xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาแผนที่ชีวิตสุดสมบูรณ์แบบของ ปูรณ์ มโนมัยพิบูลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ถ้าเปรียบการเฝ้าฟูมฟักดูแลให้การอบรมสั่งสอนและเลี้ยงเด็กสักคน ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม เป็นเหมือนดั่งการปั้นงานประติมากรรมสักชิ้น เราสามารถยกให้ผลงานของ “ปรารถนา มงคลกุล” และ “ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์” ที่ช่วยกันขัดเกลาลูกชายคนเดียวอย่าง “ปูนปั้น-ปูรณ์ มโนมัยพิบูลย์” ให้เป็นสุภาพบุรุษผู้สมบูรณ์พร้อมในวัย 25 ปี เป็นผลงานชิ้นโบแดงของทั้งเขาและเธอก็ว่าได้

“คุณพ่อเคยทำธุรกิจเกี่ยวกับปูน เลยตั้งชื่อให้ผมว่าปูน แต่คุณแม่คงเห็นว่าน่าเบื่อเกินไป เลยตั้งชื่อเล่นให้ว่าปูนปั้นครับ” เรามีนัดพูดคุยกับปูรณ์ในช่วงค่ำของวันธรรมดาหลังเลิกงาน เขาจึงยังคงสวมชุดสูทภูมิฐาน กึ่งๆ จะเป็นเครื่องแบบประจำตำแหน่งของ Consultant-Health & Public Service แห่งบริษัท Accenture Consulting เพื่อเป็นการเริ่มต้นทำความรู้จักกันแบบสบายๆ คำถามถึงที่มาของชื่อที่สั้นกระชับและแปลกหูจึงน่าจะเป็นการออกสตาร์ทที่ดี “ส่วนชื่อจริงของผมก็อ่านออกเสียงว่าปูน เป็นคำที่มีรากมาจากภาษาอินเดียคือคำว่า บูรณะ มีความหมายว่าเกิดมาครบถ้วน ซึ่งคุณตาเป็นคนตั้งให้” เขาขยายความเพิ่มเติมเรื่องชื่อตัวเพื่อให้เราสิ้นสงสัย

ปัจจุบันหน้าที่การงานของปูรณ์คือ การเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพแก่โรงพยาบาล และหน่วยงานของภาครัฐเป็นหลัก เขาคลุกคลีอยู่กับงานแขนงนี้มานานเกือบ 2 ปี และเป็นงานแรกในชีวิตหลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขา Electrical & Electronic Engineering with Management จาก Imperial College London ประเทศอังกฤษ นำมาสู่อีกเรื่องต้องสงสัย ที่ว่าเหตุใดบัณฑิตวิศวกรรมไฟฟ้าจึงเบนเข็มมาเป็นที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข

“เหตุผลที่ผมเลือกเรียนวิศวกรรม เพราะผมชอบวิชาเลขกับฟิสิกส์มาก ซึ่งตอนแรกผมเองก็ยังไม่รู้จะเรียนวิศวะแขนงไหนดี คุณแม่เลยแนะว่างั้นไฟฟ้าแล้วกัน เพราะเป็นแขนงที่เรียนยากที่สุดในมหาวิทยาลัยของผม เราเรียนเรื่องยากๆ ก่อน ถ้าไม่ชอบค่อยเปลี่ยนจะได้เรียนอะไรที่ง่ายลง ซึ่งหลักสูตรที่ผมเรียนก็ไม่ใช่วิศวะไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีเรียนทางด้านบริหารจัดการ บัญชี และหลักการเกี่ยวกับธุรกิจอีกครึ่งหนึ่ง เพราะผมคิดว่าถ้าเลือกเรียนวิศวะไฟฟ้าอย่างเดียว น่าจะยากในการกลับมาทำงานที่เมืองไทย เพราะเราอาจจะสู้คนที่เรียนทางด้านเทคนิคโดยตรงไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้เกี่ยวกับด้านบริหาร ก็สามารถบริหารคน และต่อยอดต่อไปได้”

