เพราะอาหารเป็นเสมือนคัมภีร์เล่มใหญ่ที่ทำให้ได้เรียนรู้โลกกว้าง โดยเฉพาะ วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ และด้วยนิสัยที่อยากรู้อะไรต้องรู้ลึก รู้จริง จึงไม่แปลกที่ทายาทมหาเศรษฐีอย่าง “ปั๊บ-ชวยศ รัตตกุล” บุตรชายคนเดียวของ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล และ เยาวณี นิรันดร จะมีความสุขกับการใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่าเลข 8 หลัก ออกท่องโลก ตระเวนกินอาหารชั้นดีเพื่อเรียนรู้เรื่องราวความตั้งใจ เนรมิตอาหารชั้นเลิศของเชฟแต่ละคนที่ได้พบ
ปั๊บ-ชวยศ รัตตกุล หนุ่มหล่อบุคลิกภูมิฐานท่วงท่ามั่นใจในตัวเอง บอกว่า อาจเป็นเพราะอยู่ใกล้ชิดกับคุณยายที่จบสถาบันสอนทำอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ จึงทำให้เขาคลุกคลีกับการทำอาหารและมีความรู้เรื่องอาหาร รวมทั้งชอบกินมาตั้งแต่เด็ก ปั๊บยอมรับว่าเมื่อก่อนกินอาหารโดยไม่รู้ว่า “อร่อย” คืออะไร แต่เมื่อเติบโตความคิดก็เริ่มเปลี่ยน จากที่ชอบกินอย่างเดียว ก็หันมาเริ่มศึกษาเรื่องราวของอาหารอย่างจริงจัง ทำให้รู้ว่าอาหารแต่ละชนิดมีเรื่องราวและวัฒนธรรมแฝงอยู่ จนกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหา
“การเรียนรู้วัฒนธรรม-ประเพณีของแต่ละประเทศผ่านอาหาร สำหรับผมจะเข้าใจได้เร็วมาก อย่างเวลากินอาหารเยอรมัน เราจะรู้ได้เลยว่าคนเยอรมันเป็นคนละเอียดและเป๊ะมาก ไม่ต่างกับฟุตบอลเยอรมันไม่มีใครเป็นฮีโร่ แต่มาพอรวมกันแล้วมันดีมาก ญี่ปุ่น ทุกอย่างเป็นศิลปะไปหมด อะไรที่ดีอยู่แล้วเขาสามารถที่ทำได้ดีกว่าเดิมได้อีก อาหารก็เหมือนกัน ตรงนี้ทำให้ผมสนใจและเริ่มทานอาหารอย่างจริงจังมากขึ้น”
ดังนั้น นิยามคำว่าอร่อยของปั๊บ จึงเริ่มขยายกว้างมากกว่ารสชาติที่ได้ลิ้มลองบนโต๊ะอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้สัมผัส “ถ้าเรากินเพื่อความเข้าใจ มันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างนะครับ อย่างผมชอบดื่มไวน์ ผมจะต้องรู้ว่าไวน์แต่ละตัวเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าแค่ของแพงแล้วอร่อย ผมจะไปถึงวินยาจที่ปลูกองุ่นเลย ต้องไปเจอเจ้าของ ไปดูกระบวนการผลิตไวน์ อย่างอาหารที่ผมกิน ผมต้องรู้ว่าเป็นฝีมือเชฟคนไหน ผมต้องดูที่มาและความคิดของเชฟคนนั้นว่า เขาคิดอย่างไรถึงออกอาหารมาแบบนี้”
นอกเหนือจากงานประจำที่ยุ่งตลอดเวลาแล้ว ทุกปีหนุ่มปั๊บจะตระเวนกินอาหารทั่วโลก อย่างจริงจัง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การกินด้วยเงินจำนวนกว่า 8 หลักขึ้นไป “ผมขอไม่บอกตัวเลขชัดเจนนะครับ กลัวคนหมั่นไส้ แต่หน้าที่ของผมคือ “กิน” ผมอยากรู้ อยากศึกษา ผมอยากแชร์ประการณ์ความรู้เหล่านี้ให้คนได้รู้นะครับ ผมหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้แชร์ประสบการณ์และความรู้นี้ ให้คนที่มีความคิดแบบผมได้รู้และเข้าใจ” (ใครสนใจสามารถตามผลงานการกินของเขาได้ที่ IG : Puppup_foodguru)
ถึงวันนี้การกินดูจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายในชีวิตของปั๊บไปเสียแล้ว เพราะเหลังจากตระเวนกินตามร้านอาหารไปทั่วโลก ถึงวันนี้เขาเริ่มจะสนุกกับการมองหาร้านอาหารที่จองยากๆ หรือร้านอาหารที่ต้องเดินทางยุ่งยากกว่าจะได้กินอาหารสักมื้อ นั่นถือเป็นชัยชนะที่สร้างความสุขให้กับฟู้ดดี้หนุ่มคนนี้
