์รูม ZEDERE Gallery มากถึง 826 สาขาทั่วโลก

 
เคนจิ-นัยธาดา เกิดและเติบโตมาในตระกูลธุรกิจฟอกหนังติดอันดับทอปไฟว์ของไทย เขาถูกส่งตัวไปต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มใช้ชีวิตวัยมัธยมในต่างแดน จนเรียนจบบริหารการตลาดจากอังกฤษ ก่อนกลับมาเมือง ไทย "โชคร้ายที่ผมไปอังกฤษได้เพียงไม่นาน คุณพ่อก็เสียชีวิต แม่เลยต้องเข้ามาดูแลธุรกิจเอง ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 12 แม่ส่งผมกับพี่ชายเรียนที่อังกฤษจนจบ พวกเราถึงได้กลับมาช่วยแม่” หนุ่มหน้าใสวัย 29 ปีกล่าว

 
ปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จาก Nottingham Trent University บวกกับการใช้ชีวิตต่างแดนนับ 10 ปี คือประสบการณ์ชั้นดีที่ เคนจิ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว เคนจิ บอกว่า รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากยอดขายทั้งในต่างประเทศ แต่การค้าขายก็ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป เพราะเมื่อเขากลับไทยได้ไม่นาน จีนประกาศเปิดประเทศ สินค้าราคาถูกของจีนถูกนำออกตีตลาด ทำให้ยอดส่งออกของบริษัทลดลงเรื่อยๆ แม้จะมีการปรับรูปแบบเน้นสินค้าพรีเมียม แต่ไม่สำเร็จ ลูกค้าไม่พอใจเพราะของราคาสูง ทำให้ยอดขายลดลงไปอีก

เมื่อพูดถึงตรงนี้ “เคนจิ” หยุดพูดนิดหนึ่ง ก่อนจะก้มหน้ามองพื้นและลอบถอนหายใจเบาๆ ก่อนจะเงยหน้ามายิ้มแล้วเล่าต่อว่า “รายได้จากพันล้านเหลือไม่ถึง 30 ล้านบาทต่อปี ต้องลดคนงาน ช่วงนั้นเราเครียดกันมาก แม่จะให้ปิดโรงงาน แต่ผมกับพี่ชายไม่ยอม ตอนนั้นผมคิดถึงพ่อ มันเป็นของชิ้นเดียวที่พ่อตั้งใจมอบให้พวกเรา ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นบวกเชื่อว่าโรงงานยังไปต่อได้ เราก็เลยวางแผนรีโนเวทอีกครั้ง ตั้งชื่อแบรนด์สินค้าว่า ZEDERE เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า เชิญนั่ง และยังโชคดีที่ได้เจอ เกรย์แฮม แบร์โล เป็นเพื่อนเก่าคุณพ่อ ที่เห็นสินค้าดีไซน์เปลี่ยนไปตรงกับแนวทางเดียวกับแถบในประเทศยุโรป เขาก็เลยช่วยทำตลาดยุโรป”

 
4 ปีให้หลัง ชื่อของ ZEDERE ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดยุโรปมากขึ้น จากนั้นเคนจิก็หันมาเจาะตลาดเอเชีย ด้วยการนำสินค้าออกแสดงงานเฟอร์นิเจอร์ที่สิงคโปร์ ที่นี่เขาได้รู้จัก ลาร์ โซโค กูรูเฟอร์นิเจอร์เพื่อสุขภาพชาวนอร์เวย์ ที่แนะนำวิธีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกและเหมาะกับสรีระคนนั่งให้เขา “ผลิตออกมาคนชอบ ยอดซื้อหน้าร้านและยอดสั่งผลิตเยอะมากครับ อาจเป็นเพราะเจนเนอเรชันเริ่มเปลี่ยน คนสูงอายุมีเพิ่มกระแสคนรักสุขภาพมีเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ทำให้ยอดขายเราเพิ่มขึ้นด้วย”

 
ลมหายใจเข้าออกที่ดูเหมือนจะมีแต่เรื่องงาน ทำให้เราต้องถามถึงชีวิตในวันว่าง 

หนุ่มเคนจิ ฉีกยิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนจะตอบชัดเจนว่า ตัวเขาก็เหมือนคนหนุ่มทั่วไปที่ชอบออกกำลังกายและท่องเที่ยว ยามว่างเขาชอบที่จะไปต่อยมวยเพื่อออกกำลังกายเพราะยามที่ได้อยู่บนสังเวียนมวย ได้ออกหมัดกับคู่ชก ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมาก

เคนจิ บอกว่า เริ่มต่อยมวยมาได้ 5-6 ปีแล้ว โดยได้รู้จักกับ "มาสเตอร์ทอดดี้" (ทศพร สิทธิวัจน์) ครูมวยชื่อดังอดีตเจ้าของค่ายมวยไทยที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายกลับมาเปิดค่ายมวยในเมืองไทย จึงตัดสินใจไปสมัครเรียน ซึ่งพอได้ลองต่อยก็ติดใจจึงลงเรียนเรื่อยมา

“ไม่ใช่ว่าผมชอบใช้กำลังนะครับ (หัวเราะ) แต่ยอมรับว่า 5-6 ปีก่อน ช่วงที่งานยังไม่เข้าที่เข้าทางก็มีปัญหาทำให้เครียดบ้าง พอได้มาต่อยมวย ได้ออกหมัดไปแล้วเรารู้สึกผ่อนคลาย เหมือนได้ปลดปล่อยความเครียดออกไป ยิ่งชกเรายิ่งสนุก ผมจะรู้สึกเหมือนมีพลัง ใน 1 สัปดาห์ผมจะต้องเข้ายิม 3-4 ครั้งครับ”

 
เคนจิ ยังพูดถึงอุบัติเหตุจากการชกมวยของเขาว่า มีฟกช้ำบ้าง แต่ไม่ถึงกับคิ้วคางแตก “เป็นแค่รอยช้ำตรงเบ้าตา ตอนนั้นไม่กล้าบอกคุณแม่ ได้แต่หลบๆ หน้าท่าน นอกนั้นก็เป็นแค่นิ้วซ้น มือบวมแต่ก็ไม่ได้เจ็บมากมาย ทานยา ทายา 2-3 วันก็หาย” เคนจิกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มใสๆ บนใบหน้าขาวๆ

เรื่อง วรกัญญา สมพลวัฒนา
ภาพ พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร และ พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น