ปูรณ์ยอมรับว่าเขาเองก็ไม่ต่างจากเด็กในเจเนอเรชันเดียวกัน ที่ใฝ่ฝันจะบริหารธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ถ้าจะเร่งรัดเป็นเจ้าคนนายคนโดยไม่เคยรู้รสชาติของการเป็นลูกจ้างมาก่อน เขาถือว่านั่นเป็นการเดินบนเส้นทางลัดที่ผิดวิธี

“มีสองสามเหตุผลที่ผมยังไม่อยากเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง หนึ่ง เพราะผมอยากดัดสันดานหรือฝึกนิสัยของตัวเองก่อน เพราะถ้าเป็นนายตัวเอง แต่เราไม่มี Discipline ก็อาจจะเถลไถลเลยเถิดไปไกล เพราะไม่มีใครคอยมาบังคับเรา แต่ถ้าเราทำงานประจำก่อนก็จะได้ฝึกวินัยให้มากขึ้น การที่เราจะไปเป็นบอสคนอื่น เราก็ต้องมาเป็นพนักงานเสียก่อน จะได้รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร

“สาเหตุที่สองที่สามน่าจะเป็นสาเหตุที่ผมเลือกมาทำงานที่ปรึกษามากกว่า ที่ผมเลือกงานนี้เพราะจะได้ใช้ logic ในการแก้ปัญหา เนื่องจากลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์เขาให้ได้มากที่สุด คุณพ่อกับคุณแม่สอนผมมาตลอดว่าถ้าจะทำงานอะไรต้องคิดก่อนว่าในอนาคตเราอยากเป็นอะไร และงานที่เราทำสามารถช่วยให้เราไปถึงจุดนั้นได้รึเปล่า ถ้าตอบไม่ได้ อย่าทำ

ซึ่งจุดหมายของผมคือ อยากเป็นนายตัวเอง มีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงคิดว่าการเป็นที่ปรึกษาค่อนข้างเหมาะ หนึ่ง เราได้เห็นว่าลูกค้าแต่ละรายซึ่งอยู่ในคนละอุตสาหกรรมมีความสนใจหรือต้องการอะไร สอง พอเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้ว เราก็ต้องรู้ด้วยว่าควรใช้วิธีพูดกับใครในแบบไหน พอเริ่มทำไปสักพัก ผมก็จะเริ่มเห็นว่าลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องมีวิธีที่จะบริหารจัดการลูกค้าแตกต่างกันออกไป ซึ่งผมคิดว่าการสื่อสารสำคัญมาก เพราะในอนาคตต่อให้ผมมีไอเดียที่บรรเจิดที่สุด แต่ถ้าผมไม่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ก็ไม่มีความหมาย ผมจึงคิดว่าถ้าเราทำงานด้านที่ปรึกษาก็จะได้ฝึกฝนทักษะเหล่านี้ไปด้วย”

การมองไกลไปข้างหน้าและวางแผนชีวิตอย่างเป็นลำดับขั้นตอน คือพื้นฐานสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่หมั่นอบรมและปลูกฝังลูกชายคนนี้เสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเริ่มต้นจริงจังกับชีวิตในวัยเพิ่งก้าวเข้าสู่เบญจเพส

“ผมอาจจะไม่ได้มองระยะยาวมาก แต่มองเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในแต่ละช่วงอายุมากกว่า อย่างช่วง 25-30 ปี ผมยอมเปลี่ยนงานเพื่อใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ คุณแม่เองก็บอกว่าเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ต่อให้เปลี่ยนงานแล้วได้เงินเดือนน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นอะไรที่เราไม่เคยทำมาก่อนก็ให้ลองทำ จะได้รู้ว่าเราชอบอะไรจริงๆ จากนั้นพออายุ 30 เป็นต้นไป เราอาจจะไม่มีสิทธิ์ได้เปลี่ยนงานแล้ว เพราะต้องเติบโตไปในสายวิชาชีพที่เราเลือกเดิน”

ไม่เพียงคำสอน แต่เพราะปูรณ์เห็นมาโดยตลอดว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ของเขาเองก็ไต่เต้ามาจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่ค่อยๆ พัฒนาทักษะและฝีมือของตนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในแขนงวิชาชีพจนสำเร็จในที่สุด นั่นทำให้ชายหนุ่มคนนี้มีคุณพ่อและคุณแม่เป็นต้นแบบ ที่ไม่เพียงทำให้เขาอยากเป็นคนดีและคนเก่ง แต่ต้องเก่งและดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