ไปกินมาแล้วทั่วโลก เราจึงอยากรู้ว่าร้านอาหารที่ประทับใจเขามีอะไรบ้าง ให้เลือกมา 3 ร้าน เขาใช้เวลาคิดสักพักหนึ่งก่อนจะตอบว่า ร้านแรกคือ ร้านนอมา โคเปนเฮเกน ได้รับรางวัล World's50 Best Restaurant ถึง 3 ปี ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในภัตตาคารที่จองยากที่สุด
ร้าน El Celler de Can Roca' (เอล เซลเลอร์ เดอ กัน โรกา) เป็นร้านอาหารของ 2 พี่น้อง Joan และ Jordi Roca ซึ่งเป็นเชฟมือ 1 ขณะนี้ โดย Joan Roca เสิร์ฟอาหารสไตล์ Molecular Cruisine โดยการเลือกวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของคาเทโลเนียมาปรุง ส่วนร้านที่ 3 คือ ร้าน Faviken (แฟวิเกน) ที่สวีเดน ร้านนี้เน้นอาหารจับคู่ไวน์ค่อนข้างแพง แต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะ
เมื่อให้แยกแยะความชอบกับความอร่อยของเขาให้ฟัง หนุ่มปั๊บหยุดราวกับเรียบเรียงคำพูด ก่อนจะตอบชัดเจนว่าไม่มีคำตอบ เพราะอาหารแต่ละประเภทมีความไม่แน่นอน และความอร่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน “หลายคนบอกกินเชฟมิชลินมาแล้ว กินร้านนี้แล้วจองเป็นปีมันยากมาก คุยอวดศักยภาพแล้วอย่างไรล่ะ คุณกินเยอะแต่ไม่รู้ที่มาที่ไป ผมว่ามันก็แค่คนรวยที่ไร้รสนิยม เปรียบเทียบกับการดื่มไวน์ ผมเปิดไวน์ขวดละล้าน หรือขวดละห้าแสน เพื่อนหลายคนทักว่าแพง แต่สำหรับผมไม่เสียดายเพราะผมกินแล้วผมสัมผัสมันได้ถึงกลิ่นดิน เข้าใจการโปรดิวเซอร์ของแต่ละรุ่นมันแตกกันอย่างไร ขณะที่บางคนแค่แพงก็บอกอร่อยแล้ว ดังนั้น การกินไวน์ของผม ปัจจัยสำคัญคือเวลาที่ผมได้ศึกษา ไม่ใช่เงิน”
ยามเมื่อแดดร่มลมตกก่อนอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า แม้จะเหลือเวลาในการพูดคุยไม่มากนัก หนุ่มปั๊บพูดถึงเทรนด์การรับประทานอาหารของคนไทยว่า เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ “ผมเสียใจนะที่เดี๋ยวนี้คนนิยมกินอาหารตามเทรนด์ ตามแฟชั่น ไม่ได้กินเพราะความอร่อยผมมองว่า 99% ไม่รู้เรื่องอาหาร ทำให้ทิศทางอาหารเป็นไปในทางที่ผิด ร้านอาหารที่ทำออกมาขายผู้ใหญ่มีเพียงไม่กี่ร้าน เพราะขายไม่ได้ แต่ถ้าทำออกมาขายเด็กมักจะขายได้ทั้งนั้น” ปั้บสะท้อนความคิดเห็นแนวทางการกินอาหารของคนรุ่นใหม่ให้ฟัง
และก่อนที่หนุ่มปั๊บจะร่ำลาไปจริงๆ เขาบอกทิ้งท้ายอีกว่า รสนิยมการกินแบบผิดๆ เหล่านี้ ทำให้เขาอยากเปิดสถาบันเพื่อสอนเทคนิคการกินอาหาร “เพราะผมสงสารเชฟที่เขาทำอาหารด้วยความตั้งใจ แต่กลายเป็นว่าคนไทยมากิน เพราะหวังว่าจะกลับไปคุยว่ากินมาแล้ว หรือมาเพื่อเซลฟี่ถ่ายรูปลงโซเซียลเท่านั้น ที่ผ่านมาผมเคยเปิดคอร์ส “กินซูซิอย่างไรไม่ให้โง่” แต่ไม่ค่อยมีคนมาฟัง (หัวเราะ) เพราะเขาหาว่าผมตั้งหัวข้อแรง แต่มันเป็นสิ่งที่ผมถ่ายทอดจริงๆ ครับ เพราะยังมีอีกมากที่ไม่รู้เลย แซลมอน, ทูน่า หน้าตาเป็นอย่างไรมีกี่สายพันธุ์ ทูน่าที่ไหนเป็นทูน่าที่ดีที่สุด แล้วทำไม ซูซิที่ญี่ปุ่นถึงไม่เสิร์ฟแซลมอนเวลาไปกินแบบโอมาซาเอะ”
เรื่อง เดียว
ภาพ โอ