xs
xsm
sm
md
lg

เก้ง กวาง บ่าง ชะนี...โล่ง attitude (ไทย) ยังเกาะแผงแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวานเพียงวันเดียว มีข่าวการปิดนิตยสารในเมืองไทยถึง 2 ฉบับ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของเมืองไทย นั่นคือ คอสโมโพลิแทน ของค่าย ปีย์ มาลากุล นิตยสารอิมเมจ ของค่าย ทรีแดนซ์ โฮลดิ้ง และคาดว่าจะมีนิตยสารผู้หญิงอีก1 เล่มที่กำลังจะถูกปิดในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งช็อกวงการสิ่งพิมพ์และผู้อ่านเป็นอย่างมาก

ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็มีนิตยสารชื่อดังหลายเล่มทะยอยปิดตัวมาแล้วเช่นกัน อาทิ เปรียวปิดตำนาน 35 ปีไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ส่วนนิตยสารLips ก็ยังต้องปรับจากรายปักษ์กระโดดเข้ามาทำฟรีก็อปปี้ที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้

เช่นเดียวกับนิตยสารหัวนอกที่ก่อนหน้านี้แย่งกันเกิดขึ้นหลายหัว ตอนนี้บรรดาหัวขนาดเล็กก็ทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวต้องปิดตัวไปหลายเล่มเช่นกัน แต่ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ก็ยังมีนิตยสารหัวนอกอย่าง attitude (ไทย) ที่บอกกับทีมข่าว Celeb Online ว่า แม้ในวันนี้ยังสามารถต่อสู้อยู่บนแผงได้ แต่ก็ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อความอยู่รอด

โดย ต๊ะ-ธวัชชัย ดีพัฒนา บก.นิตยสาร attitude (ไทย) บอกว่า “เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของผู้อ่านจึงเปลี่ยนไปด้วย คนไทยหันไปอ่านนิตยสารทางออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น ทำให้สื่อโฆษณาหันไปลงโฆษณาทางออนไลน์ ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2 ปีแล้ว ที่ยอดโฆษณาในสิ่งพิมพ์ตกลงไป และเพราะสื่อโฆษณานั้นถือเป็นรายได้หลักของหนังสือส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีโฆษณารายได้ของหนังสือจึงลดลงตามไปด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ เล่มในขณะนี้ต้องปิดตัวลง”

ในส่วนของนิตยสาร attitude (ไทย) นั้น ต๊ะ-ธวัชชัย ออกมายืนยันว่ายังสามารถประคองตัวได้อยู่ เพราะเป็นนิตยสารหัวนอกที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน คือ เจาะกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเกย์ ดังนั้นตั้งแต่เปิดตัวมาได้ 5 ปี จึงทำให้มีแฟนคลับอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หนังสือสามารถอยู่ได้ด้วยยอดยอดขายอยู่ที่ 120,000เล่มต่อเดือน

นอกจากได้เปรียบในเรื่องของแบรน์คาเรกเตอร์แล้ว ข้อดีของนิตยสารหัวนอก นอกจากคอนเท้นท์จากเมืองนอกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลาย จึงทำให้สามารถเลือกคอนเท้นท์ที่เข้ากับคนไทยได้ นำมาแปลโดยไม่ต้องส่งทีมงานออกไปทำ นั่นหมายถึงการประหยัดต้นทุนในการผลิตคอนเท้นท์

สำหรับทางรอดที่ adtitude (ไทย) กำลังนำมาใช้ คือ เปิดให้ลูกค้าสามารถจองนิตยสารล่วงหน้าได้ เพื่อจะได้รู้จำนวนพิมพ์ที่แน่นอน วิธีนี้แทบจะไม่มีหนังสือเหลือคืนมาเพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินลงทุนที่ต้องสูญเสียไป

“ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับระบบสมาชิกมากขึ้น เพราะอย่างนิตยสารเกย์ของเมืองนอกบางหัวก็เริ่มใช้วิธีการพิมพ์ตามจำนวนคนสั่งซื้อแบบนี้บ้างแล้ว ซึ่งอันนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นในเมืองนอก แต่ในเมืองไทยนั้น ยังไม่รู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลแค่ไหน ก็ต้องคอยดูกันต่อไป”

วิกฤตครั้งนี้ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์จะรอดหรือไม่รอด ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป...

กำลังโหลดความคิดเห็น