“ผมไม่ได้อยากประสบความสำเร็จในชีวิตแค่เท่าคุณพ่อคุณแม่ แต่อยากทำได้ดีกว่าเขา ผมรู้สึกว่าถ้าเราอยู่ไปวันๆ รอรับมรดกอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ก็จะไม่รู้สึกว่าเรา Acheive อะไรเลย ผมจึงคิดมาตลอดว่ายิ่งเรามีโอกาสมากกว่า อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน อยากเริ่มอะไรก็เริ่มได้ทันที ดังนั้น เราต้องทำให้ได้ดีกว่าท่าน” ชายหนุ่มไม่ได้ต้องการจะวัดรอยเท้าผู้มีพระคุณ หากเป็นความมุ่งมั่นใฝ่ดีในการต่อยอดความน่าภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลต่างหาก ที่เขาตั้งใจ

นอกเหนือไปจากการเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องด้วยความมุ่งมั่น เพื่อได้มาซึ่งความสำเร็จในชีวิตของตัวเองแล้ว การแบ่งปันน้ำใจแก่ผู้อื่นเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่เป็นทั้งแบบอย่างและพร่ำสอนเขาเช่นเคย

“คุณแม่ปลูกฝังเรื่องการช่วยเหลือคนอื่นมาตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมเห็นเสมอว่าเวลาคุณแม่ให้เงินขอทานหรือคนขับรถ จะให้ทีละเยอะๆ เป็นหลักหลายร้อยบาท ไม่ใช่แค่สิบยี่สิบ ผมก็สงสัยว่าทำไมต้องให้เงินเขาทีละเยอะๆ คุณแม่ก็ตอบว่าเงินห้าร้อยบาทอาจจะไม่ได้มากสำหรับแม่ แต่มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตคนคนนั้นได้เลย และถ้าจะช่วยใคร อย่าสองจิตสองใจ อย่าตั้งแง่ว่าเขาจะเอาเงินนั้นไปทำอะไร แค่เราได้ช่วยเขาโดยไม่ทำให้เราลำบากก็พอแล้ว” ซึ่งนี่เป็นที่มาของการตั้งมูลนิธิ ดร.กำจัด-ปราณี มงคลกุล ขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา โดยปูรณ์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการและมีโอกาสได้ช่วยงานคุณแม่อย่างต่อเนื่อง

“คุณแม่นำชื่อของคุณตาคุณยายมาตั้งเป็นชื่อมูลนิธิแห่งนี้ โดยเน้นให้ทุนการศึกษากับเด็กๆ เพราะคุณตาเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ในฐานะกรรมการ ผมจึงต้องช่วยกระจายข่าวออกไปว่าเรามีทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆ ที่ยากไร้แต่อยากเรียนหนังสือ ซึ่งก็มีการลงพื้นที่ไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อไปดูที่บ้านของเด็กๆ เลยว่าเด็กคนนั้นมีฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร และมีความใฝ่เรียนหรือเปล่า แล้วเราก็จะช่วยสมทบเป็นกรณีไป

ผมเองก็เคยลงพื้นที่ไปเยี่ยมน้องๆ ที่เราให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ทำให้ได้เห็นว่าชีวิตเขาลำบากขนาดไหน และตัวเราเองโชคดีแค่ไหน คุณแม่สอนมาตลอดว่าทุกคนสามารถช่วยเหลือกันและกันได้ อยู่ที่ช่วยมากช่วยน้อย ตัวผมเองใช้วิธีกันเงินเดือนส่วนหนึ่งมาเป็นเงินสมทบทุน อย่างตอนนี้เราสนับสนุนเด็กเดือนละ 500 บาท ดังนั้น ถ้าเรากันไว้เดือนละ 500 บาท ทุกเดือน ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กคนนึงให้เขาสามารถไปเรียนได้ และมีอนาคตที่ดีต่อไปได้”

นอกเหนือไปจากงานประจำที่เขากำลังสนุก และการช่วยงานสังคมของมูลนิธิฯ ปูรณ์ทุ่มเวลาว่างทั้งหมดที่มีไปกับการอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาให้ความสำคัญมาตลอดตั้งแต่เรียนไฮสกูลที่ Shrewsbury School ที่ประเทศอังกฤษ ต่อเนื่องจนจบปริญญาโท โดยทุกครั้งที่มีวันหยุดยาว ปูรณ์จะต้องกลับมาเมืองไทยหรือไม่ก็สลับกับการที่คุณพ่อคุณแม่บินไปหา ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ออกไปท่องเที่ยวสำรวจเกาะอังกฤษหรือทัวร์ให้ทั่วยุโรปเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ จะมีก็แต่ปีสุดท้ายที่ปูรณ์รู้ว่าหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทย จึงขออนุญาตไม่กลับบ้านในปีนั้น และมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ บ้าง

กระทั่งปัจจุบัน ในจำนวนวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์อันน้อยนิด ปูรณ์ก็ยังหาโอกาสพาคุณแม่บินไปเที่ยวในประเทศใกล้ๆ แม้จะต้องรีบออกเดินทางกลางดึกของคืนวันศุกร์ และกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ เพื่อที่จะรีบอาบน้ำออกไปทำงาน เขาก็รู้สึกว่านี่คือความสุขที่เขายินดีปฏิบัติ

“ธรรมชาติของงานด้านที่ปรึกษาทำให้ผมมีเวลาว่างไม่ค่อยเยอะ บางทีต้องทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เพราะอาจจะมีเดดไลน์จากลูกค้า หน้าที่ของผมคือ ให้เวลากับแต่ละเคสมากๆ ยิ่งเราทุ่มเทก็ยิ่งจะมีแต่ดีขึ้นและดีขึ้น ผมว่ามันไม่มีคำว่าดีที่สุดนะครับ ยังไงมันก็ดีได้มากกว่านั้นอยู่แล้ว พอเป็นแบบนี้ทำให้ทันทีที่มีเวลาว่าง ผมจะอยากใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่มากกว่า มีบ้างเหมือนกันช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ตื่นเต้นไปกับสังคมใหม่เลยติดเพื่อนติดที่ทำงาน จนวันหนึ่งคุณแม่พูดแทงใจดำว่าเพื่อนยังอยู่กับเราไปอีกนาน แต่วันหนึ่งถ้าแม่แก่ตัวหรือเป็นอะไรขึ้นมาจะเสียใจภายหลัง ถ้าเราไม่ได้ใช้เวลาด้วยกัน หลังจากนั้นผมจึงเริ่มบริหารเวลามากขึ้น เพื่อจะได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ให้ได้มากที่สุด” จนกว่าจะถึงวันที่เดินบนเส้นทางใฝ่ฝัน วินาทีนี้ของปูรณ์คือทำวันนี้ให้ดีที่สุดอย่างแท้จริง

My Favorite Sport : ผมชอบเล่นแบดมินตันมาก เคยเป็นกัปตันทีมสมัยเรียนไฮสกูลและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังชอบกีฬาที่ใช้ไม้เกือบทุกประเภท เช่น สควอช กอล์ฟ ฯลฯ

My Routine : ตื่นประมาณ 7 โมงเช้า เข้านอนประมาณตี 1-2 และใช้เวลาช่วง 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืนในการวิ่งบนลู่พลางเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามข้อตกลงที่ให้กับตัวเองว่าจะแตะต้องโลกโซเชียลในขณะออกกำลังกายเท่านั้น

My Activities with Mom& Dad : ปูรณ์ชอบทำบาร์บีคิวกินกับคุณพ่อตามประสาหนุ่มนักชิมด้วยกันทั้งคู่ ขณะที่คุณแม่เป็นสาวเฮลตี้ผู้ดูแลสุขภาพ ควบคุมอาหาร และหมั่นออกกำลังกายทุกวัน ไม่แปลกถ้าเราจะได้เห็นปูรณ์เดินถือถุงชอปปิ้งเป็นเพื่อนคุณแม่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น